สำนักข่าว CNN รายงานว่าการเรียกคืนรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัทเทสลาในครั้งนี้ ถือเป็นจำนวนที่มากเกือบเทียบเท่ายอดของการส่งมอบรถในปี 2564 ที่ทำการส่งมอบไปทั้งสิ้นเกือบ 500,000 คัน ส่งผลให้มูลค่าหุ้นร่วงไป 1.1% ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับเทสลาหลังจากที่หุ้นเติบโตราว 54% ในปีนี้
เทสลาได้ยื่นรายงานการเรียกรถคืน 2 ฉบับไปยังสำนักงานความปลอดภัยการจราจรบนทางหลวงแห่งชาติของสหรัฐฯ หรือ NHTSA ขณะที่ศูนย์บริการและศูนย์จำหน่ายรถยนต์เทสลาได้รับการแจ้งการดำเนินการเรียกคืนรถในสัปดาห์ที่ผ่านมา
ในรายงานระบุว่ามีการเรียกรถรุ่น Model 3 ที่ผลิตระหว่างปี 2560-2563 คืนทั้งหมด 356,309 คัน เนื่องจากพบว่าสายไฟเคเบิลที่เชื่อมต่อกับกล้องมองหลังอาจเกิดความเสียหายหลังจากการใช้งานไปสักระยะหนึ่งจนทำให้กล้องไม่แสดงภาพอีกต่อไปโดยอาจมีสาเหตุมาจากการเปิดปิดกระโปรงหลังของรถ
ขณะที่รถยนต์รุ่น Model S ถูกเรียกคืนเป็นจำนวน 119,009 คัน เนื่องจากพบปัญหาที่ สลักของ 'Frunk' หรือ 'Front Trunk' ซึ่งหมายถึงกระโปรงหน้ารถ โดย NHTSA ระบุว่าปัญหาที่เกิดกับสลักกระโปรงหน้ารถอาจส่งผลให้ฝากระโปรงหน้าเปิดขึ้นมาเองโดยไม่คาดคิด ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุได้ในที่สุด
ก่อนหน้านี้เทสลาได้เริ่มทำการตรวจสอบปัญหา 'สลักกระโปรงหน้า' ในเดือน ม.ค. 2564 หลังมีรายงานว่าพบการเปิดขึ้นเองของฝากระโปรงหน้าระหว่างที่รถอยู่ในโหมดขับเคลื่อน หรือ 'Drive' ขณะที่การสืบสวนกรณีกล้องมองหลังใช้งานไม่ได้มีขึ้นในเดือน มิ.ย. 2564 ที่ผ่านมา หลังทางบริษัทพบความเป็นไปได้ของปัญหานี้
การเรียกคืนรถครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ก่อนหน้านี้มีการตรวจสอบกรณีความปลอดภัยของฟีเจอร์ 'Passenger Play' ที่อนุญาตให้ผู้ใช้รถสามารถเล่นวิดีโอเกมบนหน้าจอทัชสกรีนได้ขณะที่รถกำลังขับเคลื่อน โดยหลังจากที่ NHTSA ทำการตรวจสอบเบื้องต้น เทสลาได้ออกมาประกาศในสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าต่อจากนี้ไป ฟีเจอร์ดังกล่าวจะสมารถเล่นได้เฉพาะเวลาที่รถจอดอยู่กับที่ในโหมด 'Park' เท่านั้น