อยู่ในช่วงขาขึ้นที่แท้จริง สำหรับประเทศไทยไม่ว่าจะเป็น ราคาน้ำมัน ค่าไฟฟ้า ราคาอาหาร อาทิ หมู,ไก่,ปลา,ไข่ ได้ขยับเพิ่มสูงเป็นขบวน ท่ามกลางมรสุมเศรษฐกิจดังวิกฤตระลอกใหญ่ โถมถล่มประชาชนที่อยู่ในช่วงรัดเข็มขัดจวนเจียนจะขาดใจ ขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำยังไม่ถึง 350 บาท แต่ราคาสินค้ากลับวิ่งสวนทาง
โดยเฉพาะเรื่อง ‘หมูๆ’ นานวันเข้ายิ่งคล้ายสำนวน ‘น้ำลดตอผุด’ เมื่อเอกสารการแจ้งเตือนจากภาคีคณบดีคณะสัตวแพทย์ศาสตร์แห่งประเทศไทย ทำหนังสือถึง ‘อธิบดีกรมปศุสัตว์’ เรื่องข้อห่วงใยต่อสถานการณ์โรคระบาดและการควบคุมในสุกร ‘หลุดออกมา’ หลังการตรวจพบเชื้อไวรัสอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF) ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 จากปัญหาหมูตายครึ่งค่อนประเทศจากภาวะโรคระบาด
ทว่าฟากฝั่งของผู้มีอำนาจทั้งโฆษกรัฐบาลและกรมปศุสัตว์ ต่างยืนกระต่ายขาเดียวนั่งยันนอนยันว่า ไม่เคยได้รับหนังสือดังกล่าว และที่ผ่านมานั้นประเทศไทยไม่เคยตรวจพบเชื้อไวรัสอหิวาต์แอฟริกาในสุกร อีกทั้งย้ำว่าตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ไทยควบคุมโรคระบาดในสัตว์ได้อย่างดี
ด้วยเหตุนี้เพื่อความเป็นธรรม ‘วอยซ์’ ชวนย้อนไทม์ไลน์เรื่องหมูๆที่ไม่หมู ด้วยการนำข้อมูลมากางดูว่าใครคือ ‘ผู้โกหก’
- 28 พ.ค. 64 ปฐมบทของเรื่องหมูๆ เมื่อเวียดนามระงับนำเข้าหมูไทย กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทของเวียดนามส่งหนังสือถึงสถาตทูตไทยประจำกรุงฮานอย ระบุว่าจะระะงับการนำเข้าหมูเป็นจากไทย หลังมีการตรวจพบหมูจำนวน 980 ตัว ติดโรคติดเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกรเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2564
- 31 พ.ค 64 ข้ามคืนไม่กี่วัน ‘น.สพ.สรวิศ ธานีโต’ อธิบดีกรมปศุสัตว์ หลังได้รับทราบเรื่องดังกล่าว สั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนโรคเพื่อรายงานผลกลับไปยังเวียดนาม ว่าไม่มีหมูในไทยติดเชื้อ เพื่อสร้างความมั่นใจจากการนำเข้าหมูของไทย พร้อมยกระดับมาตรการตรวจสอบสุกรมีชีวิต ก่อนการส่งออกให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้น โดยมีหนังสือแจ้งผู้ประกอบการส่งออกสุกรทุกรายได้ทราบว่า สุกรมีชีวิตทุกชนิดที่จะส่งออกไปยังเวียดนาม ต้องได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ด่านกักกันสัตว์ท่าออกอีกครั้ง ก่อนอนุญาตให้ส่งออก
- 7 ธ.ค. 64 เมื่อปรากฎการตายของสุกรเป็นจำนวนมากในประเทศไทย ‘ภาคีคณบดีคณะสัตวแพทย์ศาสตร์แห่งประเทศไทย’ ได้ทำหนังสือถึง ‘อธิบดีกรมปศุสัตว์’ เรื่องข้อห่วงใยต่อสถานการณ์โรคระบาดและการควบคุม จากการวินิจฉัยโรคนั้น ได้ตรวจพบโรคอหิวาต์แอฟริกาจากซากสุกรที่ส่งมาชันสูตร ภาคีฯจึงขอให้กรมปศุสัตว์ดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อควบคุมโรคอย่างเร่งด่วน
- 13 ธ.ค. 64 ด้านกระบอกเสียงจากภาครัฐ ‘รัชดา ธนาดิเรก’ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาประกาศถึงความสำเร็จในการสกัดควบคุมโรคระบาดว่า “ไทยคงสถานะปลอดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หนึ่งเดียวในอาเซียน” พร้อมแย้มว่าไทยยังเร่งวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโรค ASF เพื่อประโยชน์เกษตรกรไทยและประเทศเพื่อนบ้านต่อไป
- 24 ธ.ค. 64 จากเวียดนามถึงไต้หวัน เมื่อมีรายงานว่าประเทศไต้หวันมีการตรวจพบกุนเชียงที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสอหิวาต์แอฟริกา ที่ซุกซ่อนในพัสดุไปรษณีย์ที่ส่งมาจากประเทศไทย กลายเป็นเผือกร้อนมาถึงอธิบดีกรมปศุสัตว์ จนต้องออกมาชี้แจงว่า เบื้องต้นจากการตรวจสอบเนื้อสุกรที่นำมาใช้ผลิตกุนเชียง ‘น่าจะ’ มีการลักลอบนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากยังไม่พบผลทางห้องปฏิบัติการจากการเฝ้าระวังภายในประเทศ และประเทศไทยยังคงปลอดเชื้อไวรัสอหิวาต์แอฟริกาในสุกร
