ไม่พบผลการค้นหา
รัสเซียกำลังพยายามกลับเข้าร่วมเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติอีกครั้ง ในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ซึ่งถูกมองว่าเป็นบททดสอบสำคัญต่อจุดยืนระหว่างประเทศของรัสเซีย หลังจากรัสเซียถูกขับออกจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติไป เมื่อช่วงเดือน เม.ย.ปีที่แล้ว เนื่องจากการยกกองกำลังของตัวเองเข้ารุกรานยูเครน

อย่างไรก็ดี นักการทูตรัสเซียกำลังพยายามในตอนนี้ ที่จะทำให้ประเทศของตัวเองได้รับเลือก ให้กลับเข้ามาสู่การเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ต่ออีกครั้งใหม่เป็นเวลา 3 ปี โดยสำนักข่าว BBC รายงานว่า ทางสำนักข่าวได้รับสำเนารายงานแสดงจุดยืน ที่รัสเซียกำลังเผยแพร่ไปยังสมาชิกสหประชาชาติเพื่อขอการสนับสนุนจากทุกชาติ การลงคะแนนเสียงที่จะมีขึ้นในเดือนหน้า

ในเอกสารที่ BBC รายงานถึงระบุว่า รัสเซียสัญญาว่าจะพวกเขาค้นหา “แนวทางแก้ไขที่เพียงพอสำหรับปัญหาสิทธิมนุษยชน” และพยายามหยุดยั้งไม่ให้คณะมนตรีนี้กลายเป็น “เครื่องมือที่สนองเจตจำนงทางการเมืองของกลุ่มประเทศกลุ่มหนึ่ง” ซึ่งเข้าใจว่าเป็นการอ้างถึงชาติตะวันตก นอกจากนี้ นักการทูตรัสเซียยังกล่าวว่า รัสเซียหวังว่าจะได้รับความน่าเชื่อถือในระดับนานาชาติอีกครั้ง หลังจากถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนในยูเครน และภายในเขตแดนของตัวเอง

หลักฐานล่าสุดของการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัสเซีย ได้รับการนำเสนอต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เมื่อช่วงวันจันทร์ที่ผ่านมา (25 ก.ย.) ซึ่งเป็นรายงานที่ได้รับมาจากคณะกรรมการสอบสวนในยูเครน ทั้งนี้ เอริก โมส ประธานคณะกรรมาธิการชุดดังกล่าว กล่าวว่ายังมีหลักฐานอย่างต่อเนื่อง เกี่ยวกับอาชญากรรมสงคราม รวมทั้งการทรมาน การข่มขืน และการโจมตีพลเรือน ที่รัสเซียก่อขึ้นในยูเครน

ในรายงานอีกฉบับ ที่เผยแพร่ออกมาเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน โดย มาเรียนา คัตซาโรวา ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติประจำรัสเซีย กล่าวว่า สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในรัสเซีย “ย่ำแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด” เช่นเดียวกันกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ต่อผู้วิพากษ์วิจารณ์การรุกรานยูเครน ซึ่งตกอยู่ภายใต้การจับกุมตามอำเภอใจ การทรมาน และการปฏิบัติที่โหดร้ายโดยทางการรัสเซีย

คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติตั้งอยู่ในนครเจนีวา และมีสมาชิกทั้งหมด 47 ชาติ โดยแต่ละชาติได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี โดยในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 10 ต.ค. รัสเซียจะแข่งขันกับแอลเบเนียและบัลแกเรีย เพื่อชิงที่นั่ง 2 ที่นั่งในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ที่สงวนไว้สำหรับประเทศในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก

การลงคะแนนเสียงต้องอาศัยคะแนนจากสมาชิกสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติทั้งหมด 193 ชาติในนครนิวยอร์ก โดยนักการทูตในที่ทำการใหญ่สหประชาชาติต่างกล่าวกันว่า รัสเซียกำลังรณรงค์อย่างจริงจัง เพื่อเชิญชวนให้ชาติอื่นๆ ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่ตัวเอง ด้วยการเสนอข้าวและอาวุธให้ประเทศเล็กๆ เป็นการตอบแทนคะแนนเสียงของพวกเขา และด้วยเหตุนี้ นักการทูตจึงกล่าวกันว่าเป็นไปได้อย่างยิ่ง ที่รัสเซียจะกลับเข้าสู่ที่นั่งในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้อีกครั้ง

เอกสารแสดงจุดยืนของรัสเซียที่เผยแพร่ในสหประชาชาติ ระบุว่า รัสเซียต้องการ "ส่งเสริมหลักการของความร่วมมือ และการเสริมสร้างการเจรจาที่สร้างสรรค์ ด้วยการเคารพซึ่งกันและกันในคณะมนตรี เพื่อค้นหาแนวทางแก้ไขที่เพียงพอ สำหรับประเด็นสิทธิมนุษยชน"

รัสเซียยังระบุด้วยว่า ประเด็นหลักของรัสเซียที่จะใช้ในการเป็นสมาชิกนั้น จะเป็นไป "เพื่อป้องกันแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นในการเปลี่ยนคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ให้เป็นเครื่องมือที่ตอบสนองเจตจำนงทางการเมืองของกลุ่มประเทศกลุ่มหนึ่ง" พร้อมระบุว่า รัสเซียไม่ต้องการให้กลุ่มดังกล่าว "ลงโทษรัฐบาลที่ไม่ภักดีสำหรับนโยบายที่เป็นอิสระและอยู่ภายนอก"

ก่อนหน้านี้ รัสเซียถูกลงมติขับให้พ้นจากการเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ในเดือน เม.ย.. 2565 โดยมีสมาชิกสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ 93 ชาติลงคะแนนเห็นชอบ 24 ชาติไม่เห็นชอบ และ 58 ชาติงดออกเสียง โดบในรายงานแสดงจุดยืนของรัสเซีย รัสเซียได้กล่าวโทษ "สหรัฐฯ และชาติพันธมิตร" ที่ทำให้รัสเซียสูญเสียสมาชิกภาพคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติไป

รายงานในเดือนนี้โดยกลุ่มรณรงค์ 3 กลุ่ม ได้แก่ UN Watch, มูลนิธิฮิวแมน ไรท์ส ฟาวเดชั่น และศูนย์ราอูล วอลเลนเบิร์กเพื่อสิทธิมนุษยชน สรุปว่า รัสเซียไม่มีคุณสมบัติเหมาะสม สำหรับการเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ “การเลือกรัสเซียเข้าสู่คณะมนตรีในขณะนี้ ในขณะที่การทำสงครามกับยูเครนยังคงดำเนินอยู่ จะเป็นผลเสียต่อสิทธิมนุษยชน และจะส่งข้อความว่าสหประชาชาติไม่จริงจัง กับการถือเอารัสเซียมารับผิดชอบต่ออาชญากรรมในยูเครน” รายงานระบุ


ที่มา:

https://www.bbc.com/news/world-europe-66919358?fbclid=IwAR3mJQ4BXLwj-uO3pWp_7nAmTRtVnijPDq7FMLgx551LesAACNp1-N2xFOc