พล.อ.ท.ฐานัตถ์ จันทร์อำไพ เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารอากาศ ในฐานะโฆษกกองทัพอากาศ เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีการรายงานข้อมูลของสื่อมวลชนในประเด็นที่ บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ได้ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีความกรณีการจัดซื้อเครื่องมือ GT-200 ซึ่งมีข้อพิพาทต่อสู้คดีกับหน่วยงานภาครัฐในชั้นศาล โดยมีการตั้งข้อคำถามว่า เพราะเหตุใดจึงยังมีการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างกับกองทัพอากาศ
จึงขอชี้แจงว่า ในปี 2563 กองทัพอากาศได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างกับ บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด จริง เพื่อดำรงขีดความสามารถในการป้องกันทางอากาศตามภารกิจของกองทัพอากาศ และการจัดซื้อจัดจ้าง มีวัตถุประสงค์ เพื่อจัดหาพัสดุอะไหล่และจ้างเหมาการซ่อมบำรุง ระบบป้องกันทางอากาศ (ระบบ ACCS) ระบบเรดาร์เคลื่อนที่ แบบ Giraffe – 40 และGiraffe – 180
พล.อ.ท.ฐานัตถ์ กล่าวต่อว่า การดำเนินการจัดซื้อพัสดุอะไหล่และจ้างเหมาซ่อมบำรุงมีความจำเป็นต้องดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง กับ บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด เนื่องจากระบบเรดาร์และระบบบัญชาการและควบคุมการป้องกันทางอากาศถูกใช้มาเป็นระยะเวลายาวนาน ส่งผลให้อะไหล่บางส่วนหมดอายุและหยุดสายการผลิต ไม่สามารถจัดหาตามแหล่งจัดหาทั่วไปได้
ซึ่งบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ได้รับการแต่งตั้ง เป็นผู้แทนอย่างถูกต้องตามกฎหมายเพียงผู้เดียวในประเทศไทย ในการจัดหาพัสดุอะไหล่และการซ่อมบำรุงรักษานอกจากนี้ ก่อนการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างกองทัพอากาศได้ดำเนินการจัดตั้งคณะทำงานดำเนินการตรวจสอบ บริษัท เอวิเอ แซทคอม แล้ว ไม่พบหลักฐานว่าเป็นผู้ที่อยู่ในบัญชีผู้ทิ้งงานตาม พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ประกอบระเบียบของกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560
“กองทัพอากาศ ขอยืนยันว่าการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างของกองทัพอากาศ ได้ดำเนินการด้วยความรอบคอบและผ่านการพิจารณาของ ผู้เชี่ยวชาญ คณะกรรมการที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง และผู้เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงความถูกต้อง รัดกุม ตามระเบียบของทางราชการ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ” พล.อ.ท.ฐานัตถ์
ย้อนไปเมื่อปี 2561 ศาลแขวงดอนเมือง มีคำพิพากษาคดีฉ้อโกงเครื่องตรวจจับอาวุธ (GT 200) ที่อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ฟ้องบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด และ สุทธิวัฒน์ วัฒนกิจ ผู้บริหารพร้อมพวก 4 คน ฐานฉ้อโกงจากกรณีร่วมกันทุจริตหลอกลวง โดยเสนอขายเครื่องจีที 200 ที่ไม่สามารถใช้งานได้จริง ให้กับทางสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เป็นมูลค่าความเสียหายราว 6.8 ล้านบาท
โดย ศาลสั่งปรับบริษัท 18,000 บาท และสั่งจำคุกผู้บริหารของบริษัทดังกล่าว เป็นเวลา 9 ปี และให้จำเลยร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 6.8 ล้านบาท