เมื่อเร็วๆ นี้มีการพูดถึงและตั้งข้อสังเกตในสังคมออนไลน์อย่างแพร่หลายว่า ‘อาชีพรับซื้อขยะรีไซเคิล’ กำลังจะหมดไปจากประเทศไทย เนื่องจากราคาขยะตกต่ำ ผลกระทบจากนโยบายสิ่งแวดล้อม กฎหมายในประเทศ รวมถึงสภาพเศรษฐกิจของทั้งในและต่างประเทศ
วอยซ์ออนไลน์ชวน เปรม พฤกษ์ทยานนท์ ผู้เติบโตมากับธุรกิจรับซื้อของเก่าที่บ้าน และเจ้าของเพจเฟซบุ๊ก ‘ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป’ ซึ่งนำเสนอเรื่องราวขยะและสิ่งแวดล้อมอย่างสม่ำเสมอ พูดคุยถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ภาพชายเหงื่อท่วม ใบหน้าเหนื่อยล้า เนื้อตัวมอมแมม ปั่นจักรยานซาเล้ง กวาดสายตามองหาสิ่งของตามกองขยะและบ้านเรือนกำลังจะหมดไปแล้วหรอ ?
เมื่อปี 2561 รัฐบาลจีนได้ประกาศห้ามนำเข้าขยะมูลฝอยหลายประเภท รวมถึงพลาสติกและกระดาษ เนื่องจากที่ผ่านมาพบปัญหาในการกำจัดขยะที่ไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์
เปรม บอกว่า นโยบายดังกล่าวสร้างผลกระทบไปทั่วโลก เนื่องจากจีนเริ่มนำเข้าขยะมาใช้เป็นวัสดุในการผลิตสิ่งต่างๆ ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 จนกลายเป็นผู้นำเข้าขยะรายใหญ่ที่สุดในโลก หรือคิดเป็นราว 50 เปอร์เซ็นต์ของขยะทั้งหมด
เมื่อจีนปิดประตู ขยะก็ทะลักเข้ามาที่ ‘เอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ เนื่องจากต้นทุนในการกำจัดต่ำ มีกฎระเบียบที่อ่อนแอและค่อนข้างหละหลวม รวมถึงมีเทคโนโลยีเพียงพอในการจัดการ
“บางประเทศที่พัฒนาแล้ว การจัดการขยะหรือรีไซเคิลนั้นแพงกว่าการนำไปทิ้ง เขาเลยเลือกที่จะขาย พูดง่ายๆ ได้ 0 บาท ก็ยังดีกว่าจ้างกำจัดในประเทศ”
ทั้งนี้มูลนิธิบูรณะนิเวศ เคยนำเสนอผลการศึกษาและสัมมนาวิชาการ “ธุรกิจขยะข้ามพรมแดน : สถานการณ์ประเทศไทย” พบว่า ตั้งแต่จีนประกาศนโยบายเร่งแก้ปัญหามลพิษ ทำให้สถิตินำเข้าเศษพลาสติกในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดถึง 2,000- 7,000 เปอร์เซ็นต์
ประเด็นต่อมา คือ การเข้ามาเปิดโรงงานรีไซเคิลเองของพ่อค้าและผู้ประกอบการชาวจีนในไทย
“ใบอนุญาตของประเทศเราของ่าย เงินถึงก็เปิดได้ ตอนนี้โรงงานรีไซเคิลกระดาษจากจีนก็เลยเต็มไปหมด เลยมีผลต่อการนำเข้า”
ประเด็นที่สาม คือ สภาพเศรษฐกิจ ปัจจุบันราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทุกชนิดราคาต่ำลงอย่างน่าใจหาย เมื่อราคาโภคภัณฑ์ลด การบริโภคในประเทศลด ราคาสินค้ารีไซเคิลก็ต้องลดตามเป็นกลไก
โรงงานใหญ่ๆ ในไทย เลือกนำเข้าขยะจากต่างประเทศ เนื่องจากราคาถูกกว่าหลายเท่า คุณภาพดีและอาจรวมถึงจัดการได้ง่ายกว่าขยะภายในประเทศ
“สุดท้ายแล้วขยะในประเทศเรามันไม่มีทางออก และจะถูกกำจัดในวิธีอื่นที่ไม่ใช่รีไซเคิล” เขาบอก
กรีนพีซ (Greenpeace) รายงานว่า สถิติระหว่างปี 2559-2561 พบว่า การนำเข้าขยะพลาสติกในอาเซียนเติบโตถึงร้อยละ 171 จาก 836,529 ตันเป็น 2,265,962 ตัน ซึ่งเทียบเท่ากับตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุต ประมาณ 423,544 ใบ
งานวิจัยของกรีนพีซ พิจารณาการเดินทางของขยะพลาสติกในภูมิภาค ระบุว่า มาเลเซีย เวียดนาม และไทย เป็นเป้าหมายแรกของขยะพลาสติก โดยปี 2561 มาเลเซียนำเข้าขยะพลาสติกมากสุดในอาเซียน 872,797 ตัน ตามด้วยเวียดนาม 492,839 ตัน และไทย 481,381 ตัน
วงการขยะรีไซเคิลมีสินค้าสำคัญ 4 ประเภท ได้แก่ กระดาษ พลาสติก โลหะ และ แก้ว
