ไม่พบผลการค้นหา
มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เตรียมเปิดการแสดงโขนรามเกียรติ์ ตอน 'สืบมรรคา' ในวาระพิเศษที่ยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนการแสดงโขนไทยเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ โดยเป็นการจัดแสดงรูปแบบโขนหลวง และความพิเศษอีกมากมายทั้งฉาก และเนื้อหา ตระการตา

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติเป็นประจำทุกปี และนับเป็นวาระพิเศษที่องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนการแสดงโขนไทย (KHON: MASKED DANCE DRAMA IN THAILAND) เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity) โดยถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของไทยรายการแรกที่ได้รับการขึ้นทะเบียน เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2561 ที่ผ่านมา

โดยการแสดงในครั้งนี้ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เลือกบทโขนรามเกียรติ์ ตอน “สืบมรรคา” มาจัดแสดงตามรูปแบบโขนหลวง ผสานกับความตระการตาของฉากเทคนิคที่พิเศษกว่าทุกปีที่ผ่านมา 

ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ได้กล่าวถึงความพิเศษของการแสดงโขนครั้งนี้ไว้ว่า การแสดงในตอนสืบมรรคานี้ จะมีเนื้อหาสนุกสนาน หลากรส เรื่องราวคือพระรามได้มอบหมายให้หนุมานเดินทาง เพื่อสืบหาเส้นทางเพื่อที่จะยกทัพไปบุกเมืองลงกา โดยไฮไลท์ของตอนนี้คือการผจญภัยไปในที่ต่างๆ ของหนุมาน ซึ่งถือเป็นพระเอกของตอนนี้ ที่จะต้องไปเจอตัวละครใหม่ๆ เช่น นกสัมพาที นางผีเสื้อสมุทร นางอังกาศตไล ยักษ์ปักหลั่น ซึ่งหนุมานต้องสู้กับตัวละครเหล่านี้ทีละด่าน กลายเป็นฉากต่างๆ ที่ตระการตา แฟนตาซี และสนุกสนาน

ขณะที่อีกหนึ่งสิ่งที่น่าจับตามองคือเครื่องแต่งกายของตัวละครที่แปลกตากว่าตอนอื่นๆ เช่น ทศกัณฐ์ในตอนนี้จะมีหน้าสีทอง มีผ้าคล้องไหล่ พวงมาลัยคล้องพระกรขวา และ พัดด้ามจิ้วจันทน์ที่ใช้สะบัดประกอบท่ารำ รวมถึงจะได้ชมกระบวนรำฉุยฉายทศกัณฐ์ลงสวนที่สวยงาม แสดงความเจ้าชู้ยักษ์ของตัวทศกัณฐ์ที่เข้าไปเกี้ยวพาราสีนางสีดา 

แถลงการแสดงโขนแถลงการแสดงโขน

ด้าน ดร.สุรัตน์ จงดา ผู้เขียนบท และกำกับการแสดง กล่าวว่า สำหรับการแสดงตอนนี้เป็นตอนที่มีความสนุกสนาน หลากรส และเต็มไปด้วยสีสัน มีการทำฉากเทคนิคให้พิเศษกว่าทุกปีที่ผ่านมา แฟนตาซีมากกว่าเดิม และจะได้เห็นหนุมานผจญภัยที่ด่านต่างๆ จนถึงเมืองลงกา รวมถึงยังมีตัวละครใหม่ที่จะปรากฎเฉพาะตอนนี้เท่านั้น เช่น นางอังกาศตไล เป็นนางยักษ์ผู้หญิง ที่มีลักษณะท่าทางคล้ายผู้ชาย โดยจะห่มสไบ แต่นุ่งโจงกระเบน ด้วยลักษณะคล้ายทอม นางอังกาศตไล จึงโดนหนุมานแกล้งต่างๆ นานา กลายเป็นฉากที่เรียกเสียงหัวเราะให้กับคนดูแน่นอน