- 29 ธ.ค. 64 ช่วงนับถอยหลังส่งท้ายปีเก่า แต่ราคาเนื้อหมูในหลายพื้นกลับปรับราคาใหม่อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาเนื้อหมูหน้าเขียง เพิ่มเป็นกิโลกรัมละ 200 บาท และคาดว่าในอีก 1-2 สัปดาห์จะปรับขึ้นอีก เนื่องจากอยู่ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ที่มีความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น
- ขณะที่อธิบดีกรมปศุสัตว์ ชี้ว่าผลพวงการปรับราคาแพงสูงขึ้นในท้องตลาด เกิดจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และโรคระบาดในสุกร ต้องทำลายเพื่อควบคุมโรคตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 อีกทั้งก่อนหน้านี้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายเล็ก รายย่อยเกิดความตื่นตระหนกโรคระบาดในสุกร จึงเร่งขายสุกรมีชีวิตออกจากฟาร์ม ทำให้สุกรมีชีวิตมีปริมาณลดลง ส่งผลให้ราคาจำหน่ายสูงขึ้น
- 6 ม.ค. 65 ภาพความเดือดร้อนของผู้เลี้ยงสุกร ถูกฉายผ่านซากศพหมูที่นอนเรียงรายจากโรคระบาดหลายร้อยตัว ถูกแชร์ผ่านเพจ ‘เรื่องเล่าข่าวเกษตรกร’ พร้อมข้อความกำกับว่า ไม่ใช่เพียงราคาหมูแพงเท่านั้น แต่หนึ่งในสาเหตุวิกฤตนี้คือหมูไม่มีส่งเข้าสู่ตลาด เพราะโรคระบาดส่งผลให้เกษตรกร และผู้บริโภคเดือดร้อนเป็นอย่างมาก
- 7 ม.ค. 65 วิกฤตของประชาชนเช่นนี้ เจ้ากระทรวงพาณิชย์ ‘จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์’ รองนายกรัฐมนตรี ต้องออกมาขายไอเดีย เพื่อลดภาระประชาชนจากราคาหมูที่สูงขึ้น โดยสั่งการให้กรมการค้าภายในหารือกับผู้เลี้ยงไก่ และผู้ค้าปลีกร่วมจัดจุดจำหน่ายไก่สดในราคาประหยัด เพื่อให้คนหันมา ‘กินไก่แทนหมู’
- 8 ม.ค. 65 หลังสื่อหลายสำนักเริ่มโหมข่าวเรื่องโรคอหิวาต์แอฟริกาในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ส่งผลให้ราคาเนื้อหมูปรับตัวสูงขึ้น เล่นเอาอธิบดีกรมปศุสัตว์นั่งไม่ติด ต้องออกมาชี้แจงอีกครั้งว่า ขณะนี้โรคดังกล่าวยังคงแพร่ระบาดหลายประเทศในอาเซียน และยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้น
- เสียงเตือนจากภาคีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย
ดังนั้นกรมปศุสัตว์ จึงดำเนินการเฝ้าระวังโรคทั้งในเชิงรุกและเชิงรับในทุกพื้นที่ของประเทศไทย หากพบฟาร์มสุกรมีความเสี่ยงในระดับสูงถึงสูงมากที่มีความเสี่ยงต่อโรค ASF กรมปศุสัตว์จะดำเนินการลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคในทันที โดยการทำลายสุกรซึ่งอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พร้อมชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลาย
ทว่าว่าการออกมาชี้แจงครั้งนี้ ‘น.สพ.สรวิศ’ ยังคงแทงกั๊กไม่ชี้ชัดว่าในประเทศนั้น พบเชื้อการแพร่ระบาด ASF หรือไม่
- 9 ม.ค. 65 หลังสั่งการปูพรมตรวจฟาร์มสุกรทั่วประเทศ ‘อธิบดีกรมปศุสัตว์’ ได้ชี้แจงกรณีมีการแชร์เอกสารภาคีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ได้มีหนังสือลงวันที่ 7 ธ.ค. 2564 แจ้งมายังกรมปศุสัตว์ เรื่องข้อห่วงใยต่อสถานการณ์โรคระบาดและการควบคุมโรคในสุกรนั้น
อธิบดีกรมปศุสัตว์ยืนยันว่า ยังไม่เคยเห็นหนังสือดังกล่าวเสนอขึ้นมารายงานให้ทราบ แต่เพื่อเป็นการตรวจสอบข้อเท็จจริงจะเร่งดำเนินการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว และดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องโดยเร็วต่อไป
ขณะที่โฆษกรัฐบาล ‘ธนกร วังบุญชนะ’ ย้ำว่าภาครัฐไม่เคยปกปิดข้อมูลโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามสถานการณ์โรคระบาดในสัตว์มาโดยตลอด และได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์เร่งตรวจสอบและแก้ปัญหา
ทั้งนี้โฆษกรัฐบาล ชี้ว่าที่ผ่านมาการเกิดโรคระบาดในหมูไทยเป็นโรค PPRS เป็นกลุ่มอาการของโรคในระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินหายใจในสุกร แต่ไม่พบว่ามีการเกิดโรคอหิวาต์แอฟริกา
เมื่อเรื่องเป็นเช่นนี้คงไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่า อนาคตข้างหน้าค่าแรงขั้นต่ำ 300-320 บาท อาจเทียบได้เพียงราคาเนื้อหมู 1 กิโลกรัม คงไม่ใช่เรื่องไกลตัวนัก