ไม่พบผลการค้นหา
วอยซ์ เปิดรายชื่อผู้แทนอุตสาหกรรม และเป้าหมาย 3 ระยะในการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ของ 11 อุตสาหกรรม พวกเขาเป็นใคร เชี่ยวชาญงานแต่ละด้านมากน้อยแค่ไหน มีทิศทางการทำงานอย่างไร และประเทศจะได้ประโยชน์อะไรจากนโยบายนี้

ในยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่มีเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 หนึ่งในนโยบายที่รัฐบาลตั้งเป้าผลักดันอย่างมาก คือ นโยบาย ‘1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์’ โดยประกาศว่าจะยกระดับทักษะคนไทยให้เป็นแรงงานทักษะสูง 20 ล้านคน สร้างรายได้อย่างน้อย 200,000 บาทต่อปี และสร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง 

ท่ามกลางความงุนงงของสังคมกับคำประกาศอันอลังการ นโยบายนี้ก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง หลังมีการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เมื่อ 3 ตุลาคม 2566 โดยมี เศรษฐา ทวีสิน เป็นประธานฯ มี แพทองธาร ชินวัตร เป็นรองประธานฯ รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ประเทศไทยถึง 11 อุตสากรรม 

หน้าที่และอํานาจของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ  6 ด้านหลักๆ ดังนี้ 

  1. กําหนดยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ จัดทํานโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ สนองขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี
  2. เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อกําหนด นโยบายและทิศทางด้านการเงิน การคลัง การลงทุน รวมทั้งมาตรการและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ในส่วนที่เกี่ยวกับหรือเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ
  3. เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในการจัดให้มี ปรับปรุงหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ
  4. เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการดําเนินงาน ตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยยุทธศาสตร์ ซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ รวมทั้งมาตรการเพื่อส่งเสริมความร่วมมือและประสานงานระหว่างส่วน ราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศใน การส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ทั้งในและต่างประเทศ
  5. รายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบและ พิจารณามีมติเกี่ยวกับดําเนินการของหน่วยงานเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายและ แผนระดับชาติว่าด้วยยุทธศาสตร์ ซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ
  6. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทํางาน หรือที่ปรึกษาเพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ
  7. ปฏิบัติงานอื่นตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

วอยซ์ เปิดรายชื่อผู้แทนอุตสาหกรรม และเป้าหมาย 3 ระยะในการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ของ 11 อุตสาหกรรม พวกเขาเป็นใคร เชี่ยวชาญงานแต่ละด้านมากน้อยแค่ไหน มีทิศทางการทำงานอย่างไร และประเทศจะได้ประโยชน์อะไรจากนโยบายนี้ เพื่อเป็นหมุดหมายในการจับตาความเป็นไปได้หลังจากนี้ 

386858684_1780323192408142_5911121405313238224_n.jpg
1. อาหาร - ชุมพล แจ้งไพร 

ชุมพล แจ้งไพร หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘เชฟชุมพล’ผู้เชี่ยวชาญอาหารไทย เขาคลุกคลีกับงานในร้านอาหารตั้งแต่ 11 ขวบ กระทั่งอายุ 18 ปี มีโอกาสไปทำงานร้านอาหารไทยในเดนมาร์ก จนมีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ เจ้าของรางวัลชนะเลิศรายการแฟนพันธุ์แท้อาหารไทย (2549) สุดยอดเชฟกระทะเหล็กอาหารไทย ในรายการเชฟกระทะเหล็ก (2555) และเจ้าของร้านอาหารไทยชื่อ R.HAAN (อาหาร) ระดับมิชลินสตาร์ 2 ดาว 2 ปีซ้อน (2563-2564) และเป็นผู้รังสรรค์อาหารเสิร์ฟบุคคลสำคัญมาแล้วมากมาย รวมถึงในเวทีเอเปค 2022 

ในฐานะตัวแทนผู้ขับเคลื่อน Soft Power สาขาอาหาร มีการวางเป้าหมายไว้ 3 ระยะ คือ

  • 100 วันแรก  สร้าง Thai Food Channel
  • 6 เดือนแรก สร้าง Thai Soft Power World Tour /  กองทุนซอฟต์พาวเวอร์ไทย /  Thai Food World Congress Bangkok 2024
  • 1 ปีแรก Thailand Food Intelligent Center (TFIC) /  โรงงานนวัตกรรมอาหารภูมิภาคของชุมชน / Best Thai Guide / Thai Food Series / Documentary

สิ่งที่ต้องการให้รัฐสนับสนุนคือ

  • บูรณาการทุกหน่วยงาน
  • สนับสนุนงบประมาณ 
  • ตรา พ.ร.บ. กองทุนการเงิน สนับสนุนธุรกิจ Soft Power
2. กีฬา - พิมล ศรีวิกรม์

พิมล ศรีวิกรม์ หรือ ‘บิ๊กเอ’ จบการศึกษาปริญญาตรี ด้านเศรษฐศาสตร์จาก University of Pennsylvania ปริญญาโท บริหารธุรกิจจาก University of California at Los Angeles (UCLA) สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันเป็นประธานที่ปรึกษานโยบายด้านกีฬาพรรคเพื่อไทย และนายกสมาคมเทควันโดแห่งประเทศไทย เขาคือผู้ที่คร่ำหหวอดในวงการกีฬามากว่า 20 ปี และเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ‘เทนนิส’ พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ นักกีฬาเทควันโด รุ่น 49 กิโลกรัม ให้สามารถคว้าเหรียญทองโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเหรียญแรกให้แก่ทีมเทควันโดชาติไทย

ด้วยความชอบกีฬาเป็นทุนเดิม เขาเข้าสู่วงการกีฬาในฐานะผู้ให้ทุนสนับสนุนแก่สมาคมเทควันโด เนื่องจากวงการเทควันโดในสมัยนั้นไม่ได้รับการสนับสนุนมากนัก โดยเขามองว่า เทคควันโดในไทยสามารถพัฒนาต่อได้ และได้ใช้ทักษะในยการบริหารจัดการอบย่างเป็นระบบ อาทิ การคัดตัวนักกีฬา ต้องโปร่งใสไม่มีระบบอุปถัมภ์ , นำวิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามาใช้ในการพัฒนา ดูแลด้านโภชนาและใช้นักจิตวิทยามาช่วยในการพัฒนานักกีฬา รวมถึงสนับสนุนศักยภาพคนทำงานที่มีฝีมือ อาทิ โค้ชเช (ชัชชัย ชเว) 

ในฐานะตัวแทนผู้ขับเคลื่อน Soft Power สาขากีฬา มีการวางเป้าหมายไว้ 3 ระยะ คือ

  • 100 วันแรก  รวบรวมองค์ความรู้และการจัดทำหลักสูตร และเพิ่มจํานวนและประสิทธิภาพของบุคคล ในวงการกีฬามวย
  • 6 เดือนแรก การส่งเสริมการจัดการแข่งขันมวยไทยทุกระดับ และประชาสัมพันธ์มวยไทยทั้งในเเละต่างประเทศ
  • 1 ปีแรก รับรองมาตรฐานสู่การสร้างรายได้ให้ประเทศ และกำกับ เร่งรัด ติดตาม ประเมินผล และรายงานผล

สิ่งที่ต้องการให้รัฐสนับสนุนคือ

  • ความร่วมมือกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ท่องเที่ยวและกีฬา, การต่างประเทศ, แรงงาน, การศึกษา, วัฒนธรรม, กลาโหม
  • สนับสนุนงบประมาณ
3. แฟชั่น - กมลนาถ องค์วรรณดี

กมลนาถ องค์วรรณดี หรือ ‘อุ้ง’ ผู้ประสานงานกลุ่ม Fashion Revolution ประเทศไทย เครือข่ายเคลื่อนไหวเพื่อแฟชั่นที่เป็นธรรมและยั่งยืน ซึ่งมีมากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก นักออกแบบสิ่งทอและที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์และความคิดสร้างสรรค์ เธอเรียนจบด้านสิ่งทอจาก Royal College of Art ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ปัจจุบันงานของเธอคือการผลักดันและสื่อสารให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคตระหนักรู้ถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่จะตามมาจากการบริโภคเสื้อผ้าแบบมาเร็ว ไปเร็ว ทิ้งเร็ว อย่าง ‘Fast Fashion’ พร้อมสนับสนุนกระบวนการผลิตในท้องถิ่นและเรียกร้องความโปร่งใส และขับเคลื่อนต่อต้านการกดขี่แรงงานในอุตสาหกรรมแฟชั่น

ในฐานะตัวแทนผู้ขับเคลื่อน Soft Power สาขาแฟชั่น มีการวางเป้าหมายไว้ 3 ระยะ คือ

  • 100 วันแรก ดันแบรนด์ที่พร้อมสู่เวทีโลก, พัฒนาคน ความรู้ทรัพย์สินทางปัญญา, พัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์เทรนด์ตลาดโลก, สร้างเครือข่ายห่วงโซ่คุณค่า, ส่งเสริมนวัตกรรมแบบบูรณาการ, การตลาดเน้นคุณค่า & Public awareness, สร้างแรงจูงใจด้าน Sustainability
  • 6 เดือนแรก สร้างกระแสแบรนด์ Local และเพิ่มช่องทางจําหน่าย, กองทุนสําหรับธุรกิจแฟชั่น, พัฒนาหลักสูตร ยกระดับวิชาชีพและให้ทุนการศึกษา, ทําฐานข้อมูล พัฒนาระบบนิเวศ, สนับสนุนการจัดแสดง/สัมมนา
  • 1 ปีแรก จัด Expo & พาไปงานจัดแสดงนานาชาติ, ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจแฟชั่น, ศูนย์บ่มเพาะสร้างสรรค์ใกล้บ้าน, Matching กับแบรนด์สากล, เชื่อมโยงความรู้ช่างฝีมือกับคนรุ่นใหม่, Sustainable materials innovation hub, พัฒนาเทคโนโลยีที่ต้นน้ำ

สิ่งที่ต้องการให้รัฐสนับสนุนคือ

  • ปรับโครงสร้างองค์กรส่งเสริมแฟชั่น
  • ประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการตลาดเชิงรุก
  • สนับสนุนแหล่งทุนและสิทธิประโยชน์ทางภาษี
  • สนับสนุนงบวิจัย ปรับหลักสูตร Reskill
  • สนับสนุนที่ปรึกษาด้านธุรกิจ สร้างเครือข่าย
  • ทําฐานข้อมูลอุตสาหกรรมและทุนวัฒนธรรม
4. เฟสติวัล- ชฎาทิพ จูตระกูล

ชฎาทิพ จูตระกูล CEO Siam Piwat Group จบปริญญาตรีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ และหลักสูตร Oil and Gas Insurance ที่ Chartered Insurance Institute สหราชอาณาจักร หญิงไทยคนแรกถูกจารึกชื่อในหอเกียรติยศของสภาการค้าปลีกโลก World Retail Hall of Fame 2019 ในฐานะผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงและมีอิทธิพลต่อการกำหนดทิศทาง และการขับเคลื่อนธุรกิจค้าปลีกในระดับโลก

ในฐานะตัวแทนผู้ขับเคลื่อน Soft Power สาขาเฟสติวัล มีการวางเป้าหมายไว้ 2 ระยะ คือ

  • 100 วันแรก สร้างการรับรู้งานเฟสติวัลของไทยสู่สายตาชาวโลก (Nationwide Events / Signature Events), มีงานระดับโลกมาจัดในประเทศไทย 3,000 กิจกรรมโดยรัฐ-เอกชนกระจายทั่วประเทศ
  • 6 เดือน ถึง 1 ปี  ไทยติด 1 ใน 10 ประเทศ สุดยอดเฟสติวัลโลก, จัด Event และงานเฟสติวัล 10,000 กิจกรรม 365 วันโดยรัฐ-เอกชนทุกจังหวัด, จัด Signature Event และ World Event 20 กิจกรรม

สิ่งที่ต้องการให้รัฐสนับสนุนคือ

  • เตรียมความพร้อมเพื่อเป็นเจ้าบ้านที่ดี
  • แก้กฎหมาย ลดภาษี ปลดล็อคความคิดสร้างสรรค์
  • ตัั้ง One Stop Service Center
  • แพลตฟอร์มกลาง One Content-One Goal-One Communication Strategy
  • ดึง World Class Events มาไทย
5. ท่องเที่ยว - มาริสา สุโกศล หนุนภักดี

มาริสา สุโกศล หนุนภักดี คือ ผู้บริหารกลุ่มโรงแรมสุโกศล จบปริญญาตรีจาก Columbia University  รับหน้าที่ดูแลแทบทุกด้านของโรงแรมในเครือสุโกศล รวมทั้ง ‘เดอะ สยาม’ เธอสวมหมวกหลายใบทั้งการเป็นศิลปิน เป็นประธานฝ่ายสิ่งแวดล้อมของสมาคมโรงแรมไทย รณรงค์ให้ภาคธุรกิจโรงแรมรักษาสิ่งแวดล้อม จนได้รับรางวัล ‘สุดยอดสตรีนักธุรกิจอนุรักษ์โลกปี 2558’ และเป็น ‘นายกสมาคมโรงแรมไทย’

ในฐานะตัวแทนผู้ขับเคลื่อน Soft Power สาขาท่องเที่ยว มีการวางเป้าหมายไว้ 3 ระยะ คือ

  • 100 วันแรก ทำแพลตฟอร์มเชื่อมโยง Talent กับผู้ประกอบการ, Tourism Entrepeneur Outreach Program, ทำ Service Brand ของประเทศ
  • 6 เดือนแรก ส่งเสริม Online - Digital content ในต่างประเทศ, International travel Blogger's Exchange, ตั้งศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคลากรการท่องเที่ยว, ดึงงาน International Travel มาจัดที่ไทย
  • 1 ปีแรก Thailand Tourism Data Center, ดันเมืองท่องเที่ยวไทยเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ (UCCN),  พัฒนาแหล่งท่องเทียวยั่งยืนตาม GSTC,  เป็น Creative Powerhouse โลก

สิ่งที่ต้องการให้รัฐสนับสนุนคือ

  • ปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรค
  • พัฒนากฎหมายเพื่อจัดระเบียบเขตอนุรักษ์เพื่อการท่องเที่ยว
  • บูรณาการทุกหน่วยงาน
  • ตั้งหน่วยงานเชื่อมโยงสถานศึกษากับธุรกิจท่องเที่ยว
6. ภาพยนตร์-หม่อมราชวงศ์ เฉลิมชาตรี ยุคล

หม่อมราชวงศ์ เฉลิมชาตรี ยุคล หรือ ‘คุณชายอดัม’ โอรสในหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล หรือ ‘ท่านมุ้ย’ จบปริญญาตรีคณะมนุษยศาสตร์สาขาภาพยนตร์และโทรทัศน์ที่ Bond University ประเทศออสเตรเลีย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายคอนเทนต์ Viu บริษัท พีซีซีดับเบิลยู โอทีที (ประเทศไทย) จำกัด 

ผลงานภาพยนต์และทีวีซีรีส์ อาทิ สารวัตรหมาบ้า (2556) ผีห่าอโยธยา (2558) ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เดอะซีรีส์ ภาคองค์ประกันหงสา (2560) ตีสามเดอะซีรีส์ ตอน Viral Vlogger (2560)

ในฐานะตัวแทนผู้ขับเคลื่อน Soft Power สาขาภาพยนตร์ มีการวางเป้าหมายไว้ 3 ระยะ คือ

  • 100 วันแรก  ปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวิดิทัศน์, จัดทํามาตรฐานความปลอดภัยกองถ่าย, โครงการ Shot in Thailand, ประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์และซีรีส์ไทยทั้งในและต่างประเทศ
  • 6 เดือนแรก Thailand Movie Database, ขึ้นทะเบียน Modeling, Talent Agency,  สนับสนุนการแปลเป็นภาษาต่างประเทศ, ลดค่าใช้จ่ายการฉายในโรงภาพยนตร์, ลดหย่อนภาษีเพื่อสปอนเซอร์ภาพยนตร์และซีรีส์ไทย
  • 1 ปีแรก ตั้ง 20 กองทุนและลดหย่อนภาษี, ภาพยนตร์และซีรีส์ไทย สู่ 100 เทศกาลทั่วโลก, จัดเทศกาลภาพยนตร์ระดับเอเชีย, สนับสนุนการออกบูธตลาดภาพยนตร์และซีรีส์ในต่างประเทศ

สิ่งที่ต้องการให้รัฐสนับสนุนคือ

  • ตั้งคณะทํางานด้านความปลอดภัยและมาตรฐานการทํางานถ่ายทํา
  • Thailand Movie Database (หอภาพยนตร์แห่งชาติ)
  • สนับสนุนงบด้านการลงทุน การแปล ค่าเดินทาง ประชาสัมพันธ์
  • ลดหย่อนภาษี
7. หนังสือ-จรัญ หอมเทียนทอง 

จรัญ หอมเทียนทอง เจ้าของสำนักพิมพ์แสงดาว และอดีตนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย คลุกคลีอยู่กับวงการหนังสือมามากกว่า 40 ปี หนึ่งในบุคคลสำคัญที่มีบทบาทในวงการหนังสือของไทย เขามีเป้าหมายที่จะพัฒนาการอ่านของเยาวชน และผู้คนในสังคม ด้วยกิจกรรมและความเคลื่อนไหวเชิงสร้างสรรค์

ในฐานะตัวแทนผู้ขับเคลื่อน Soft Power สาขาหนังสือ  มีการวางเป้าหมายไว้ 3 ระยะ คือ

  • 100 วันแรก Kick off ห้องสมุดรูปแบบใหม่ทั่วประเทศ, ตั้งสถาบันหนังสือและการอ่านแห่งชาติ, สนับสนุนร่วมงาน China Shanghai, International Children’s Book Fair 2023 (17-19 พ.ย.)
  • 6 เดือนแรก พัฒนาห้องสมุดและสถาบันหนังสือฯ, ร่วมงาน Taipei International Book Exhibition 2024, สนับสนุนงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติและสัปดาห์หนังสือนานาชาติ
  • 1 ปีแรก ห้องสมุดรูปแบบใหม่เปิดใช้งาน, สถาบันหนังสือฯ ก่อตั้งสําเร็จ, สนับสนุนร่วมงานหนังสือในต่างประเทศ, สนับสนุนการจัดงานหนังสือในไทย

สิ่งที่ต้องการให้รัฐสนับสนุนคือ

  • สนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาห้องสมุดรูปแบบใหม่ทั่วประเทศ
  • ตั้งสถาบันหนังสือและการอ่านแห่งชาติ
  • สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดและร่วมงาน Book fair
8. ศิลปะ-เสริมคุณ คุณาวงศ์

เสริมคุณ คุณาวงศ์ นักธุรกิจ ช่างภาพ และผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะ ผู้ก่อตั้งบริษัท ซีเอ็ม ออร์กาไนเซอร์ จำกัด (มหาชน) หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘ซีเอ็มโอ’ ผู้นำธุรกิจด้านการสร้างสรรค์ และบริหารจัดการอีเวนท์ชั้นนำแห่งภูมิภาคอาเซียน ผู้ก่อตั้งศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพฯ พิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมผลงานด้านประติมากรรมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ  เขาทำโครงการเกี่ยวกับงานศิลปะมากมาย รวมทั้งเป็น 1 ใน 7 ช่างภาพหลักที่บันทึกเหตุการณ์สำคัญในพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 

ผลงานที่โดนเด่นคือ การจัดฉาย Mapping บนกำแพงพระบรมมหาราชวัง ความยาว 200 เมตร เนื่องในโอกาส เฉลิมฉลองพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระชนมายุครบ 84 พรรษา, สร้างรูปแบบการแสดงแสง สี เสียง สื่อผสมในประเทศไทย โดยการกำกับและอำนวยการผลิตงาน ‘72 พรรษาเฉลิมหล้าจอมราชัน’ และ เป็นผู้บริหาร 8 พาวิลเลียนในงาน BOI FAIR 2011 และได้รับรางวัล 5 รางวัล จาก 11 รางวัล

ในฐานะตัวแทนผู้ขับเคลื่อน Soft Power สาขาศิลปะ  มีการวางเป้าหมายไว้ 3 ระยะ คือ

  • 100 วันแรก สร้างแพลตฟอร์ม Thailand Art Move
  • 6 เดือนแรก โครงการหอศิลป์แห่งชาติแห่งใหม่
  • 1 ปีแรก ASEAN ART CAPITAL, ส่งเสริมให้เกิด International Art Fair, จัด International Art Festival

สิ่งที่ต้องการให้รัฐสนับสนุนคือ

  • งบประมาณทําแพลตฟอร์ม และหอศิลป์แห่งชาติแห่งใหม่ (ร่วมกับเอกชน)
  • บูรณาการข้อมูลกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงพาณิชย์
  • จัดทํา Art Map โดยกระทรวงดิจิทัลฯ
  • รวบรวมงานศิลปะจากหน่วยงานรัฐและมหาวิทยาลัย
  • ลดภาษีอุปกรณ์งานศิลปะรวมถึงหนังสือศิลปะ เหลือ 5%
  • งดเว้นภาษีนําเข้างานศิลปะ
9. เกม-สิทธิชัย เทพไพฑูรย์

สิทธิชัย เทพไพฑูรย์ หัวเรือใหญ่ของสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทยหรือ Thai Game Software Industry Association (TGA) เขาคลุกคลีในอุตสาหกรรมเกมหลากหลายสาขามามากกว่า 20 ปี ทั้งในแง่นักพัฒนาและการเผยแพร่เกม  ปัจจุบันทำหน้าที่เป็นผู้พัฒนาเกมและที่ปรึกษาให้กับหน่วยงานราชการในประเทศไทย ทั้งยังเป็นวิทยากรในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง เขายังอยู่ในคณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิทัลสร้างสรรค์ในหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

ในฐานะตัวแทนผู้ขับเคลื่อน Soft Power สาขาเกม  มีการวางเป้าหมายไว้ 3 ระยะ คือ

  • 100 วันแรก ทบทวน พ.ร.บ.เกมและภาพยนตร์, ตั้งคณะทํางานร่าง พ.ร.บ.เกม, ทําฐานข้อมูลอุตสาหกรรมเกมในไทย, รวมข้อมูลการใช้เงินรัฐที่เกี่ยวกับเกม, ประชาสัมพันธ์การส่งเสริมอุตสาหกรรมเกม, จัดกิจกรรมเชื่อมโยงคนในอุตสาหกรรมเกม
  • 6 เดือนแรก กําหนดนโยบายการให้ทุนอุตสาหกรรมเกม, สร้างการรับรู้ถึงวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับเกม, สนับสนุนทุนจัดงาน Game Jam, วิจัยเพื่อศึกษามูลค่าทางเศรษฐกิจและพฤติกรรมผู้บริโภค
  • 1 ปีแรก ดึงงานแสดงสินค้าและการแข่งเกมระดับโลกมาจัดที่ไทย, ทําปฏิทินแข่งเกมประจําปีในทุกระดับ, มีแพลตฟอร์มระดมทุน, ทําหลักสูตรเพื่อ Upskill, Reskill, นําเสนอโปรโมชั่นและเนื้อหาร่วมกับแพลตฟอร์มอื่นๆ

สิ่งที่ต้องการให้รัฐสนับสนุนคือ

  • ตั้งคณะทํางานเพื่อช่วยงานในด้านต่างๆ
  • สนับสนุนงบประมาณในการดําเนินงาน
10. ออกแบบ - ดวงฤทธิ์ บุญนาค

ดวงฤทธิ์ บุญนาค สถาปนิกและนักออกแบบ จบการศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจบปริญญาโทจากวิทยาลัยสถาปัตยกรรม (AA) กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ก่อตั้งบริษัท ดวงฤทธิ์ บุนนาค จำกัด ในปี 2541 ได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการสภาสถาปนิก 2 สมัย ในชุดที่ 3 (2550-2553) และชุดที่ 4 (2553-2556) ผู้ก่อตั้งและเจ้าของบริษัทสถาปนิก DBALP (DUANGRIT BUNNAG ARCHITECT LIMITED) โดยมีผลงานที่โดนเด่นคือ โครงการ H1 ทองหล่อ, รีสอร์ท Costa Lanta กระบี่ (ซึ่งได้รางวัล the Best 50 New Hotels in the World จากนิตยสาร Conde Nast Traveler), ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC), รีสอร์ท The NAKA ที่ภูเก็ต ชนะรางวัล International Architectural Award จากพิพิธภัณฑ์ส่งเสริมด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบแห่งชิคาโก (Chicago Athenaeum Museum of Architecture and Design) และ ศูนย์สถาปัตยกรรม ศิลปะ การออกแบบ และชุมชนเมืองศึกษาแห่งสหภาพยุโรป (Centre for Architecture Art Design and Urban Studies) 

ในฐานะตัวแทนผู้ขับเคลื่อน Soft Power สาขาออกแบบ  มีการวางเป้าหมายไว้ 3 ระยะ คือ

  • 100 วันแรก ค้นหาและสนับสนุนอัจฉริยะท้องถิ่น 100 คนเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ, จัด Travelling Exhibition และ International Publication
  • 6 เดือนแรก สนับสนุนให้การออกแบบเป็น New Economy, ทํา Venture Capital ร่วมรัฐ-เอกชนเพื่อส่งเสริมธุรกิจ, ทําให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมในประเทศ
  • 1 ปีแรก สร้างการปรากฎใหม่ของประเทศไทยในฐานะของ Brand, สร้างพื้นที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวัฒนธรรม

สิ่งที่ต้องการให้รัฐสนับสนุนคือ

  • สนับสนุนอัจฉริยะท้องถิ่นในฐานะ Brand ของประเทศ
  • จัดให้มี Venture Capital โดยรัฐ-เอกชน
  • จัดการให้การประกวดแบบในภาครัฐเป็นไปโดยสุจริต ยุติธรรม
  • ลดอุปสรรคทางกฎหมายด้านการพัฒนาเมือง
  • ทบทวนกฎหมาย เช่น พรบ.ทรัพย์สินทางปัญญาฯ
11. ดนตรี - วิเชียร ฤกษ์ไพศาล

วิเชียร ฤกษ์ไพศาล หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘นิค Genie’ เขาจบจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ร่วมก่อตั้งคณะละคร ‘มะขามป้อม’ คณะละครเร่ที่มีผลงานเชิงสร้างสรรค์สังคมมายาวนาน เป็นหนึ่งในกลุ่มคนรุ่นบุกเบิกบริษัท แกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนท์เม้นท์ จำกัด กำกับมิวสิกวิดีโอคนแรกของไทย  ผู้ก่อตั้งบริษัท Aratist อันเป็นส่วน Artist Management ของแกรมมี่ฯ รวมทั้งเป็นผู้บริหารผู้ก่อตั้งค่ายเพลง genie records

ในฐานะตัวแทนผู้ขับเคลื่อน Soft Power สาขาดนตรี  เขาวางเป้าหมายไว้ 3 ระยะ คือ

  • 100 วันแรก โครงการ Talent Everywhere, เป็นเจ้าภาพจัด Global Music Exchange & Collaboration Conference 2024
  • 6 เดือนแรก ดันศิลปินไทยไปแสดงงานในต่างประเทศ, ส่งเสริมการสร้างผลงานร่วมกับศิลปินต่างประเทศ
  • 1 ปีแรก จัด Music Expo (Showcase & Conference)

สิ่งที่ต้องการให้รัฐสนับสนุนคือ

  • สนับสนุนงบ อํานวยความสะดวกและประชาสัมพันธ์
  • สร้าง Networking ให้ Music Fest ไทย อยู่ในกระแสโลก
  • ตั้ง Music Export Office เป็นศูนย์กลางทํา PR & Marketing
  • สิทธิประโยชน์หลัง Business Matching