ทั้งใน ในช่วงที่อาร์เจนตินาปกครองโดยระบอบเผด็จการ มีประชาชนประมาณ 5,000 คนหายตัวไปหลังกำแพงของโรงเรียนช่างกลกองทัพเรือ หลายคนไม่ถูกพบเห็นอีกเลยนับแต่นั้นเป็นต้นมา
“โรงเรียนช่างกลกองทัพเรือถ่ายทอดแง่มุมที่เลวร้ายที่สุด ของการก่อการร้ายที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ” อัลแบร์โต เฟอร์นันเดซ ประธานาธิบดีอาร์เจนตินา ระบุกับองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ในข้อความทางวิดีโอเมื่อวันอังคาร (19 ก.ย.) นอกจากนี้ เฟอร์นันเดซยังกล่าวขอบคุณยูเนสโก ที่กำหนดให้ ESMA เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม
“ความทรงจำจะต้องคงอยู่” เฟอร์นันเดซกล่าวถึง “ความน่าสะพรึงกลัว” ที่เกิดขึ้นในโรงเรียนเก่าแห่งนี้
ในปี 2519 กลุ่มทหารได้ทำรัฐประหารโค่นล้มอำนาจ อิซาเบล เปรอน ประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้งของอาร์เจนตินา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของยุคเผด็จการที่ยาวนานไปถึงปี 2526 ทั้งนี้ ภายใต้การนำของกลุ่มเผด็จการทหาร อาร์เจนตินาเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง ในขณะที่ผู้นำทหารพยายามขจัดความขัดแย้ง การเคลื่อนไหว และความคิดเห็นทางการเมืองของฝ่ายซ้ายในอาร์เจนตินาอย่างรุนแรง
มีการคาดกันว่า อาร์เจนตินาในช่วงเวลานั้นมีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 30,000 ราย และยังมีผู้สูญหายซึ่งไม่ทราบชะตากรรมอีกมากมาย โดยประชาชนเหล่านี้หายตัวไประหว่างการควบคุมตัวของทหาร และไม่เคยมีใครได้ยินข่าวคราวของพวกเขาอีกเลย
อาร์เจนตินาเคยมีศูนย์กักกันในลักษณะดังกล่าวมากถึง 340 แห่งทั่วประเทศ อย่างไรก็ดี ESMA เป็นหนึ่งในศูนย์กักกันแรกสุด ที่มีการย้ายนักโทษไปที่นั่นในช่วงวันแรกของการรัฐประหาร นอกจากนี้ ESMA ยังเป็นหนึ่งในสถานที่อำนวยความสะดวก เพื่อการอุ้มทรมานบังคับสูญหายที่ใหญ่ที่สุดในอาร์เจนตินา โดยศูนย์กักกันแห่งนี้ตั้งอยู่ในกรุงบัวโนสไอเรส เมืองหลวงของอาร์เจนตินา ด้วยการเปลี่ยนผังโรงเรียนให้เป็นสถานที่ทรมาน ทั้งนี้ มีนักโทษรอดชีวิตออกมาจาก ESMA เพียงแค่ 200 คน
ยิ่งไปกว่านั้น ESMA ยังมีแผนกสูติกรรม ซึ่งผู้ต้องขังที่ตั้งครรภ์จะถูกพรากลูกของตัวเอง ไปจากพวกเธอในทันทีที่พวกเธอคลอดบุตรออกมา ทั้งนี้ เด็กเหล่านี้มักถูกรับเลี้ยงในครอบครัวที่สอดคล้องกับระบอบเผด็จการ เพื่อการกีดกันเด็กจากผู้ให้กำเนิดที่ต่อต้านระบอบการปกครองของเผด็จการ
ผู้นำทหารของอาร์เจนตินาพยายามปกปิดอาชญากรรมที่เกิดขึ้นที่ ESMA ทั้งในระหว่างและหลังการปกครองแบบเผด็จการ ตัวอย่างเช่น เมื่อผู้สังเกตการณ์นานาชาติเดินทางมาถึงอาร์เจนตินาในปี 2522 เพื่อสอบสวนกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชน คนงานที่ ESMA ได้รื้อบันไดที่ทอดลงไปที่ชั้นใต้ดิน ซึ่งเป็นที่ที่มีการทรมานจำนวนมากเกิดขึ้น ทหารยังสร้างกำแพงเพื่อปกปิดปล่องบันไดในอาคารอีกด้วย
หลายทศวรรษต่อมาในปี 2550 ESMA จะถูกมองว่าเป็นสถานที่แห่งความทรงจำ โดยมันได้รับการเปิดให้สาธารณชนเข้าชมอีกครั้ง เพื่อบอกเล่าเรื่องราวการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในบริเวณดังกล่าว นอกจากนี้ ในปีนี้เอง พิพิธภัณฑ์ ESMA ได้รับเครื่องบินที่ใช้ในการสังหารผู้ต้องขังมาจัดแสดง ซึ่งเป็นวิธีการประหารชีวิตในรูปแบบหนึ่งของเผด็จการอาร์เจนตินา ที่มีชื่อเรียกว่า "เที่ยวบินมรณะ" โดยนักโทษจะถูกวางยาและโยนลงทะเลระหว่างการบิน ในขณะที่พวกเขาในส่วนใหญ่มักจะยังคงมีชีวิตอยู่
ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ ESMA หวังว่าเครื่องบินและการจัดแสดงที่คล้ายกันนี้ จะช่วยให้คนรุ่นต่อๆ ไปจดจำโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นที่ ESMA และเน้นย้ำถึงความสำคัญของประชาธิปไตย
ในตอนนี้ UNESCO กำลังจัดการประชุมรอบขยายเวลาครั้งที่ 45 ณ กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย เพื่อการเพิ่มสถานที่เพิ่มเติมในรายการมรดกโลก ซึ่งรวมถึงเนินพิธีและฝังศพของชนพื้นเมืองในมลรัฐโอไฮโอ สหรัฐฯ เมืองโบราณศรีเทพในประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกเมื่อวันอังคาร
โฮราซิโอ เปียตรากัลลา คอร์ติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิทธิมนุษยชนอาร์เจนตินา กล่าวว่าการตัดสินใจของ UNESCO ถือเป็นการตำหนิผู้ที่พยายามเพิกเฉยต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นใน ESMA “การยอมรับในระดับสากลนี้ ถือเป็นการตอบโต้อย่างรุนแรงต่อผู้ที่ปฏิเสธหรือพยายามมองข้ามการก่อการร้ายโดยรัฐ และอาชญากรรมของเผด็จการพลเรือนและทหารครั้งสุดท้าย” คอร์ติกล่าว
ทั้งนี้ เฟอร์นันเดซ ประธานาธิบดีอาร์เจนตินา ยังชื่นชมการประกาศให้ ESMA เป็นมรดกโลกโดย UNESCO ที่จะกลายเป็นป้อมปราการต่อต้านการปฏิเสธการมีอยู่ของการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในขณะที่เฟอร์นันเดซขึ้นเวทีในการกล่าวสุนทรพจน์ของสหประชาชาติ ที่นิวยอร์กเมื่อวันอังคาร
“ด้วยการรักษาความทรงจำที่ผู้ปฏิเสธต้องการปกปิด เราจะทำให้แน่ใจว่าความเจ็บปวดนี้จะไม่มีวันเกิดขึ้นอีก” เฟอร์นันเดซกล่าว “เมื่อเผชิญกับอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ วิธีแก้ปัญหาของเราไม่ใช่การแก้แค้น แต่เป็นความยุติธรรม เพราะเรารู้ว่ามีความสยดสยองที่เกิดขึ้น จากการหายตัวไปของมนุษย์ 30,000 คน”
ที่มา: