ไม่พบผลการค้นหา
'เพื่อไทย' เตือน 'ประยุทธ์' อย่าหวังใช้การประชุมเอเปค ฟอกขาวชื่อตัวเอง ย้ำรัฐบาลต้องมีกึ๋น ดำเนินนโยบายให้ถูก แต่ภาพลักษณ์เสียนานแล้วเพราะยึดอำนาจมา

วันที่ 13 ก.ย. 2565 ที่พรรคเพื่อไทย คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย นำโดย พิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ พร้อมด้วย จิราพร สินธุไพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด และกรรมการบริหารพรรค และ อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองเลขาธิการและกรรมการคณะยุทธศาสตร์และการเมือง ร่วมกันแถลงข่าว ในหัวข้อ 'มองไทย มองเทศ นานาประเทศมองไทยอย่างไร'


นานาประเทศห่วงไทย

พิชัย กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันในตลาดโลกเริ่มลดลง แต่ราคาน้ำมันในไทยยังคงเดิม หนี้กองทุนน้ำมันก็ยังพุ่งสูง ซ้ำเติมด้วยปัญหาน้ำท่วมที่อาจกระทบต่อ GDP พรรคเพื่อไทยเคยได้เสนอเรื่องของระบบบริหารจัดการน้ำ แต่ไม่เคยได้มีโอกาสผลักดันหลังมีการรัฐประหาร

"ผมเคยเรียกร้อง มีชัย ฤชุพันธุ์ ให้ออกมาอธิบายเจตนารมณ์ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แต่พอมีเอกสารความเห็นออกมา กลับตรงข้ามกับข้อมูลที่ผมเคยทราบ หวังให้เอาความจริงมาคุยกัน ไม่อยากให้มีผู้นำยึดติดอำนาจ สิ่งที่รัฐธรรมนูญไม่อยากให้เกิด ก็เกิดขึ้นแล้ว"

พิชัย ชี้ว่า ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 สื่อต่างประเทศหลายสำนักคาดการณ์ว่า การเมืองไทยจะย้อนหลังไป 30 ปี ประเทศไทยจะเปรียบเสมือนคนป่วยหนักของเอเชีย ซึ่งปัจจุบันเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นจริงๆ แล้ว ปัญหาอันดับ 1 มองว่า ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยลดลงเพราะการปฏิวัติ ตนไม่เห็นด้วย และหวังว่าจะไม่มีการปฏิวัติเกิดขึ้นอีกแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาในอีก 9 มิติ ประกอบด้วย ระบบยุติธรรมไทยในสายตาของต่างประเทศไม่น่าเชื่อถือ การเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำ และรายได้ส่วนเกินกระจุก การฟื้นตัวหลังโควิด-19 ต่ำมาก ระบบราชการไทยล้าสมัย โครงสร้างพื้นฐานไม่มีการปรับปรุงพัฒนาใหม่ อุตสาหกรรมตกยุค อีกทั้งอันดับของความโปร่งใสยังลดลงอย่างต่อเนื่องเพราะการทุจริตคอร์รัปชันเพิ่มมากขึ้น

รวมถึงปัญหาที่สำคัญที่สุดคือ ผู้นำขาดวิสัยทัศน์เป็นที่สังเกตได้ไม่ต้องเถียงกัน ตามไม่ทันว่าโลกไปถึงไหนแล้ว และยังมีภาพลักษณ์มาจากการสืบทอดอำนาจ ปัญหาเหล่านี้หากไม่เร่งแก้ประเทศไทยอาจไม่มีวันฟื้น ยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยเรารู้วิธีแก้และพร้อมจะเดินหน้าผลักดันต่อไป

จิราพร D-BA41-BF1DCFF7A92F.jpeg


รัฐบาลต้องมีกึ๋น

จิราพร กล่าวถึงการดำเนินนโยบายการค้าระหว่างประเทศของไทย โดยเน้นถึง ‘กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก’ (Indo-Pacific Economic Framework หรือ IPEF) ความตกลงระหว่างประเทศฉบับใหม่เพิ่งเปิดตัวเมื่อ พ.ค. ที่ผ่านมา โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นแกนนำจัดตั้งในสมัยของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ล่าสุด เมื่อ 8-9 ก.ย. ที่ผ่านมา มีการประชุมระดับรัฐมนตรีที่ลอสแอนเจลิส มีผู้แทนจากหลายประเทศ รวมทั้งกระทรวงการต่างประเทศของไทยเข้าร่วม ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า ดูเหมือนเป็นข้อตกลงที่เปิดกว้าง แต่ก็อาจมีข้อผูกพันตามมาภายหลัง

