ไม่พบผลการค้นหา
‘อิทธิพร’ ประธาน กกต. มั่นใจการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มีบัตรเขย่ง ขณะที่ข้อสรุปนโยบายของแต่ละพรรคการเมืองว่าด้วยการใช้งบประมาณจะมีข้อสรุปในสัปดาห์ต่อไปโดยใช้หลักเกณฑ์พิจารณาว่าด้วยความคุ้มค่าและที่มางบประมาณ

อิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยถึงเหตุผลการใช้บัตรเลือกตั้งแบบเขตเป็นสีม่วง และแบบบัญชีรายชื่อเป็นสีเขียว ซึ่งจะเป็นการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนจากสำนักงาน กกต. ว่าสีดังกล่าวไม่ใช่สีที่บ่งบอกถึงพรรคการเมืองใดๆ และสำหรับประเด็นในเรื่องของการร้องเรียนนั้น ขณะนี้ กกต.ได้รับเรื่องร้องเรียนไปแล้วกว่า 32 เรื่อง โดยเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการซื้อเสียงประมาณ 8 เรื่อง ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง ในการรับเรื่องรวมถึงการตรวจสอบเรื่องที่เกิดขึ้น ซึ่งหากมีการร้องเรียนเข้ามาทาง กกต.ก็มีชุดเคลื่อนที่เร็วบอกร่วมกับชุดสืบปราบปราม ที่คอยจับตาการทุจริตต่างๆที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง จึงเชื่อว่าจะมีกระบวนการในการป้องกันที่ดี โดยหากพบในเรื่องของการกระทำความผิดที่เกี่ยวกับกฎหมายเลือกตั้งก็จะสามารถแจกใบเหลือง, ใบส้ม หรือ ใบแดง ได้ทันที

เมื่อถามเรื่องข้อกังวลเกี่ยวกับบัตรเขย่ง อิทธิพร กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ กกต.ให้ความสำคัญ และทราบดีว่าประชาชนให้ความสนใจ บัตรเขย่งปี 2562 นั้น ตามข้อมูลที่มี คือ มีบัตรเขย่งไป 8 หน่วยเลือกตั้งจาก 92,320 หน่วย ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วไม่ถึง 0.01 แต่นั้นไม่ใช่เป็นสิ่งที่ กกต.จะไม่พยายามทำให้มันไม่เกิดขึ้น เรื่องนี้มีการอบรมกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง อย่างเข้มข้นอีกทีว่าสิ่งที่พึงปฏิบัติไม่ให้เกิดบัตรเขย่งทำอย่างไร ซึ่งตัวอย่างที่ดีมีให้เห็นในครั้งเลือกตั้งกรุงเทพมหานครปี 2565 ไม่มีบัตรเขย่ง ดังนั้นครั้งนี้ กกต.ก็หวังว่าจะไม่มีบัตรเขย่ง หรือถ้ามีก็ให้น้อยที่สุด

สำหรับประเด็นในเรื่องของนโยบายพรรคการเมือง ขณะนี้แต่ละพรรคการเมืองก็ได้มีการส่งรายละเอียดเกี่ยวกับนโยบายมาเป็นที่เรียบร้อย โดยทางสำนักงาน กกต.กำลังตรวจสอบในเรื่องของรายละเอียดโดยคาดว่าจะมีความชัดเจนในสัปดาห์ต่อไป หาข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายพรรคการเมืองใดไม่เพียงพอก็ยังสามารถที่จะขอเพิ่มรายละเอียดได้อีก ซึ่ง กกต.ให้โอกาสบรรดาพรรคการเมืองที่แจ้งข้อมูลอย่างเต็มที่ 

โดยประเด็นที่พรรคการเมืองเสนอนโยบายและมีความเกี่ยวข้องกับงบประมาณนั้นก็จะมีเกณฑ์ในการพิจารณาอยู่ 3 หลักเกณฑ์ คือ ที่มาของการใช้งบประมาณ ความคุ้มค่าหรือประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ และสุดท้ายคือผลกระทบหรือความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นกับนโยบายนั้นๆ โดยเมื่อมีการพิจารณาอย่างละเอียดจากสำนักงาน กกต.แล้ว ก็จะมีการให้ความเห็นต่อนโยบายนั้นๆไปที่พรรคการเมือง หรือหากพบว่านโยบายใดเป็นลักษณะของการหลอกลวงประชาชนก็จะมีอำนาจในเรื่องของการส่งเรื่องเพื่อยุคพรรคการเมืองนั้นๆได้ด้วยเช่นกัน