CPJ ระบุในรายงานประจำปีที่เผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดี (15 ก.พ.) ว่า การสังหารผู้สื่อข่าวจะลดลงทั่วโลกเมื่อเทียบเป็นรายปี หากไม่มีการเสียชีวิตของผู้สื่อข่าวในสงครามอิสราเอลที่ยังดำเนินอยู่ในฉนวนกาซา
“ในเดือน ธ.ค. 2566 CPJ รายงานว่ามีผู้สื่อข่าวถูกสังหารในช่วง 3 เดือนแรกของสงครามอิสราเอล-กาซามากกว่าที่เคยถูกสังหารในประเทศเดียวตลอดทั้งปี” CPJ ระบุ
รายงานรวบรวมการรายงานเหตุเสียชีวิตของผู้สื่อข่าวจำนวน 77 คนที่เสียชีวิตในสงครามในฉนวนกาซาเมื่อปีที่แล้ว ขณะพวกเขากำลังปฏิบัติหน้าที่รายงานสถานการณ์ในสงคราม โดยในจำนวนผู้สื่อข่าวที่เสียชีวิต 77 รายคิดเป็นชาวปาเลสไตน์ 72 ราย ชาวเลบานอน 3 ราย และชาวอิสราเอล 2 ราย ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวที่เสียชีวิตที่เป็นชาวปาเลสไตน์คิดเป็นเกือบ 75% ของผู้สื่อข่าวทั้งหมดที่เสียชีวิตทั่วโลก
“สงครามครั้งนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในแง่ของภัยคุกคามต่อผู้สื่อข่าว” โจดี กินส์เบิร์ก ประธาน CPJ กล่าวกับสำนักข่าว Al Jazeera “สิ่งสำคัญที่ต้องจำเกี่ยวกับสงครามครั้งนี้คือ ผู้สื่อข่าวชาวกาซาเป็นผู้สื่อข่าวเพียงคนเดียวที่สามารถรายงานสิ่งที่เกิดขึ้นในฉนวนกาซาได้ ผู้สื่อข่าวต่างประเทศไม่สามารถเข้าไปได้ และไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไป ยกเว้นการเดินทางที่มีการควบคุมอย่างมาก ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของกองทัพอิสราเอล”
“ดังนั้นเราจึงต้องพึ่งพาผู้สื่อข่าว (ชาวปาเลสไตน์) ที่กำลังเสี่ยงชีวิตเพื่อนำเรื่องราวนี้มาให้เรา” กินส์เบิร์กกล่าวเสริม
เมื่อวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา องค์กรเสรีภาพสื่อ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในนิวยอร์ก ระบุว่า จำนวนผู้สื่อข่าวที่ถูกสังหารในสงครามฉนวนกาซามีเพิ่มขึ้นเป็น 85 ราย
ก่อนหน้านี้ CPJ ได้แถลงโจมตี “การประหัตประหาร” ผู้สื่อข่าวโดยกองกำลังอิสราเอล และทางองค์กรกำลังสืบสวนว่าผู้สื่อข่าวหลายสิบคนที่เสียชีวิตในความขัดแย้งในฉนวนกาซานั้น เกิดจากความจงใจที่ถูกตกเป็นเป้าหมายของทหารอิสราเอลหรือไม่ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น การสังหารผู้สื่อข่าวจะถือว่าเป็นการก่ออาชญากรรมสงคราม
กินส์เบิร์กกล่าวว่าเธอรู้สึก “ผิดหวัง… ที่มีความขาดความเป็นน้ำหนึ่งในเดียวกันในทางสาธารณะอย่างที่เราได้เห็น” ต่อผู้สื่อข่าวชาวปาเลสไตน์ในช่วงสงครามอิสราเอลที่กำลังดำเนินอยู่ เธอกล่าวอีกว่า “ความลังเล” ของชาติตะวันตกที่จะแสดงความเป็นน้ำหนึ่งในเดียวกันกับผู้ที่ตกเป็นเป้าและสังหารในฉนวนกาซานั้น “ไม่น่าแปลกใจเลย” เมื่อพิจารณาว่าอิสราเอลเป็น “ประเทศผู้ก่อปัญหาแบ่งแยกสื่อระหว่างประเทศ และนักการเมืองระหว่างประเทศมากกว่าสิ่งอื่นใด”
อย่างไรก็ดี กินส์เบิร์กเน้นย้ำว่า “ฉันคิดว่ามันสำคัญมากที่เราทำให้เพื่อนร่วมงานของเราในฉนวนกาซาและในภูมิภาครู้ว่าเรายืนเคียงข้างพวกเขา ว่าเราอยู่เคียงข้างพวกเขาเพื่อสนับสนุนพวกเขา เพื่อที่เราจะได้มั่นใจได้ว่าเสรีภาพของสื่อและผู้สื่อข่าว ไม่เพียงแต่ได้รับความคุ้มครองในช่วงเวลาสำคัญในฉนวนกาซาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงทั่วโลกในช่วงเวลาที่ผู้สื่อข่าวถูกคุกคามทุกแห่ง”
รายงานของ CPJ ในระดับทั่วโลกระบุว่า ยอดผู้เสียชีวิตของผู้สื่อข่าวที่ถูกสังหาร 99 ราย นับเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2558 และเพิ่มขึ้นเกือบ 44% จากตัวเลขก่อนหน้านี้ในปี 2565 รายงานยังะบุว่า การเสียชีวิตของผู้สื่อข่าวที่ลดลงมากที่สุดในปี 2566 นั้น มาจากการบันทึกข้อมูลในยูเครนและเม็กซิโก โดยทั้งสองประเทศมีอัตราการเสียชีวิตของผู้สื่อข่าวจากเดิม 13 รายไปเป็น 2 รายเท่านั้น
CPJ ระบุเสริมว่าอัตราการเสียชีวิตของผู้สื่อข่าวยังคงที่ในโซมาเลียและฟิลิปปินส์ อย่างไรก็ดี มีการออกคำเตือนว่าเม็กซิโก พร้อมด้วยฟิลิปปินส์และโซมาเลีย เป็น “หนึ่งในประเทศที่อันตรายที่สุดในโลกสำหรับสื่อมวลชน” โดยรายงานยังระบุอีกว่า “เมื่อสถานการณ์เลวร้ายลง หน่วยงานของรัฐสอดแนผู้สื่อข่าวและนักปกป้องสิทธิ และผู้สื่อข่าวจำนวนมากต้องออกจากบ้านและละทิ้งอาชีพของตนเนื่องจากความรุนแรง”
ในดินแดนปาเลสไตน์ แม้ว่าผู้สื่อข่าวจะไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ก็ตาม แต่พวกเขากลับต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่ทหารอิสราเอลจะโจมตีหรือจับกุมพวกเขา ทั้งนี้ สำนักงานสื่อของรัฐบาลกาซาระบุว่า เจ้าหน้าที่สื่อปาเลสไตน์อย่างน้อย 126 คนถูกสังหารนับตั้งแต่สงครามของอิสราเอลเริ่มต้นเมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ อย่างไรก็ดี ผู้สื่อข่าวชาวปาเลสไตน์กล่าวหาว่า อิสราเอลได้ละเมิดกฎหมายดังกล่าวในหลายครั้งโดยกองกำลังอิสราเอลได้ทำการมุ่งเป้าไปที่สื่อมวลชน
“เป็นเรื่องสำคัญมากที่การสังหารเหล่านี้จะต้องถูกสอบสวนอย่างละเอียดถี่ถ้วน และผู้ที่รับผิดชอบจะต้องรับผิดชอบ” กินส์เบิร์กกล่าวกับสำนักข่าว Al Jazeera พร้อมกันนี้ เธอเน้นย้ำว่าองค์กรของเธอกำลังทำงานเพื่อบันทึกการโจมตีผู้สื่อข่าวในฉนวนกาซา ซึ่งต่อมาสามารถใช้เป็นหลักฐานและนำเสนอต่อหน่วยงานต่างๆ เช่น ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลอาญาระหว่างประเทศได้
ที่มา: