‘โพธิเธียเตอร์’ แก่นเดิม เปลือกใหม่ ของพุทธศาสน์ นิทรรศการดิจิทัลครั้งแรกในอุโบสถวัด เป็นการนำเทคโนโลยี Projection Mapping ฉายภาพลงพื้นผิวโบสถ์วัดสุทธิวราราม พร้อมแสง สี เสียง มาผสมผสานถ่ายทอดพระธรรมคำสอนที่ทรงคุณค่าทางพระพุทธศาสนา เปลี่ยนการเข้าวัดให้เป็นมากกว่าการกราบไหว้พระ ทำบุญ มาเป็นการฟังธรรมรูปแบบใหม่ หวังสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ เกิดความสนใจและเรียนรู้ธรรมะในระดับที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
ธวัชชัย แสงธรรมชัย หัวหน้าโครงการดังกล่าว วัย 34 ปี กล่าวว่า ในปัจจุบัน หากคนรุ่นใหม่จะชวนเพื่อนว่า เสาร์-อาทิตย์นี้ ไปเที่ยววัดกันคงเป็นสิ่งที่แปลก เพราะวัดไม่เคยมีกิจกรรมที่คนรุ่นนี้รู้สึกว่าเขาเกี่ยวข้องด้วย ในขณะที่พวกเขาไปพิพิธภัณฑ์ได้ ไปร้านกาแฟเก๋ๆ ได้ ไปเดินห้างฯได้ ทำไมเราไม่ทำให้วัด เป็นพื้นที่ที่เขารู้สึกว่ามาใช้เวลาในวันหยุดได้ และได้ข้อคิดอะไรจากพุทธศาสนากลับไปด้วย อันที่จริงแล้วเมื่อศึกษาย้อนกลับไป ก็พบว่าการสร้างวัดให้วิจิตรบรรจง ก็เป็นหนึ่งในหลายๆ วิธีที่คนในอดีตใช้เพื่อดึงดูดให้ผู้คนเข้าวัด จนเป็นที่มาของภาพจิตรกรรมฝาผนัง สถาปัตยกรรมต่างๆ
เกิดเป็นคำถามว่า การนำ แสง สี แสง เสนอผ่านธรรมะ เป็นการทำให้คนติดใจในรูป รส กลิ่น สี หรือที่เราเรียกว่า กิเลส เพิ่มขึ้นหรือเปล่า นายธวัชชัย ระบุอีกว่า ศิลปะ – เทคโนโลยี – ศาสนา รับใช้ซึ่งกันและกัน และหมุนเปลี่ยน ปรับเปลี่ยนตัวซึ่งกันและกันเสมอ ในยุคพุทธกาลก็ไม่มีพระพุทธรูป พระพุทธรูปมาสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ถ้าเราไปดูหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ก็จะพบว่ามีลักษณะจมูกโด่ง ตาโต เหมือนฝรั่ง ช่วงต้นของยุครัตนโกศิลป์เราวาดภาพฝาผนัง ผมเชื่อว่าศิลปินที่ทำงานประเภทนี้กับศาสนา โดนคำถามนี้ทุกยุคสมัย แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า เราจะใช้เปลือกให้เราเห็นได้ยังไง ว่าอะไรคือเปลือก อะไรคือแก่น?
ถ้าเราจะบอกว่าแสง สี แสงแบบนี้คือกิเลส สีสันที่วาดอยู่บนฝาผนังก็ไม่ต่างกัน เพลงที่คนเคยเอาบทสวดมาทำเพลง ก็ไม่ต่างกัน แต่คำถามก็คือเปลือกเหล่านี้ มันจะเป็นสะพานยังไงให้เราเข้าใจถึงแก่นได้ ถ้าเราไปดูเปลือก แล้วก็ยึดเปลือก ว่าเปลือกแบบนี้คือถูกต้อง เราจะไม่มีวันถึงแก่นเลย ... เทคโนโลยีเปลี่ยน โลกเปลี่ยน คนต้องเปลี่ยน ศาสนาก็ต้องเปลี่ยน แต่ทำยังไงที่คำสอนมันจะไม่ถูกบิดเบือน เครื่องมือจะเป็นแค่เครื่องมือที่รับใช้ ไม่ใช่เครื่องมือนำคำสอนได้ยังไง
โพธิเธียเตอร์ พยายามจะฉีกเสื้อผ้าเก่าออก แล้วใส่เสื้อผ้าใหม่ ไม่ใช่แค่บอกว่าเสื้อผ้าใหม่จะทำหน้าที่ดึงดูดคนได้ดีกว่าเท่านั้น แต่เป็นการบอกด้วยว่าอย่าไปยึดของเก่า ของเก่านั่นก็เสื้อผ้าเหมือนกัน แก่นคืออะไรกันแน่?