จิราพร กล่าวอีกว่า หากรัฐบาลไทยมีกึ๋นมากพอ จะเป็นโอกาสของไทยในการเจรจาต่อรองกับสหรัฐได้ โดยต้องจับมือกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียนเพื่อสร้างอำนาจต่อรองเพิ่มขึ้น โดยรัฐบาลต้องเปิดเผยข้อมูลผลการเจรจาอย่างโปร่งใส ตรงไปตรงมากับคนไทย บอกถึงข้อดี ข้อเสีย ผลกระทบต่างๆและแผนการเตรียมรองรับในอนาคต

ขอเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดพื้นที่ให้ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในกระบวนการเจรจามากที่สุด มิเช่นนั้นจะเหมือนกับที่รัฐบาลพยายามจะพาไทยเข้าร่วม ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก CPTPP ที่ผ่านมา ที่ไม่สามารถอธิบายข้อมูลให้กับคนไทยได้อย่างชัดเจน 

"สหรัฐฯ คาดว่าจะเจรจากรอบ IPEF แล้วเสร็จภายใน 12-18 เดือน หากยังเป็นการเจรจาภายใต้การบริหารของรัฐบาลชุดนี้ ดิฉันไม่อาจมั่นใจในฝีมือการเจรจาทางการค้าเพื่อให้ประเทศไทยได้ประโยชน์สูงสุดแต่อย่างใด เพราะภาพลักษณ์การเป็นรัฐบาลเผด็จการสืบทอดอำนาจ ทำให้แทบไม่เหลือเครดิตในการต่อรองเจรจาทางการค้ากับประเทศที่พัฒนาแล้ว” จิราพร กล่าว

จิราพร ยังย้ำว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกรอบความตกลง IPEF หรือ การประชุม APEC ผู้นำประเทศต้องมีวิสัยทัศน์ แต่เมื่อมองไปยังพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตลอด 8 ปีที่ผ่านมาก็เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าเป็นรัฐบาลเผด็จการสืบทอดอำนาจ มือไม่ถึงในเรื่องเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ พรรคเพื่อไทยขอเรียกร้องให้รัฐบาลได้แสดงภาวะผู้นำ บริหารจัดการประชุม APEC กลับสู่กลไกปกติให้ได้ และทำให้ประเทศไทยได้ประโยชน์สูงสุดจากการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งนี้ เพื่อให้คุ้มกับเงินภาษีของประชาชนที่ใช้ไป 

พิชัย จิราพร -C01B-4130-BBAF-B9085E015D32.jpeg


อย่าหวังฟอกขาวด้วยเอเปค

ขณะที่ อนุสรณ์ มองว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APEC 2022 เพื่อต้อนรับผู้นำนานาชาติที่จะเดินทางมาประชุม ท่ามกลางกระแสกดดันให้ลาออกในขณะที่ถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะคิด จะฝันอยากมีภาพเป็นเกียรติประวัติกับวงศ์ตระกูลอย่างไรก็เป็นสิทธิ แต่ก่อนมองไปข้างหน้า ต้องเหลียวหลังไปมองวิกฤต 8 ปีที่ผ่านมาของพล.อ.ประยุทธ์ ด้วยว่า มีภาพลักษณ์ติดลบอย่างไรในสายตาของประเทศต่างๆ เริ่มตั้งแต่การทำปฏิวัติรัฐประหาร ยึดอำนาจรัฐจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ฉีกรัฐธรรมนูญ เขียนรัฐธรรมนูญที่คนในพรรคพลังประชารัฐบอกว่ารัฐธรรมนูญดีไซน์มาเพื่อพวกเรา 

วิกฤตในประเทศไทยอยู่ในระดับที่องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนสากลต้องจับตามองด้วยความห่วงใย ในอดีตประเทศชั้นนำหลายประเทศฝากปัญหาในประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศให้ประเทศไทยช่วยประสานงานการดูแล แต่ 8 ปี ที่ผ่านมา ไม่รู้ว่าระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านใครสร้างปัญหาวิกฤตมากกว่าใคร จนถูกตั้งคำถามว่ารัฐประหารในประเทศเพื่อนบ้าน สะท้อนความตกต่ำทางการทูตไทย

พล.อ.ประยุทธ์ ชิงออกถ้อยแถลง ประกาศตัวพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปค ก่อนถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี แต่ไม่พร้อมลาออก จนประชาชนลุกขึ้นมาขับไล่

“พล.อ.ประยุทธ์ คิดถึงแต่ตัวเองก่อนประเทศชาติและประชาชนหรือไม่ แม้จะได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปค ก็ไม่ได้ช่วยให้ภาพลักษณ์ที่ติดลบตลอด 8 ปี ดีขึ้น” อนุสรณ์ กล่าว