ไม่พบผลการค้นหา
‘สมชาย’ แนะ ‘กรมราชทัณฑ์’ ไปตรวจสอบชั้น 14 รพ.ตำรวจ แพทย์ให้การเท็จหรือไม่ อ้าง ‘ทักษิณ’ ป่วยหนักรักษาต่อเนื่อง 125 วัน ชี้ต้องเป็นโรคร้ายแรงใกล้วาระสุดท้าย เสนอฝ่ายค้านตัดงบ ‘กระทรวงยุติธรรม’ เหลือ 0% หากทำหน้าที่ควบคุมนักโทษไม่ได้

วันที่ 26 ธ.ค. ในการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 5 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2) ที่มี พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม สมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สิทธิมนุษชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา หารือถึงการที่ กมธ. ได้เชิญกรมราชทัณฑ์ชี้แจงเป็นครั้งที่ 3 ในกรณีเรื่องการพักโทษ หรือการให้นักโทษเด็ดขาดอยู่นอกเรือนจำเกิน 120 วัน โดยมีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ร่วมชี้แจงด้วย 

สมชาย ระบุว่า มีข้อกังวลว่าระเบียบของกรมราชทัณฑ์ที่ออกมาในกฎกระทรวงใหม่นั้น จะขัดกับกฎหมายอื่นๆ เนื่องจากกำหนดให้สามารถอยู่ในบ้านพักได้ และนักโทษที่จะได้รับพิจารณาพักโทษต้องอยู่ในสภาวะที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ หรือช่วยเหลือตนเองได้น้อย รวมถึงกฎกระทรวงใหม่นี้ยังให้อำนาจแก่อธิบดีกรมราชทัณฑ์เป็นผู้พิจารณาด้วย จึงฝากให้กระทรวงยุติธรรมพิจารณาให้รอบคอบ

สำหรับการแก้ไขปัญหาคนล้นคุก ที่ทาง กสม. ได้ยืนยันว่าพยายามแก้ไขมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อนำคนที่ความผิดน้อยแยกออกมาจากเรือนจำ และพบว่านักโทษล้นคุกมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่องทุกปีตามนโยบาย และการแก้ไขตามกฎหมาย นักโทษที่ยังเหลืออยู่ยังรวมถึงคดีอุกฉกรรจ์ รวมทั้งคดีทุจริตด้วย ดังนั้น ที่นักการเมืองบางคนอ้างว่าระเบียบราชทัณฑ์หมายรวมถึงคดีเหล่านี้ด้วยนั้น อาจทำให้เป็นความเสื่อมของกระบวนการยุติธรรมได้

ส่วนกรณีที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พักรักษาตัวในโรงพยาบาลตำรวจเกิน 120 วันแล้ว กมธ. ได้ทราบว่า ผู้บัญชาการเรือนจำได้ขออนุมัติให้อดีตนายกฯ จากอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และส่งเรื่องไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมความเห็นวินิจฉัยของแพทย์ ยืนยันว่าให้นักโทษรักษาตัวต่อเนื่อง สมชาย จึงขอให้นายกรัฐมนตรี และ รมว.ยุติธรรม ตรวจสอบว่าป่วยด้วยโรคอะไร นอกจากโรคธรรมดาตามที่ปรากฏเป็นข่าว แต่หลักเกณฑ์เช่นนี้แปลว่าต้องเป็นนักโทษร้ายแรง หรือใกล้วาระสุดท้าย

ทั้งนี้ คณะ กมธ. มีข้อเสนอว่า กรมราชทัณฑ์ควรไปตรวจสอบที่โรงพยาบาลตำรวจชั้น 14 ซึ่งกรมราชทัณฑ์ไม่เคยไปตรวจเลย ไม่ใช่เพื่อไปคุกคามคนป่วย แต่เพื่อตรวจสอบว่าแพทย์ให้การเท็จหรือไม่ หากสังคมได้รับทราบว่าอดีตนายกฯ ป่วยอะไรมากมาย ตนก็ยินดีให้ท่านรักษาต่อจนหลายขาดไปอีกหายปี

