ไม่พบผลการค้นหา
ธนาคารพัฒนาเอเชีย ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 62 เหลือโตร้อยละ 3 หลังยังเผชิญปัญหาการส่งออก-ท่องเที่ยว-บาทแข็ง ห่วงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้น

นายเทียม ฮีอึง เศรษฐกรอาวุโส ประจำธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2562 ยังคงเผชิญปัญหาการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยังคงยืดเยื้อ ประกอบกับจำนวนนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะจีนที่ลดลง รวมถึงเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560 ADB จึงได้ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 2562 ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.0 จากเดิมที่ ADB รายงานตัวเลข GDP ปีนี้ในช่วงเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา อยู่ที่ร้อยละ 3.9

ส่วนในปี 2563 ADB ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.2 จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.0 โดยปัจจัยหนุนที่สำคัญมาจากโครงการ EEC ซึ่งโครงการใหญ่จะเริ่มขับเคลื่อนการลงทุนได้ในช่วงต้นปี

จีดีพีไทยแยกแต่ละพาส

“เศรษฐกิจไทยยังคงมีปัจจัยเสี่ยง โดยหลักๆ คือ การดำเนินโครงการขนาดใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานต่างๆของรัฐบาลอาจจะล่าช้า ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ไม่เต็มศักยภาพ ประกอบกับปัญหาสงครามการค้าที่ยืดเยื้อ จะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกโดยตรง” นายเทียม กล่าว

จีดีพีไทย

ทั้งนี้ ADB ยังคงเป็นห่วงสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่ปรับสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2006 ซึ่งจะส่งผลเกี่ยวเนื่องต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยเช่นกัน แต่ยังเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยังคงติดตามปัญหาดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อควบคุมและดูแลไม่ให้หนี้ครัวเรือนปรับเพิ่มขึ้นสูงเกินไป และมองว่าในช่วงนี้ไทยไม่จำเป็นที่จะต้องใช้นโยบายดอกเบี้ยในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยแตกต่างจากต่างประเทศ และอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำแล้ว

จีดีพีภูมิภาค

นอกจากนี้ ADB ยังได้มีการปรับลดประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียในปี 2562 ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 5.4 จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 5.7 ส่วนในปี 2563 ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจเอเชียลงมาอยู่ที่ร้อยละ 5.5 จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 5.6 โดยสาเหตุสำคัญยังคงเป็นผลมาภาคการค้าระหว่างประเทศที่ลดลงจากปัญหาสงครามการค้าของสหรัฐฯและจีนเป็นสำคัญ โดยยังไม่สามารถประเมินได้ว่าปัญหาสงครามการค้าที่เกิดขึ้นจะจบลงเมื่อใด แต่หากยืดเยื้อต่อไปจะยิ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจระยะยาว ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับความเชื่อมั่นโดยตรง แต่ในช่วงสั้นๆ ก็จะมีทั้งผลดีและผลเสียเช่นกัน ซึ่งจะเห็นว่าอย่างประเทศไทยแม้การส่งออกจะลดลง แต่การลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น

นายเทียม ฮีอึง
  • นายเทียม ฮีอึง เศรษฐกรอาวุโส ประจำธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB)

“เศรษฐกิจภูมิภาคที่ลดลงครั้งนี้ค่อนข้างต่างจากอดีตที่เศรษฐกิจยุโรปและอเมริกาลดลง เศรษฐกิจเอเชียจะเพิ่มขึ้น แต่ปัจจุบันมีการเชื่อมโยงทางการค้ามากขึ้น ซึ่งหากเศรษฐกิจคู่ค้าไม่ดี กำลังซื้อก็จะลดลง คู่ค้าไม่สั่งสินค้า ก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภูมิภาคโดยตรง” นายเทียม กล่าว

ADB เสนอโมเดลพัฒนาเมืองเติบโต

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ยังได้มีการเปิดเผยรายงานการศึกษาการเติบโตของเมืองเกิดขึ้นใหม่ในเอเชีย พบว่า หลายเมืองในภูมิภาค ทั้งฟิลิปปินส์ อินเดีย รวมถึงประเทศไทย มีการเติบโตเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ซึ่งการเกิดขึ้นของเมืองส่งผลให้มีประชากรเพิ่มขึ้น มีเทคโนโลยี รวมถึงนวัตกรรมใหม่ๆ แต่ทางในตรงกันข้ามก็เกิดปัญหาด้านการจราจร ไม่ใช่เฉพาะในเวลาเร่งด่วน นอกจากนี้ยังส่งผลให้ราคาบ้าน หรือที่อยู่อาศัยในเมืองปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งไม่สอดคล้องกับรายได้ของประชากร

โมเดลพัฒนาเมืองขยาย

โดย ABD ได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาการขยายของเมืองให้มีประสิทธิภาพสูงสุดด้วยกันอยู่ 4 ประเด็น คือ การสร้างระบบขนส่งให้สามารถเชื่อมโยงถึงกันให้ได้ทุกโหมด เริ่มแนวคิดรวมถึงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการรีเวิร์สมอร์ทเกจ (Reverse Mortgage) อย่างจริงจัง นอกจากนี้ที่ดินที่ได้รับประโยชน์จากโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ทำให้ราคาปรับสูงขึ้นจะต้องเข้ามาช่วยสนับสนุนการก่อสร้าง โดยการคืนประโยชน์กลับเข้ามาในรูปแบบภาษีที่เพิ่มขึ้น รวมถึงจะต้องวางแนวทางในการดูแลปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมด้วย