ไม่พบผลการค้นหา
เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ออกแถลงการณ์ ล็อกดาวน์เหมืองแร่ หยุดฉวยโอกาสให้สัมปทานเหมือง เรียกร้องรัฐปฏิบัติตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อย่างเท่าเทียม พร้อมจี้ยุติการออกใบอนุญาตให้กับโครงการสำรวจและการทำเหมืองแร่ทุกประเภทในช่วงการประกาศ ใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ภายหลังจากทีรัฐบาลได้มีประกาศ ขยายการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไปอีก 1 เดือนภายหลังจากที่จะครบกำหนดการบังคับใช้ในวันที่ 30 เม.ย.นี้ เครือข่ายภาคประชาสังคมภายใต้ชื่อ “เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่” ซึ่งประกอบไปด้วยชาวบ้านกว่า 500 คนจาก กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน จ.เลย กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได จ.หนองบัวลำภู กลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย จ.มุกดาหาร กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส จ.สกลนคร กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ กลุ่มรักษ์บ้านแหง จ.ลำปาง และเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ในแต่ละพื้นที่ร่วมกันออกแถลงการณ์ “ล็อกดาวน์เหมืองแร่ หยุดฉวยโอกาสให้สัมปทานเหมือง” พร้อมทั้งได้อ่านแถลงการณ์แบบเว้นระยะห่างระหว่างกัน (Social distancing) เพื่อป้องกันการแพร่โรคไวรัสโควิด-19 ร่วมกันแบบออนไลน์เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยุติการออกใบอนุญาตให้กับโครงการสำรวจและการทำเหมืองแร่ทุกประเภทในช่วงการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยรายละเอียดข้อเรียกร้องในแถลงการณ์มีดังนี้

1.หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต้องหยุดกระบวนการพิจารณาด้านต่าง ๆ ที่จะนำไปสู่การออกใบอนุญาตให้กับโครงการสำรวจและการทำเหมืองแร่ทุกประเภทเอาไว้ก่อน จนกว่าจะยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้อย่างเป็นปกติ

2.กรณีที่ผู้ประกอบการทำเหมืองแร่ที่ได้รับการอนุมัติ/อนุญาตให้สำรวจและทำเหมืองแร่ไปแล้วนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีคำสั่งให้หยุดการดำเนินการสำรวจและการทำเหมืองแร่ไว้ก่อน เพื่อปฏิบัติตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม และไม่ให้เกิดความเสี่ยงต่อประชาชนในพื้นที่ต่อการติดเชื้อไวรัส   โควิด-19 จากการเดินทางเข้า-ออกพื้นที่ชุมชนของผู้ประกอบการ

3.กรณีที่ผู้ประกอบการมีความขัดแย้งกับประชาชนในพื้นที่จากการสำรวจและทำเหมืองแร่ รวมทั้งมีการร้องเรียนเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสั่งให้ผู้ประกอบการหยุดดำเนินการสำรวจและการทำเหมืองแร่ไว้ก่อน เพื่อไม่ให้เป็นการซ้ำเติมประชาชนที่มีความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และต้องต่อสู้ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชน ไม่เพียงเท่านั้นยังถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อีกด้วย

ขณที่นายนงค์ชัย พันธ์ดา ตัวแทนกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส จ.สกลนคร กล่าวภายหลังจากอ่านแถลงการณ์ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 เป็นที่พูดถึงกันทั่วโลก รัฐบาลไทยก็ได้แก้ไขปัญหาด้วยการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และเคอร์ฟิว เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ซึ่งการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นั้น กระทบกับชาวบ้าน ทำให้ไม่สามารถพบปะหรือประชุมเพื่อพูดคุยปรึกษาหารือกันได้ ที่ทำได้ในตอนนี้คือการพูดคุยกันผ่านทางโทรศัพท์เท่านั้น ประเด็นสำคัญ คือ ปัจจุบันมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ทำหน้าที่ควบคุมเราไว้ทำให้ไม่สามารถออกมาเคลื่อนไหวอะไรได้เลย ซึ่งเปรียบเสมือนการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของชาวบ้าน ในเมื่อชาวบ้านไม่สามารถที่จะเคลื่อนไหวหรือใช้สิทธิตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้ พวกเราจึงออกมาการแถลงการณ์ขอหน่วยการที่เกี่ยวข้องหรือภาครัฐที่มีอำนาจในการอนุมัติหรืออนุญาตอาชญาบัตรพิเศษต้องหยุดกระบวนการขั้นตอนต่าง ๆ ที่จะนำไปสู่การอนุมัติหรืออนุญาตไว้ก่อน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อชาวบ้าน

ด้านนางงามทอง มงคล ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับน้ำคำป่าหลาย จ.มุกดาหาร กล่าวว่า ผลกระทบจากการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้เกิดปัญหาผลกระทบมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการกระทบต่อการทำมาหากินของชาวบ้านที่ต้องหาเช้ากินค่ำหรือชาวบ้านอย่างเราที่ประกอบอาชีพทำการเกษตร ที่ปัจจุบันราคาพืชผลทางเกษตรอย่างมันสำปะหลัง อ้อย และยางพารา ยังคงตกต่ำ ราคาสิ่งของที่ต้องใช้ในการดำรงชีพในแต่ละวันก็แพงขึ้น และหนี้สินก็เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย และที่สำคัญการเดินทางไปไหนมาไหนในตอนนี้ก็ลำบากมาก อย่างพวกเราชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับน้ำคำป่าหลายที่ติดตามและคัดค้านการขอประทานบัตรทำเหมืองหินทราย ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดงหมู แปลง 2 เพราะหากในอนาคตเกิดเหมืองแร่ในพื้นที่ เรากังวลว่าแหล่งต้นน้ำที่เราใช้อาจขาดแคลนและอาจหายไป เนื่องจากพื้นที่ทำเหมืองอยู่บริเวณใกล้กับแหล่งต้นน้ำ ปัจจุบัน