คณะ กมธ. ยังอ้างที่กรมราชทัณฑ์ชี้แจงว่า ผู้คุมในโรงพยาบาลตำรวจต้องถ่ายรูปคู่กับนักโทษทุก 2 ชั่วโมง ทางคณะ กมธ. จึงขอเรียกหลักฐานภาพถ่ายดังกล่าวตั้งแต่วันแรกจนครบ 125 วันปัจจุบันนี้ ทั้งนี้ ทางผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติยังอ้างว่ากล้องวงจรปิดในโรงพยาบาลตำรวจกลับเสียมาหลายปี

“โรงพยาบาลตำรวจซึ่งมีหน้าที่พิทักษ์สันติราษฎร์ กล้องวงจรปิดกลับเสีย เด็กอนุบาลก็ไม่เชื่อครับ เป็นไปไม่ได้ ถ้าไม่มีเงินผมจะออกเงินให้ติดกล้องวงปิด แล้วถ่ายทอดมาที่วุฒิสภา 24 ชั่วโมง” สมชาย กล่าว

สมชาย เสนอด้วยว่า หากกรมราชทัณฑ์และกระทรวงยุติธรรมไร้ขีดความสามารถในการควบคุมนักโทษ ตนขอเสนอไปยังฝ่ายค้านว่า ให้ตัดงบประมาณของกรมราชทัณฑ์เหลือ 0% เนื่องจากหน่วยงานดังกล่าวไม่มีความจำเป็นแล้ว เพราะไม่สามารถทำงานได้ตามเจตนารมณ์ และขอเสนอประธานวุฒิสภา ซึ่งเป็นอดีตผู้พิพากษาผู้ใหญ่ ควรแก้ไข พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลยุติธรรม ตั้งศาลแผนกบังคับโทษ เพราะบ้านเมืองนี้หาที่พึ่งไม่ได้แล้ว เพื่อไม่ให้กรมราชทัณฑ์มีอำนาจเหนือตุลาการ


ถามรัฐบาลคุ้มหรือไม่ ทำประชามติ 3 ครั้ง

สมชาย ได้กล่าวหารือถึงกรณีรัฐบาลเตรียมทำประชามติสอบถามความเห็นประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 3 ครั้ง ซึ่งทางวุฒิสภาได้ศึกษารายงานข้อเสนอ และเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ มาชี้แจง

สมชาย กล่าวว่า ทางวุฒิสภาได้มีข้อกังวลคือ การร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่โดยการทำประชามติตามแนวทางของรัฐบาลนั้น ต้องทำประชามติ 3 ครั้ง ครั้งละ 3,500 ล้านบาท ใกล้เคียงกับการเลือกตั้งทั่วไป รวม 3 ครั้ง 10,500 ล้านบาท และถัดมายังต้องมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ซึ่งไม่เคยมีมาในประเทศไทย ซึ่งคาดว่าต้องใช้เงิน 5,000 ล้านบาท ยังไม่รวมเงินเดือน สสร. อีก 200 ล้านบาท เบ็ดเสร็จแล้วต้องใช้เงินประมาณ 15,700 ล้านบาท หรือมากกว่า

สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะขอว่าไม่เกี่ยวข้องกับหมวด 1 และ หมวด 2 ที่ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ สมชาย กล่าวว่า มีพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ทั้งสิ้น 39 มาตรา อยู่ในหมวด 1 และ หมวด 2 จำนวน 11 มาตรา ยังมีเหลืออีกหลายมาตราอยู่ในหมวดอื่นๆ ของรัฐธรรมนูญ รัฐบาลยังไม่ได้พูดถึงว่าจะทำประชามติและแก้ไขได้หรือไม่ จึงขอฝากให้รัฐบาลพิจารณาว่า คุ้มค่าหรือไม่กับการทำประขามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แทนที่จะมีการร่างหรือแก้ไขในรัฐสภา