สำหรับเนื้อหาของนิทรรศการนี้ได้ถูกสร้างสรรค์ขึ้นจากการแปลบทสวด ‘ชัยมงคลคถา’ หรือที่คนไทยเรียกอย่างคุ้นเคยว่าบท ‘พาหุง’ โดยยึดเอาเนื้อหาสาระเดิมไว้ทั้งหมด แล้วตีความด้วยภาพเคลื่อนไหว (Motion Graphic) และดนตรี ออกมาตามแนวทางศิลปะร่วมสมัย ฉีกภาพลักษณ์เดิมๆ ของพุทธศิลป์ เพื่อฉายลงบนอุโบสถของวัดสุทธิวราราม ด้วยเทคโนโลยี Projection Mapping ที่เป็นการฉายภาพลงไปบนพื้นผิวต่างๆ ซึ่งไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถาปัตยกรรม
ทั้งนี้ที่เลือกบทพาหุง เพราะว่าคนไทยคุ้นเคยกับบทนี้ แต่หลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจถึงความหมายที่แท้จริง ซึ่งบทนี้เป็นเรื่องราวชัยชนะของพระพุทธเจ้าทั้งหมด 8 ตอน ซึ่งหากเราลดการให้น้ำหนักเกี่ยวกับอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ก็จะพบว่ามีธรรมะซ่อนอยู่ในเนื้อหาของบทสวดนี้ เป็นวิธีการรับมือกับอุปสรรคในชีวิตประจำวัน และการรับมือกับคนหลายๆ รูปแบบ น่าทึ่งวาแม้คำสอนเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อราว 2500 ปีก่อน แต่ยังทรงคุณค่าเหนือกาลเวลา สิ่งที่ได้เรียนรู้จากพระพุทธเจ้าเหล่านี้ สามารถนำมาใช้ได้จริงกับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ
ด้าน ปานปอง วงศ์สิรสวัสดิ์ ผู้กำกับศิลป์ของโครงการ กล่าวว่า ศิลปะกับศาสนา มีพัฒนาการกันมาตามยุคสมัยตลอด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเปลือกทั้งสิ้น เป็นการนำเอาศิลปะมาห่อหุ้มคำสอนไว้ อย่างรูปปั้นพระพุทธรูป ก็ไม่เคยมีในสมัยพุทธกาล มาปรากฎเมื่อตอนที่พระเจ้าอโศกมหาราช นำวัฒนธรรมจากกรีกมาถึงอินเดีย นอกจากนี้ก็ยังมีการศึกษาอีกมากมายที่ทำให้เราได้ข้อสรุปในลักษณะเดียวกัน
เราจึงเชื่อว่าเปลือกที่อยู่ภายนอกพระพุทธศาสนานั้นเปลี่ยนได้ และควรต้องเปลี่ยนให้ร่วมสมัย ไม่ควรจะไปยึดถือกันที่แค่เปลือก แต่ทำยังไงให้เราเข้าถึงคำสอนที่เป็นแก่นด้านในได้จริงๆ ดังนั้น การออกแบบทั้งหมดของโพธิเธียเตอร์จึงเอาแก่นแท้ของบทสวดมาตั้งตั้น แต่ไม่เอาแนวทางของพุทธศิลป์ที่เราคุ้นเคยกันมาใช้ ด้วยต้องการตีความคำสอนให้เป็นภาพใหม่ เพื่อให้คนที่ได้ดูเข้าถึงคำสอน โดยไม่ติดที่ศิลปะที่เป็นเปลือกภายนอก เสมือนว่าเราแค่เปลี่ยนเสื้อผ้า แต่ไม่ได้เปลี่ยนตัวตนของผู้สวมใส่
ขณะที่ ท่านเจ้าคุณพระสุธีรัตนบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดสุทธิวราราม กล่าวถึงนิทรรศการนี้ว่า ทางวัดสุทธิวรารามมีแนวคิดหาทางส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่เข้าวัดมากขึ้น และศิลปะสมัยใหม่แบบนี้ก็เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ทำให้วัดเปิดกว้างเข้ากับคนทุกกลุ่มได้มากขึ้น ทั้งนี้ก่อนที่จะเริ่มการจัดนิทรรศการดังกล่าว ได้มีการสอบถาม และหารือหลายฝ่ายถึงความเหมาะสมแล้ว ยืนยันว่าการใช้พื้นที่ในโบสถ์จัดแสดงนิทรรศการดิจิทัลดังกล่าว ไม่ผิดตามหลักพระธรรมวินัย ดังนั้นวัดสุทธิฯ จึงมีความยินดีอย่างมาก หากจะมีวัดใดนำแนวคิดเดียวกันนี้ไปทำขยายผล เพราะไม่ได้เป็นลิขสิทธิ์ ยิ่งมีคนมาสนใจเข้าวัดมากขึ้น มีคนเข้าใจเข้าถึงคำสอนในพุทธศาสนามากยิ่งขึ้น ถือเป็นหน้าที่ในฐานะสงฆ์ในการเผยแพร่พระพุทธศาสนา
ขณะที่วันแรก (18 พ.ค.) ของการเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้ารับชม มีประชาชนจำนวนมากร่วมชมนิทรรศการ ตั้งแต่สูงวัย จนถึงวัยรุ่นที่เยอะเป็นพิเศษ โดย ภัคชนม์ หุ่นสุวรรณ์ วัย 32 ปี กล่าวถึงความรู้สึกหลังชมนิทรรศการดังกล่าวว่า เมื่อได้รับชมแล้วรู้สึกว่าเข้าใจง่าย เพราะว่าอย่างคนรุ่นใหม่ คงไม่มีแล้วที่จะมาเปิด Text book หรือตำราอะไรเป็นร้อยๆ หน้า ส่วนใหญ่ก็จะดูผ่านยูทูบ ซึ่งเป็นสื่อที่ดูแล้วเข้าใจได้เลย และขอชื่นชมทีมผู้สร้างและจัดงาน เพราะเป็นกลุ่มของคนรุ่นใหม่ทั้งหมด ดูแล้วเข้าใจในเรื่องของพระพุทธศาสนามากขึ้น ส่วนคอนเทนต์ที่นำมาแสดง ก็มีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ เชื่อว่าเป็นแรงดึงดูดอย่างหนึ่งที่ทำให้คนรุ่นใหม่ เด็กๆ เข้ามาวัดมากขึ้น โดยเฉพาะวัดสุทธิฯ ที่นี่
ด้าน สุภาพร วงศ์คงคาเทพ วัย 67 ปี เผยว่า “ในเรื่องของทางด้านศิลปะ เยี่ยมมาก รู้สึกตื่นตาตื่นใจ แล้วก็สามารถที่จะสื่อถึงมารแต่ละอย่างได้ แต่ว่าก็เสียดายนิดนึง เพราะตอนแรกได้อ่านข้อมูลที่ทางผู้จัดงานส่งมาให้ แต่ในนิทรรศการไม่ได้ใส่เรื่องราวในข้อมูลไว้ครบ แต่เท่านี้ก็ถือว่าสมบูรณ์แบบแล้ว เพราะตอนแรกก็ไม่ได้สนใจคาถาบทนี้ แต่เมื่อได้ดูแล้วก็กลับมาสนใจและอยากศึกษาเพิ่มเติมมากขึ้น”
ทั้งนี้ ‘โพธิเธียเตอร์’ แก่นเดิม เปลือกใหม่ ของพุทธศาสน์ นิทรรศการดิจิทัลครั้งแรกในอุโบสถวัด จัดขึ้นตั้งแต่วันวิสาขบูชา และจัดฉายทุกๆ วันเสาร์-อาทิตย์ 7 รอบต่อวัน จนถึง 9 มิถุนายนนี้ ที่วัดสุทธิวราราม โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ในการเข้าชม ผู้ที่สนใจสามารถจองตั๋วได้ที่ www.BodhiTheater.com