แถลงการแสดงโขนการแสดงโขน


ก้าวต่อไปของโขนไทย หลังขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางภูมิปัญญา

ดร.อนุชา ทีรคานนท์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงกรณีที่โขนได้รับการยอมรับด้วยการจารึกชื่อเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ของมวลมนุษยชาติ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนควรจะภาคภูมิใจ เพราะว่าชุมชนของโขน ประกอบด้วย ผู้แสดง ผู้ปฏิบัติ ช่างในสาขาต่างๆ ที่มีส่วนร่วมในการทำฉากก็ดี ทำหัวโขนก็ดี ทำเครื่องประดับ-เครื่องแต่งกาย บุคคลเหล่านี้คือผู้ที่ถือครองมรดกทางวัฒนธรรมชิ้นนี้เอาไว้ แต่ในขณะเดียวกันเนื่องจากว่าโขน เป็นการแสดง ดังนั้นเมื่อเป็นการแสดงแล้วมันจะอยู่ไม่ได้หากปราศจากผู้ชม เพราะฉะนั้นการที่เราได้รับการจารึกชื่อกับยูเนสโกแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าโขนจะอยู่รอดตลอดไป โขนจะอยู่รอดได้ก็ต่อเมื่อมีผู้ชม

ขณะนี้ทางกระทรวงวัฒนธรรม มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ก็ได้พยายามที่จะสร้างโปรดักชั่นโขนเพื่อที่จะนำเสนอสิ่งที่สวยงาม และดีที่สุดให้กับประชาชนชาวไทย ดังนั้นก็เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่จะมาเป็นส่วนหนึ่งของโขน ด้วยการเป็นผู้ชมที่ดี เพราะฉะนั้นถามว่า อนาคตโขนจะอยู่ได้หรือไม่ ผมตอบไม่ได้ เพราะว่าเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่จะต้องมาบริโภคมรดกทางวัฒนธรรมชิ้นนี้ร่วมกัน และร่วมกันหวงแหนการเป็นเจ้าของ

นอกจากนี้ ดร.อนุชา ยังกล่าวด้วยว่า การขึ้นทะเบียนหรือว่าจารึกชื่อเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ มันจะไม่ได้อยู่ถาวรตลอดไปได้ หากปราศจากการสืบทอด และการสืบทอดนั้นมันจะต้องทำให้มรดกทางวัฒนธรรมชิ้นนี้มันมีชีวิต ไม่ได้หมายถึงการเอาไปอนุรักษ์ไว้ในวิดีโอ เทป ไว้ในยูทูบ หรือสื่ออย่างใดอย่างหนึ่ง แต่มันต้องทำการแสดงแล้วก็มีผู้ชม มันถึงจะอยู่ต่อไปได้

โดยในทุกๆ 6 ปี จะมีการพิจารณาการขึ้นทะเบียนมรดกโลก ดังนั้นทางเราจึงต้องทำรายงานนำเสนอต่อยูเนสโกว่าเราได้ทำการสงวนรักษา เพราะว่าการขึ้นทะเบียนอันนี้มันต่างจากมรดกโลก ซึ่งคนละอนุสัญญากัน สำหรับภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้นี้ ในอนุสัญญาเราใช้คำว่า Safeguarding ซึ่งหมายถึงการสงวนรักษา ซึ่งการสงวนรักษาต่างจากการอนุรักษ์ทั่วไป คือไม่ได้เก็บเอาไว้แช่ตู้เย็น แต่หมายถึงว่าการทำให้มันมีชีวิตอยู่ นั่นแปลว่ามันต้องได้รับการซ้อม การสืบทอด มีผู้ชม มีผู้ผลิตอยู่ตลอด