“พวกเราไม่สามารถเดินทางไปเรียกร้องหรือไปยื่นหนังสือกับหน่วยงานต่าง ๆ ได้ เพราะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ซึ่งขณะที่เราหยุดอยู่บ้าน ถือปฏิบัติตามมาตรการของรัฐบาล เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หน่วยงานของภาครัฐที่เกี่ยวข้องและบริษัทฯ ที่ยื่นขอประทานบัตรเหมืองแร่ยังคงดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอนต่าง ๆ ตามปกติ ดังนั้นเพื่อไม่ให้เป็นการซ้ำเติมชาวบ้านที่มีความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต้องหยุดกระบวนการขั้นตอนต่าง ๆ ที่จะอนุมัติหรืออนุญาตให้ประทานบัตรก่อน จนกว่าจะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ควรฉวยโอกาสอนุมัตหรืออนุญาตให้ประทานบัตรในช่วงที่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ดังนั้นเราหยุดเหมืองก็ต้องหยุด” ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับน้ำคำป่าหลาย จ.มุกดาหาร กล่าว

ขณะที่นางบัวลอง นาทา ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได กล่าวว่า เราพยายามปกป้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาตลอด แต่เหมืองแร่และโรงโม่หินมาทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชนลงทุกวัน มันไม่ถูกต้อง ยิ่งช่วง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยิ่งมีการระเบิดหนักขึ้น ขนส่งแร่หินข้ามจังหวัดไปมาทุกวัน ชาวบ้านเดือดร้อนมาก ๆ และถ้ำศรีธน ถ้ำผาน้ำลอด ที่เป็นแหล่งโบราณคดีของชุมชนก็ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากแรงระเบิดเหมืองหินปูน แต่ชาวบ้านกลับไปสามารถออกไปต่อต้านได้ เพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และเสี่ยงติดไวรัสด้วย เราคัดค้านเหมืองแร่หินปูนและโรงโม่หินมาตลอด 26 ปีแล้ว อยากให้หยุดได้แล้ว ยกเลิกเหมืองแร่หินปูนออกไปจากชุมชน ออกไปจากพื้นที่ป่าไม้ของชุมชนได้แล้ว

ส่วนนางวิรอน รุจิไชยวัฒน์ ตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน จ.เลย กล่าวว่า ชุมชนของเรามีสารพิษจากเหมืองที่ปนเปื้อนตามไร่นาของชาวบ้านที่อยู่บริเวณรอบเหมืองทองคำ ชาวบ้านมีรายได้น้อยลง ยางพาราก็ราคาตกต่ำลงมาก เพราะการล็อคดาวน์ทำให้ไม่มีตลาดนัดขาย ไปขายล็อตเตอรี่ก็ไปไม่ได้ บางคนหวยยังเหลือ ก็ไม่รู้จะได้ไปขายตอนไหน ตอนนี้ก็ไม่มีรายได้ รายจ่ายก็เยอะขึ้นชาวบ้านอาจจะหันมาเก็บพืชผัก กุ้ง หอย ปู ปลา ตามนาที่ปนเปื้อนกินก็ไม่ได้ ดังนั้นเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อพวกเรา โครงการเหมืองแร่ต่าง ๆ ก็ต้องล็อกดาวน์เหมือนกัน

นายสุนทร ดวงณรงค์ ตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ กล่าวว่า ชาวบ้านต่อสู้คัดค้านเหมืองแร่โปแตชและโรงไฟฟ้าถ่านหินมากว่า 4 ปีแล้ว ภายใต้ พรก.ฉุกเฉิน จะทำอะไรก็ลำบาก ชาวบ้านไม่สามารถออกมาใช้สิทธิชุมชนเหมือนเดิมได้ อย่างงานบุญบึงทะเลสีดอที่เป็นงานบุญระดมทุนประจำปีของกลุ่มฯ ก็ต้องเลื่อนออกไป และยิ่งมีการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แบบนี้ ชาวบ้านลำบากในการใช้สิทธิปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาก ๆ

ทั้งนี้นางสาววนิดา กันทา ตัวแทนกลุ่มรักษ์บ้านแหง จ.ลำปาง ได้กล่าวเพิ่มอีกว่า การที่พวกเราออกมาเรียกร้องให้ล็อคดาวน์เมืองแร่ เพราะไม่อยากให้เหมืองแร่เกิดขึ้นในบ้านเรา และในทุก ๆ ที่ เพราะถ้ามันเกิดเราก็ย้ายหนีไม่ได้ เพราะที่นี่คือบ้านเกิด และที่สำคัญเรากลัวว่าจะเกิดผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นสารพิษสารเคมีจะเข้ามาในพื้นที่ ซึ่งตอนนี้บ้านแหงชนะคดีปกครองก็จริงแต่เราก็ยังไม่ชนะขาด เขาอาจจะฉวยโอกาสช่วงนี้ออกประทานบัตรก็ได้ ดังนั้นอยากเผยแพร่ประเด็นปัญหาที่เกิดให้คนอื่นได้รับรู้ ในเมื่อไม่สามารถออกมาชุมนุม หรือรวมตัวกันได้ ก็คิดว่าการแอคชั่นทำกิจกรรมในครั้งนี้ จะสามารถสื่อสารให้คนรู้และให้กำลังใจคนที่ได้รับผลกระทบเหมือนกันกับเรา

94590232_529473967739250_7122135080574648320_n.jpg94906203_570973246864092_7944759791799238656_n.jpg