ไม่พบผลการค้นหา
ความเข้าใจโดยทั่วไปต่อการสักลาย คือเรื่องของแฟชั่น รสนิยม ความชอบ ความเชื่อ ของแต่ละคน และถือเป็นสิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกาย ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้หมายความว่า ความคิด การตีตราประทับให้กับผู้มีรอยสักจะหายไป โดยเฉพาะกับผู้หญิง

หลักฐานเด่นชัดที่ทำให้เห็นว่ามุมมองนี้ยังคงอยู่ คือ ผู้มีรอยสักจะถูกถือว่า มีลักษณะต้องห้ามในการสอบเข้ารับราชการทหาร ตำรวจ โดยที่ไม่จำเป็นต้องดูความสามารถใดๆ ส่วนกลุ่มข้าการอื่นๆ ปัจจุบันมีการอนุโลมกรณีมีรอยสักในร่มผ้าได้ แต่หากมีรอยสักนอกร่มผ้าก็ถือว่าเป็นลักษณะต้องห้ามเช่นกัน ซึ่งกรณีนี้ยังพบในการรับสมัครพนักงานบริษัทเอกชนบางแห่งด้วยเช่นกัน

นอกเหนือจากนี้ การตีตราว่าผู้มีรอยสักไม่ว่าจะเป็นเพศสภาพชาย หรือหญิง คือคนชั้นต่ำ อาชญากร ขี้คุก และโสเภณี ก็ยังคงมีอยู่ทั่วไปในสังคม และยังทำงานอยู่ตลอด ไม่เว้นว่าผู้มีรอยสักนั้นจะเป็นใคร ลูกชาวบ้าน หลานชาวนา วัยรุ่นไทบ้าน นักธุรกิจ พนักงานออฟฟิศ ดารา นักร้อง เพียงแค่มีรอยสักก็มีโอกาสที่จะถูกมองว่าเป็นคนชั้นต่ำได้ทันที

ส่วนที่ถูกตีตราหนักจนแทบจะไม่เหลือช่องว่างไว้ให้กับการทำความเข้าใจคือ ผู้หญิงที่มีรอยสัก เพราะส่วนมากจะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่ม หญิงก๋ากั่น หญิงใจแตก หญิงกล้า ซึ่งเป็นมุมมองในทางลบ ผู้หญิงจึงต้องคอยอำพรางรอยสักไว้ในร่มผ้า เนื่องจากไม่ต้องการผลกระทบจากอำนาจทางสังคมที่ถูกประกอบสร้าง

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น งานวิทยานิพนธ์เรื่อง ‘ประวัติศาสตร์สังคมสังเขป เรื่องการสักร่างกายมองในมิติของความสัมพันธ์ทางเพศสภาพ’ ของรัตนา อรุณศรี (วิทยานิพนธ์ระดับศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต (สตรีศึกษา) สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) มีคำตอบ


ประวัติศาสตร์การสัก

เริ่มต้นที่ การทำความเข้าใจรอยสักก่อนว่ามีความเป็นมาอย่างไร สิ่งนี้ถือเป็นวัฒนธรรมของมนุษย์ที่มีมาเป็นเวลาช้านาน มีจุดมุ่งหมายของการสักที่แตกต่างกันไปของแต่ละสังคม บางสังคมทำเป็นประเพณี หรือเป็นส่วนหนึ่งของการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา บางสังคมสักเพื่อทำให้เกิดฟังก์ชั่นเช่นเดียวกับเครื่องลางของขลัง เพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ บางสังคมสักเพื่อความสวยงามความชอบในเชิงสุทรียภาพ ซึ่งไม่ว่าจะด้วยความต้องการแบบใด ทุกรอยสักล้วนมีความหมายแฝงอยู่

หากจะสืบย้อนลึกลงไปว่า รอยสักเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อไร นักโบราณคดี สันนิฐานว่า การสักได้มีมาตั้งแต่ 8,000 ปีก่อน จากหลักฐานที่ขุดพบจากหลุมฝังศพโบราณของบรรดากษัตริย์อียิปต์ นอกจากนี้การยังถูกค้นพบว่ามีในหลายวัฒนธรรม หลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นชาวกรีกโบราณ ชาวเอสกิโม ชาวอาฟริกัน ชาวยิว ชาวมุสลิม ชาวคริสเตียน รวมทั้งชาวเอเชีย

สำหรับประเทศไทย มีการสันนิษฐานว่า การสักมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยด้วยความเชื่อเรื่องความอยู่ยงคงกระพัน กระทั่งมีบันทึกในสมัยอยุธยาของ ‘ลาลูแบร์’ ที่ระบุว่า แม้กระทั่งพระนารายณ์มหาราช รวมทั้งเสนาบดีผู้ใหญ่ก็นิยมสักลายเช่นกัน

ถึงอย่างนั้นก็ตามการสักในสมัยอยุธยานั้น มีความเชื่อมสัมพันธ์กับอำนาจรัฐอย่างน้อยสองประเภท คือ

1.การสักเลข บริเวณข้อมือ เพื่อแสดงถึงความเป็นไพร่ที่ต้องถูกเกณฑ์ทหาร ซึ่งทำต่อเนื่องกันมาจนถึงสมัยราชการที่ 4 สิ่งนี้คือสัญลักษณ์ที่แสดงถึงการมีสังกัดของไพร่ในยุคศักดินา

2.การสักหน้า พบว่า ในสัมยโบราณทางราชการจะสักหน้าผากบุคคลที่ถือว่าเป็นผู้ต้องโทษปาราชิก เพื่อแสดงให้รู้ว่าบุคคลนั้นเป็นนักโทษ ต่อมาการสักประเภทนี้ได้ถูกยกเลิกไปหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ. 2475

ทั้งนี้มุมมองเกี่ยวกับการสักของสังคมไทย ที่ไม่ได้มีอำนาจรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง ในช่วงเวลานั้น คือการสักเพื่อความอยู่ยงคงกระพัน แสดงออกซึ่งความเป็นชาย และความเป็นกลุ่มก้อน

อย่างไรก็ตามประวัติศาสตร์รอยสักของผู้หญิงกับไม่ปรากฏให้เห็น มีแต่เพียงการกล่าวถึงในแง่ลบทั้งสิ้น มีการจัดวางให้ผู้หญิงเป็นผู้บ่อนทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของผู้มีรอยสักยันต์ ทำให้ของเสื่อม เช่น ข้อกำหนดว่า ผู้สักยันต์ห้ามรอดใต้ผ้าถุง ห้ามผู้หญิงนั่งทับ หรือนอนทับ และเมื่อผู้หญิงไทยเริ่มต้นที่จะสักบ้าง กลับพบแต่วาทกรรมใหม่ที่มองว่า เป็นผู้หญิงชั้นต่ำ เป็นคนไม่ดี หรือกระทั่งเป็นโสเภณี

กระแสการสักของผู้หญิงเริ่มต้นมาพร้อมกับกระแส Feminst ในสังคมตะวันตก ช่วงศตวรรษที่ 18-19 ซึ่งคุกรุ่นด้วยการเรียกร้องถึงการมีตัวตนของผู้หญิง เกิดความพยามยามแสดงตัวตนความเป็นผู้หญิงในพื้นที่สาธารณะ รวมทั้งการช่วงชิงพื้นที่การสัก ที่เดิมเคยถูกให้ค่าว่าเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นชายเพียงอย่างเดียว


สังคมไทยโบราณผู้หญิงถูกสักหน้า เพื่อประจานเล่นชู้และเล่นของ

‘รัตนา’ พบว่า ในสมัยอยุธยา การสักสำหรับผู้หญิงมีเพียงการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์เท่านั้น โดยมี 2 ประเภทคือ ถูกสักเพราะทำความผิด หรือถูกสักเพราะทำเดรัจฉานวิชาซึ่งเกี่ยวข้องกับอำนาจรัฐ

กรณีแรก จะมีการออกหมายสักหน้าผู้หญิงเพื่อประจานความผิดผู้หญิงที่มีชู้ ซึ่งระบุไว้ในกฎหมายตราสามดวง หากถูกจับได้ว่ามีชู้ จะถูกลงโทษโดยการประจาน และถูกจับโกนหัวเป็นเป็นลักษณะกากบาท นำขึ้นขาหย่างตระเวนรอบเมือง ถูกตีด้วยลวดหนัง หากถูกจับได้อีกว่ายังมีชู้อีก จะถูกประจานชั่วชีวิตโดยการสักรูปชายหญิงในท่าร่วมเพศไว้ที่แก้มทั้งสองข้าง หากสามียังรักอยู่ก็จะถูกสักด้วย ขณะที่ชายชู้ไม่ต้องรับโทษเนื่องจากมองว่า ผู้หญิงนั้นเป็นหญิงชั่ว แพศยาเอง

กรณีที่สอง คือการทำเสน่ห์ที่เรียกว่าลงนะหน้าทา คือการสักที่หน้าอก ท้องน้อย โคนขา บริเวณหัวหน่าวโดยผู้มีวิชา ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย หากถูกจับได้จะมีความผิด เพราะถูกมองว่าเป็นเดรัจฉานวิชา และในมิติทางพุทธศาสนาถือว่าสิ่งนี้เป็นของต่ำ การสักของผู้หญิงในลักษณะนี้จึงถือเป็นเรื่องที่ต่ำช้า

อย่างไรก็ตามในยุคโบราณเช่นเดียวกัน มีการค้นพบว่า หญิงชาวอียิปต์มีการสักบนหน้าท้องด้วยความเชื่อว่าการสักนี้จะช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด หรือจะก่อให้เกิดการตั้งครรถ์ได้ ขณะชนเผ่าเมารี ผู้หญิงจะนิยมสักที่ปากและคาง เพื่อแสดงออกถึงความเป็นชนเผ่า และสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพื่อสร้างแรงดึงดูดในการหาคู่


ยุคกลาง การสักในสังคมไทยมีความหมายกว้างขึ้น แต่ผู้หญิงยังไม่นิยม

เมื่อขยับเข้าสู่ยุคก่อนสมัยใหม่ สำหรับสังคมไทยคือช่วง รัชกาลที่ 4 จนถึงช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สถานภาพของผู้หญิงถูกยกระดับให้ดีขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากโลกตะวันตก มีการยกเลิกความเป็นสมบัติของผู้ชาย ยกเลิกกฎหมายที่ให้อำนาจผัวขายเมีย พ่อขายลูก ยกเลิกการสักเลข รวมทั้งยกเลิกการสักหน้าผู้หญิงเพื่อประจานความผิด

ขณะที่ความเชื่อเกี่ยวกับรอยสักยังคงผูกโยงอยู่กับเรื่องความคงกระพันชาตรี แต่ก็มีส่วนหนึ่งที่เริ่มขยายออกไปสู่ความเชื่อเรื่องเมตามหานิยม และการสักเพื่อบันทึกความทรงจำ เช่น กรมหลวงชุมพร ทรงสัก คำว่า ร.ศ.112 และตราด เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจเมื่อครั้งที่ไทยถูกอินโดจีน ฝรั่งเศส รุกราน ซึ่งทำให้ทหารเรือในยุคนั้นสักข้อความนี้เหมือนกันทุกคน

และเนื่องจากมีการแลกเปลี่ยนอารยธรรมระหว่างโลกตะวันตกและโลกตะวันออก เกิดสังคมทุนนิยมขึ้น รอยสักเองก็ถูกมองเป็นสินค้ามาขึ้น เช่นในยุโรป ผู้หญิงที่มีรอยสักจะถูกเลือกเป็นนักแสดงในคณะละครสัตว์ เพราะเห็นว่าเป็นการสร้างความแปลกประหลาดใจ สร้างแรงดึงดูดใจ

แต่สำหรับสังคมไทย การสักในหมู่ผู้หญิงยังไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากอำนาจของวาทกรรมที่สั่งสมและส่งต่อกันมาจากสังคมดั้งเดิมว่า ผู้ชายคือผู้นำ พื้นที่ของการสักนั้นจึงเป็นเพียงพื้นที่ของผู้ชาย


ยุคสมัยใหม่ - หลังสมัยใหม่ ผู้หญิงนิยมสักมากขึ้น แต่ยังถูกตีตราแบบเดิม

นับตั้งแต่หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมในปี 1920 ในโลกตะวันตะวันตก ผู้หญิงเริ่มมีบทบาททางสังคมมากขึ้น และหันมานิยมการสักมากขึ้น โดยเห็นว่ารอยสักนั้นเปรียบเหมือนกับการแต่งตาหน้า แต่งเนื้อตัวร่างกาย เป็นการเพิ่มค่าให้กับร่างกาย รอยสักสำหรับผู้หญิงถูกมองว่าเป็นเครื่องประดับแบบถาวร

ประกอบกันการเกิดขึ้นของกระแส Feminist ผู้หญิงเริ่มเรียกร้องถึงการมีตัวตนของตัวเอง เริ่มเข้าช่วงชิงพื้นที่การสักซึ่งแต่เดิมถูกจำกัดเฉพาะผู้ชาย แต่สำหรับสังคมไทย แม้ผู้หญิงจะนิยมสักตามแฟชั่นกันมากขึ้น แต่ทัศนคติของสังคมที่มีต่อผู้หญิงที่สักรอยสักยังคงเป็นไปในทางลบเช่นเดิม

ทั้งนี้เรื่องของการสักสำหรับผู้หญิงนอกจากจะเป็นการสร้างเอกลักษณ์ ยังมีมิติของสัญลักษณ์การต่อต้าน หรือความเป็นกบฏด้วย การสักของผู้หญิงถือว่าเป็น การใช้อำนาจในการนิยามตัวเอง และบางส่วนก็เป็นการต่อสู้ขัดขืนในสังคมชายเป็นใหญ่