การแสดงโขน

จริงๆ โขนเองก็ปรับตัวมาตลอด โขนที่เราเห็นทุกวันนี้ก็เป็นรูปแบบที่ถูกปรับเปลี่ยนมาแล้ว เราพูดได้เต็มปากว่านี่ไม่ใช่โขนแบบอยุธยา หรือโขนแบบต้นกรุงฯ เอาชัดๆ เลย เมื่อก่อนโขนใช้ผู้ชายเล่นล้วน แต่ตอนนี้มีทั้งผู้หญิงและผู้ชาย เมื่อก่อนนักแสดงที่เล่นเป็นพระลักษมณ์ พระราม ก็มีการใส่หัวโขนปิดหน้าตลอด แต่เมื่อรัชกาลที่ 6 ก็มีการเปิดหน้า สมัยก่อนเล่นที่ลานไม่มีแสงเสียง ปัจจุบันก็มีโปรดักชั่น มีเรื่องของเทคนิคอะไรเข้ามาเกี่ยวข้อง ในขณะเดียวกันเราก็ไม่ได้ปิดกั้นว่าการสืบทอดมันจะต้องเป็นรูปแบบนี้อย่างเดียว มันอาจจะมีการสร้างสรรค์ การต่อยอดไปในรูปแบบอื่นด้วยก็ได้ แต่ว่า ณ ตอนนี้ เรามีรูปแบบนี้ที่เราสงวนรักษาอยู่ เรามีการสืบทอดกันอยู่ แล้วมันก็เป็นที่ชื่นชมของคนทั่วไป


สถิติผู้ชม - คนแสดงโขน มีแนวโน้มที่ดีขึ้น

สำหรับสถิติเด็กรุ่นใหม่ที่เขามาออดิชั่นโขน ดร.อนุชา กล่าวว่า จากปีแรกที่มีการเปิดให้ออดิชั่นคือย้อนไปเมื่อประมาณ 8 ปีที่แล้ว มีคนมาสมัครประมาณ 30 คน แต่ปีล่าสุดมีคนมาออดิชั่นถึง 789 คน ก็ถือเป็นแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นทุกปี และที่สำคัญคือเด็กที่มาร่วมออดิชั่น ไม่ได้มาจากวิทยาลัยนาฏศิลป์อย่างเดียว แต่มากจากหลากหลายโรงเรียน ทั้งในกรุงเทพฯ และโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลในต่างจังหวัด ซึ่งเขาก็อยากจะมีส่วนร่วมกับการแสดงโขน ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่น่าดีใจว่า แม้ว่าเขาจะไม่ได้เล่นเป็นตัวเอกแต่คนที่มาร่วมออดิชั่น ส่วนใหญ่ก็จะได้เป็นส่วนหนึ่งของโปรดักชั่นไม่ว่าจะเป็นบทใดก็ตาม ในส่วนของตรงนี้ก็ทำให้เห็นว่า โขนยังมีผู้ถือครองอยู่ทั่วประเทศ ไม่ได้กระจุกตัวอยู่แค่วิทยาลัยนาฏศิลป์อย่างที่คนทั่วไปเข้าใจ

เราพูดได้เลยว่าทุกๆ ปีจะมีผู้ชมเพิ่มขึ้น มีการเพิ่มจำนวนรอบมากขึ้นทุกปี เพราะว่ามันก็จะปากต่อปาก และปัจจุบันโซเชียลมีเดียก็ช่วยให้เราทำความเข้าใจกับคนได้มากขึ้น ว่าโขนไม่ได้น่าเบื่ออย่างที่ทุกคนคิด ความคาดหวังแรกของหลายคนที่ซื้อตั๋วเข้ามาดูโขนคือมาหลับแต่พอมาจริงๆ แล้วมันมีอะไรมากกว่าที่เขาคิด

แถลงการแสดงโขน

สำหรับการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอน “สืบมรรคา” จะเปิดการแสดงระหว่างวันที่ 6 พฤศจิกายน ถึง 5 ธันวาคม 2562 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย สามารถซื้อบัตรเข้าชมได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ที่ไทยทิคเก็ต เมเจอร์ ทุกสาขา หรือ www.thaiticketmajor.com หรือสามารถติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวทั้งหมดได้ทางเว็บไซต์ www.khonperformance.com และเฟซบุ๊ก Khon Performance โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