การหารือกันระหว่างสองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในครั้งนี้ เกิดขึ้นในช่วงเวลาของความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ในประเด็นไต้หวัน ท่ามกลางความตึงเครียดของเวทีประชาคมโลก ในสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ หลังจากตัวแทนทางการทูตต่างขึ้นพูดบนเวที และการถกเถียงกันในประเด็นสงครามยูเครนที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
บลิงเคนที่เข้าประชุมในครั้งนี้ด้วย เพิ่งผ่านความสูญเสียจากการเสียชีวิตของพ่อตนเองอย่าง โดนัลด์ บลิงเคน เมื่อช่วงวันค่ำของวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (22 ก.ย.) อย่างไรก็ดี ทางการสหรัฐฯ รายงานว่า การหารือกันระหว่างบลิงเคนกับหวางนั้น “เปิดเผย ตรงไปตรงมา สร้างสรรค์ และลึกซึ้งอย่างยิ่ง” ในขณะที่บลิงเคนเน้นย้ำว่าสหรัฐฯ ยังคงมี “ความต้องการในการรักษาช่องทางการสื่อสารที่เปิดกว้าง เพื่อให้เราสามารถจัดการความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนอย่างมีความรับผิดชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่มีความตึงเครียด”
“เห็นได้ชัดว่า ความแตกต่างระหว่างสหรัฐฯ และจีนมีอยู่จริง แต่เราตระหนักดีถึงความจำเป็นในการจัดการความแตกต่างเหล่านั้น อย่างมีความรับผิดชอบและการแข่งขันระหว่างเรา” ทางการสหรัฐฯ กล่าว โดยเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ อธิบายว่า การจัดการความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน เป็นหนึ่งในความท้าทายที่สำคัญที่สุดที่สหรัฐฯ เผชิญอยู่
ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศเริ่มสั่นคลอนมากขึ้น หลังจากการเยือนไต้หวันของ แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ ไปยังไต้หวันในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ก่อนที่จีนจะประกาศการซ้อมรบครั้งใหญ่รอบเกาะไต้หวันเป็นเวลา 5 วัน เพื่อตอบโต้การเยือนดังกล่าวของเพโลซี ซึ่งทางการจีนเรียกว่าเป็นการยั่วยุ
ในการกล่าวสุนทรพจน์ที่ Asia Society เมื่อวันพฤหัสบดี หวางเตือนว่า “ในขณะที่สิ่งต่างๆ ยังคงดำเนินอยู่ คำถามของไต้หวันกำลังเพิ่มความเสี่ยงครั้งใหญ่ที่สุดในความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ” พร้อมเน้นย้ำว่า “หากมีการจัดการที่ผิดพลาด ก็มีแนวโน้มมากที่สุดที่มันจะทำลายความสัมพันธ์ทวิภาคีของเรา”
โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในการให้สัมภาษณ์กับรายการ 60 Minutes ถูกถามว่ากองกำลังสหรัฐฯ จะปกป้องไต้หวันหรือไม่ หากจีนทำการรุกรานเกาะดังกล่าว ก่อนที่ไบเดนจะตอบว่า “ใช่ ถ้าจริง ๆ แล้วมีการโจมตีที่ไม่คาดฝันมาก่อน” ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เน้นย้ำว่า นโยบายของสหรัฐฯ ที่มีต่อไต้หวันยังคงไม่เปลี่ยนแปลง และตามที่บลิงเคนกล่าวในการประชุมเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (23 ก.ย.) ว่า สหรัฐฯ ได้ทำให้เรื่องนี้ “ชัดเจน” ต่อจีน พร้อม “เน้นถึงความสำคัญของการรักษาสันติภาพและความมั่นคงในช่องแคบไต้หวัน”
ในทางตรงกันข้าม หวางได้ระบุในแถลงการณ์หลังการหารือว่า สหรัฐฯ ได้ส่ง “สัญญาณอันผิดพลาดและอันตรายร้ายแรง” ในประเด็นไต้หวัน และการยกประเด็นการเป็นเอกราชของไต้หวันที่เพิ่มมากขึ้น ก็อาจส่งผลกระทบต่อความสงบสุขในพื้นที่ช่องแคบไต้หวัน “ปัญหาไต้หวันเป็นเรื่องภายในของจีน และสหรัฐฯ ไม่มีสิทธิ์เข้าไปยุ่งเกี่ยว ด้วยวิธีการใดๆ ที่จะนำมาใช้ในการแก้ไขประเด็นดังกล่าว”
รัฐมนตรีว่ากระทรวงการต่างประเทศไต้หวัน ได้ออกมากล่าวถึงการหารือกันระหว่างหวางกับบลิงเคนล่าสุดว่า จีนพยายาม “สร้างความสับสนให้ผู้พบเห็นต่างชาติ ด้วยการโต้แย้งและการวิพากษ์วิจารณ์ที่ขัดแย้งกับความเป็นจริง” ทั้งนี้ สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน เคยให้คำมั่นว่าตนจะทำให้ทุกวิถีทาง เพื่อทำให้ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนอย่างแท้จริง ไม่ว่าวิธีการดังกล่าวจะเป็นการใช้กำลังก็ตาม
ที่มา: