ไม่พบผลการค้นหา
'ชานันท์' เผยก่อนการปฏิวัติ 2475 มีการก่อตั้งโรงเรียนสตรี สร้างค่านิยมแม่บ้านแม่เรือน ระบุสิทธิสตรีในสมัยคณะราษฎรแม้จะมีสิทธิเท่าเทียมเพศชาย แต่จำนวนในสภาฯ ยังน้อย

เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 24 มิ.ย. 2565 ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในงานเสวนา 90 ปี แห่งการอภิวัฒน์สยาม "อุดมการณ์เพื่อชาติและราษฎรไทย" โดย ชานันท์ ยอดหงษ์ ผู้รับผิดชอบนโยบายอัตลักษณ์และความหลากหลายทางเพศ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ราษฎรหญิงก่อนปฏิวัติ 2475 นั้น ได้มีคณะมิชชันนารีอเมริกัน ชื่อว่า เพรสไบทีเรียน (Presbyterianism) ที่เผยแพร่ศาสนาไปพร้อมกับก่อตั้งโรงเรียนสตรีที่มีหลักสูตรและระบบสมัยใหม่ ให้อ่านออกเขียนได้เรียนรู้งานเรียนงานครัว เตรียมพร้อมเป็นภรรยาและมีวิชาชีพติดตัว 

ในจังหวัดเพชรบุรีตั้งแต่ พ.ศ. 2408 ที่ไม่เพียงสร้างระบบการศึกษาสมัยใหม่สำหรับผู้หญิง พร้อมกับสร้างค่านิยม แม่บ้านแม่เรือนแบบตะวันตก แต่ยังแนะนำให้สยามรู้จักการใช้จักรเย็บผ้า ซึ่งเป็นเทคโนโลยีขนาดเล็กตั้งแต่ปลายของยุคแรกปฏิวัติอุตสาหกรรม เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยภรรยาแทนการเย็บผ้าด้วยมือ บนพื้นฐานสำนึกที่ผู้หญิงต้องรับผิดชอบงานตัดเย็บซ่อมแซมเสื้อผ้าให้สมาชิกในครอบครัว และเป็นการเรียนรู้ระหว่างผู้หญิง เนื่องจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เสื่อมทรามลงเรื่อยๆ จนไม่สามารถดำรงอยู่ได้อีกต่อไปท่ามกลางกระแสของราษฎรที่ต้องการมีส่วนร่วมทางการเมืองและวิพากษ์วิจารณ์การบริหารราชการของชนชั้นสูง ผ่านสิ่งพิมพ์ที่ทำหน้าที่วิเคราะห์ข่าวเหตุบ้านการณ์เมือง แสดงความคิดเห็นเสนอแนะ ชี้จุดบกพร่องการวิพากษ์วิจารณ์ตรงไปตรงมา ประชดประชันเสียดสีการใช้อำนาจโดยรัฐบาลราชสำนัก

ชานันท์ กล่าวว่า ขณะเดียวกันโรงเรียนหญิงล้วนของมิชชันนารีที่เป็นพื้นที่การศึกษาสมัยใหม่ ทำให้หญิงที่อ่านออกเขียนได้ มีวิชาชีพติดตัวหารายได้และมีอำนาจในการบริโภคเอง จับจ่ายใช้สอยด้วยเงินที่ทำงานนอกบ้านเช่น ครู พยาบาล เสมียน ช่างตัดเย็บเสื้อผ้า พวกเธอเลือกซื้ออ่านสิ่งพิมพ์ อ่านในช่วงว่างหรือเลิกงาน นำมาเป็นหัวข้อสนทนาพูดคุยกับเพื่อนในที่ทำงานช่วงเช้าหรือพักเที่ยง 

ชานันท์ กล่าวว่า บทบาทประชาชนหญิงในรัฐบาลคณะราษฎรนั้น ด้วยความหวังว่าการมีรัฐธรรมนูญและรัฐสภาที่ทำให้สิทธิพลเมืองทั้งชายหญิงเท่าเทียมกัน จะช่วยยกระดับสถานภาพสตรี หนังสือพิมพ์ หญิงไทย ได้ตั้งข้อสังเกตว่า แม้ผู้หญิงจะมีสิทธิพลเมืองเสมอภาคเท่าผู้ชาย แต่การที่มีผู้หญิงเข้าไปในรัฐสภาเพียงไม่กี่คน อาจจะเป็นเกียรติยศเฉพาะบุคคล แต่ไม่ได้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนหญิงหมู่มาก หากไม่คำนึงถึงสถานภาพของผู้หญิงที่ยังคงยากลำบากเป็นรองผู้ชายอยู่อีก 7,000,000 คน

ชานันท์ -43C2-8533-FF4C97E60A5F.jpeg

ชานันท์ กล่าวว่า เมื่อเกิดปฏิวัติสยามและรัฐธรรมนูญฉบับคณะราษฎรที่ได้ให้สิทธิพลเมืองทั้งชายหญิงเท่าเทียมกันและพร้อมกัน ไม่ได้ให้ผู้ชายมีสิทธิพลเมืองก่อน เนื่องจากราษฎรหญิงมีบทบาททางการเรียกร้องสิทธิทางการเมืองและเคลื่อนไหวผ่านพื้นที่สาธารณะอย่างโดดเด่นภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ขณะเดียวกันเสรีภาพและความเสมอภาคทางการเมืองสำหรับผู้หญิงในประเทศต้นธารประชาธิปไตยก็พัฒนาจนผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้งได้เต็มที่แล้วเช่น สหรัฐอเมริกาในค.ศ. 1920 อังกฤษ ค.ศ. 1928 ก่อนที่สยามเพิ่งจะเปลี่ยนแปลงการปกครองเพื่อเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยในค.ศ. 1932 

ขณะที่การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกของสยามถูกกำหนดระหว่างวันที่1 ต.ค. - 15 พ.ย. พ.ศ. 2476 ซึ่งเป็นการเลือกผู้แทนทางอ้อม ที่ผู้แทนตำบลเป็นผู้เลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระดับจังหวัด ซึ่งผู้แทนตำบลจะได้รับการเลือกตั้งจากสมาชิกในตำบล ผู้สมัครเป็นผู้แทนตำบลจะต้องไปแจ้งที่กรมการอำเภอที่ตำบลของตนเอง โดยกำหนดให้ราษฎร 100,000 คนต่อผู้แทนราษฎร 1 คน ต่อมาแก้ไขเป็น 200,000 ต่อ 1 ผู้แทนตำบล และจะมีวาระ 4 ปี มีหน้าที่เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและเป็นผู้แทนหรือหัวหน้าของราษฎรในตำบล ขณะที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้แทนราษฎรให้ไปสมัครที่ศาลากลางจังหวัด ซึ่งได้กำหนดคุณสมบัติว่าจะต้องอ่านออกเขียนภาษาไทยได้ ซึ่งก็มีผู้หญิงสมัครรับเลือกตั้งทั้งผู้แทนตำบลและผู้แทนราษฎร

ชานันท์ เสริมว่า แม้ว่าจะไม่มีผู้หญิงได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่พวกเธอบางคนได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้แทนตำบล แต่ผู้หญิงก็น้อยมากเมื่อเทียบกับผู้ชาย ผู้แทนตำบลส่วนใหญ่เป็นประชาชนชายและข้าราชการชายชั้นผู้น้อย เช่นบรรดาศักดิ์ขุนนาง