“ตอนนี้กระดาษ พลาสติก พังไปแล้ว 2 ตัว เหล็กก็ราคาไม่ค่อยดี มีแค่เศษแก้วที่กำลังขึ้น ถ้ามันพังไปครบ 3 ตัวเมื่อไหร่ คงต้องเลิกอาชีพนี้กันหลายคน” ผู้มากประสบการณ์บอก “ทำแล้วไม่คุ้มเหนื่อยเขาก็เปลี่ยนอาชีพดีกว่า”
เปรมยกตัวอย่างว่า เวลานี้โรงงานรับซื้อกระดาษบางประเภทในราคา 2.40 บาท ร้านยี่ปั๊วลดลงมาระดับ 1.40 บาท ขณะที่ซาเล้งรับซื้อประมาณ 50 – 70 สตางค์ ราคาต่ำเตี้ยจนไม่มีชาวบ้านอยากเก็บกระดาษขาย
“เสียเวลานั่งคัดกระดาษ 1 กิโลกรัม ขนาดเท่ากล่องมาม่า 4 ใบ ได้เงินแค่ 50 ตังค์ ถามว่าคุ้มเก็บไหม”
ขณะที่พลาสติกที่กำลังมีปัญหาคือประเภท เกรด PP (Polypropylene) พอลิโพรไพลีน และ PE (Polyethylene) โพลิเอทิลิน
“ปกติแล้วคนรับซื้อจากชาวบ้านอยู่ที่ 7-8 บาท เพื่อเอาไปขายต่อโรงงาน 12-13 บาท แต่ตอนนี้โรงงานงดซื้อ เพราะมันไม่มีตลาด การบริโภคมันไม่เกิด เขาไม่เอาเลยพวกเกรดถูกมากๆ เช่น ขวดแชมพูที่ยังไม่ได้ลอกสลากออก เขาไม่ซื้อแล้วเพราะค่าแรงแพง คุณต้องคัดมาสวยๆ แกะทุกอย่างออกเกลี้ยงเขาถึงจะซื้อ”
ส่วน ‘โลหะ’ ตกต่ำไปตามราคาโลก เช่น ทองแดง ราคาต่ำกว่า 150 บาท/กก. ซึ่งเมื่อเทียบกับตอนราคาดี ปรากฎเป็นข่าวลักขโมยสายไฟ อยู่ที่ประมาณ 300-400 บาท/กก.
“ข้อดีคือสายไฟไม่หาย” เขาติดตลก
โดยสรุปราคาขยะ ร่วงลงประมาณ 50-60 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อราคาตกต่ำ ชาวบ้านก็ไม่มีแรงจูงใจในการคัดแยก เช่นกันกับซาเล้งเก็บของเก่ารวมถึงผู้ประกอบการรายย่อยก็มีรายได้น้อยลงจนไม่คุ้มเหนื่อย ปริมาณขยะรีไซเคิลก็ลดลง และท้ายที่สุดภาระก็ตกไปอยู่ที่เทศบาลและรัฐบาล
“คนที่จะตายคือซาเล้ง หรือพวกรายเล็กๆ เพราะไม่คุ้มกับที่ออกไปเก็บและคัดเลือกขยะแล้ว” เขาบอก
“สุดท้ายมันจะกลายเป็นภาระของรัฐในการจัดการ เรานำเข้าก็เท่ากับขาดดุลการค้า และยังมารับภาระจากขยะที่เหลือในประเทศอีก จะรณรงค์ลดการใช้ หรือให้แยกขยะกันทำไม เมื่อระบบรีไซเคิลมันกำลังจะพัง”
เปรม อธิบายว่า จากอดีตถึงปัจจุบันราคาของขยะรีไซเคิลนั้นไม่ขยับตัวตามเงินเฟ้อ ทำให้ธุรกิจขยะล้มหายตายจากลงไปเรื่อยๆ ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับประเทศเจริญแล้วอย่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ซึ่งตายไปนานแล้ว
“ผมว่ามันจะมุ่งสู่ทางนั้นอยู่แล้ว คือเงินเฟ้อจนชนะขยะ และภาระอยู่กับรัฐทั้งหมด รัฐต้องหาเงินมาใช้ในการสร้างสิ่งอำนวยการจัดการขยะ ซึ่งแน่นอนว่าต้องใช้งบประมาณเพิ่มมากขึ้น เพราะถ้าไม่รีไซเคิลและเอาแต่ใช้วิธีการฝังกลบหรือเผา มันก็จะกลายเป็นปัญหาสะสมเหมือนระเบิดเวลา”
เขาย้ำว่ารัฐบาลต้องสนับสนุน สร้างกลไกในการรีไซเคิลและจัดการขยะ เช่น นโยบายส่งเสริมการใช้งานวัสดุรีไซเคิล , มาตรการทางด้านภาษี เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของวัสดุและลดปัญหาขยะ โดยประเทศแถบยุโรปมีกฎระเบียบและมาตรฐานที่สำคัญเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ ซึ่งมีการควบคุมและส่งเสริมการใช้วัสดุรีไซเคิล
“ถ้าคุณใช้วัสดุรีไซเคิลจำนวนเท่านี้ คุณเสียภาษีเรทนี้ ถ้าใช้มาก ก็เสียมาก”
ขณะที่กระบวนการรีไซเคิล เขาเสนอว่า รัฐควรมีมาตรการให้ผู้ประกอบการ “รีไซเคิลขยะในประเทศ” ให้หมดเสียก่อนเลือกใช้ขยะนำเข้าจากต่างประเทศ รวมถึงคิดว่าจะเพิ่มมูลค่าของขยะรีไซเคิลอย่างไร
“หาทางทำให้ขยะมีมูลค่า ใส่คุณค่าให้มัน ดีกว่าปล่อยเป็นขยะที่ต้องจัดการอย่างเดียว นอกจากเสียเงินแล้วยังเสียสภาพแวดล้อมด้วย” เจ้าของแฟนเพจลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป แนะนำ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :