สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย หรือ FCCT ถูกตั้งขึ้นอย่างไม่เป็นทางการมาตั้งแต่กลางยุค 1950 (พ.ศ.2493) โดยนายจอร์เจส ออร์กิเบต ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวเอพีที่มาประจำการที่กทม.ตั้งแต่ปี 2496 เพื่อเป็นสถานที่ให้ผู้สื่อข่าวต่างประเทศในประเทศไทยได้พบปะพูดคุยกันตลอดช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา
นอกจากนี้ FCCT จัดยังมีการจัดนิทรรศการภาพข่าว ฉายภาพยนตร์ จัดงานเสวนาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงเปิดให้คนนอกสามารถเช่าสถานที่จัดแถลงข่าวหรืองานเสวนาได้ด้วย แต่ด้วยบรรยากาศทางการเมืองที่ตึงเครียดของไทยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้ FCCT ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากทุกฝ่ายการเมือง
แต่หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ทาง FCCT เริ่มได้รับผลกระทบจากภาวะเสรีภาพการแสดงออกที่ถดถอย
ยกอย่างเหตุการณ์ที่ปะทุขึ้น เช่น วันที่ 27 พ.ค. 2557 นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการได้อ่านแถลงการณ์ประณามการรัฐประหารที่ FCCT จากนั้นทหารก็เข้าจับกุมนายจาตุรนต์ทันที ก่อนจะถูกนำตัวขึ้นศาลทหาร
นอกจากนี้ นายโดมินิก ฟาลเดอร์ อดีตประธาน FCCT ยังเคยออกแถลงการณ์ว่า FCCT ยังถูกกดดันให้ยกเลิกการจัดงานเสวนาและการแถลงข่าวอีกหลายครั้งในช่วงที่รัฐบาลทหารกุมอำนาจอยู่ทั้งหมด 6 ครั้ง ซึ่งมีทั้งงานที่ FCCT เป็นผู้จัดเอง และงานที่คนนอกจองใช้สถานที่ อาทิ เดือนมิ.ย. 2557 FCCT ถูกกดดันให้ยกเลิกงานเสวนาเกี่ยวกับการกดขี่กลุ่มชาติพันธุ์ในเวียดนาม เดือนพ.ค. 2560 ตำรวจสน.ลุมพินีขอให้ยกเลิกงานเสวนาเกี่ยวกับหมุดคณะราษฎร โดยอ้างว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง
เดือนก.ค. 2561 FCCT ถูกขอให้ระงับฉายสารคดี "When Mother's Away" หลังจากสถานทูตเวียดนามร้องเรียนสน.ลุมพินี
เดือนก.ย. 2561 ตำรวจได้กดดันให้มีการยกเลิกงานเสวนาเรื่องกองทัพเมียนมาควรถูกดำเนินคดีข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาหรือไม่ โดยระบุว่า เสวนานี้อาจกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
กระทั่งล่าสุด แม้ประเทศไทยจะมีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งเมื่อต้นปีที่ผ่านมาแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีคำสั่งยกเลิกการแถลงข่าวงานกิจกรรม 'วิ่งไล่ลุง' ซึ่งนับเป็นการยกเลิกการจัดงานแถลงข่าวหรือเสวนาที่ FCCT ครั้งที่ 7 แล้วนับตั้งแต่ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของไทย
ในแถลงการณ์ล่าสุด FCCT ระบุว่า "ช่วง 5 ปีที่ผ่านมาภายใต้รัฐบาลทหาร FCCT ถูกบังคับให้ต้องยกเลิกงานหลายครั้ง ทั้งงานที่สมาคมจัดขึ้นเองและงานที่ลูกค้าจองใช้สถานที่ ซึ่งตำรวจอธิบายว่า การยกเลิกงานทั้งหมดนั้นเป็นไปตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ในกองทัพ ทั้งตำรวจและสมาคมไม่มีทางเลือกใดๆ
ไทยอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือนแล้วตั้งแต่เดือนพ.ค.ที่ผ่านมา "ซึ่งควรทำให้คำสั่งเหล่านั้นหรือแม้แต่ 'คำแนะนำ' ในการควบคุมเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นเรื่องของอดีต" แต่ตำรวจไม่ได้ชี้แจงเหตุผลอันสมควรทางกฎหมายในการขอให้ยกเลิกงานสัปดาห์นี้ แม้จะระบุอย่างชัดเจนว่า "ตำรวจปฏิบัติตามคำสั่งจากเบื้องบน"
ที่มา : FCCT, FCCHK, Bangkok Post, CPJ, iLaw, Khaosod English
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :