วันนี้ (7 พฤษภาคม 2568) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการเสวนาเชิงวิชาการ “บทบาทในการดำเนินคดีทุจริตภายใต้แนวนโยบายของรัฐบาลในมิติของปัจจุบันและอนาคต เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน” ภายใต้แนวคิด “พลังศรัทธา พลังล่าทุจริต” โดยมีนายอำนาจ พวงชมภู ประธานกรรมการ ป.ป.ท. พร้อมด้วยคณะกรรมการ ป.ป.ท. นายภูมิวิศาล เกษมศุข เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ท. นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่าง ๆ ภาคประชาชนและภาคเอกชน จำนวน 170 คน เข้าร่วมฯ
รองนายกรัฐมนตรีฯ กล่าวว่า ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดความเสียหายโดยตรงต่อภาครัฐบาลแล้ว ยังกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนและนักลงทุนอีกด้วย ทำให้เศรษฐกิจของไทยถดถอย ซึ่งจะเห็นได้จากการประกาศผลค่าดัชนีการรับรู้การทุจริต หรือที่เรียกว่า ค่า CPI (Corruption Perception Index) ในปี 2567 ที่ผ่านมา โดยประเทศไทยได้ 34 คะแนน จาก 100 คะแนน ลดลงจากปี 2566 ที่ได้ 35 คะแนน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาการทุจริตของประเทศไทยยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร รัฐบาลจึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อพัฒนามาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับและศรัทธาในระดับสากล รัฐบาลจึงได้วางแนวทางขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนผ่านนโยบายหลัก 3 ประการ ได้แก่
1. ยึดมั่นในหลักนิติธรรม และส่งเสริมความโปร่งใสในทุกมิติ โดยสร้างความชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดินด้วยการฟื้นฟูหลักนิติธรรมให้เข้มแข็ง บริหารงบประมาณด้วยความคุ้มค่า โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ
2. ปฏิรูประบบราชการด้วยเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับบุคลากรภาครัฐ ลดช่องว่างในการแทรกแซง และลดโอกาสในการทุจริต พร้อมทั้งปลูกฝังค่านิยมด้านคุณธรรม ความซื่อสัตย์ และความเป็นมืออาชีพให้กับบุคลากรภาครัฐ นอกจากนี้ รัฐบาลจะส่งเสริมการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของภาครัฐ ให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น สร้างพื้นที่ให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการติดตาม และตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสนับสนุนการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น
3. ยกระดับบริการภาครัฐให้ตอบโจทย์ประชาชนและภาคธุรกิจ ให้มีความทันสมัย รวดเร็ว และเป็นมิตรกับประชาชน ปรับบทบาทภาครัฐให้เป็นการส่งเสริมสนับสนุน (Enable) การอำนวยความสะดวก (Facilitate) และการกำกับกฎกติกา (Regulate) เพื่อให้ประชาชนและเอกชนได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว พร้อมทั้งจะลดกฎหมายและขั้นตอนที่ไม่จำเป็น (Ease of Doing Business) เพื่อไม่ให้ภาครัฐเป็นอุปสรรคของภาคธุรกิจที่จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
นอกจากนี้รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ทุจริต ในปัจจุบัน จึงได้มีราชกิจจานุเบกษา ประกาศใช้พระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2568 ของสำนักงาน ป.ป.ท. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของฝ่ายบริหารในการขับเคลื่อนภารกิจด้านการป้องปราม ป้องกัน และปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ โดยในสาระสำคัญจะเป็นการปรับปรุงหน้าที่ อำนาจ และการปฏิบัติงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและชี้มูลความผิดได้ในเวลาอันรวดเร็ว ลดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม
เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. กล่าวว่า วันนี้สำนักงาน ป.ป.ท. ได้เชิญผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ องค์กรอิสระ ภาควิชาการ ภาคเอกชน และสื่อมวลชน มาขึ้นเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และแนวทางในการพัฒนากระบวนการดำเนินคดีทุจริตให้มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในด้านการยึดหลักนิติธรรม ความโปร่งใส การปฏิรูประบบราชการ และยกระดับการบริการภาครัฐให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ สามารถนำไปพัฒนา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของหน่วยงานในการบูรณาการเพื่อป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบอย่างเป็นระบบและตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง