นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว และเป็นช่วงฤดูการเพาะปลูก ซึ่งเกษตรกร มักใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งใช้มากในช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคมของทุกปี
ข้อมูลจากระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพ (HDC) กระทรวงสาธารณสุข พบว่าในปี 2561 มีรายงานผู้ป่วยจากพิษสารกำจัดศัตรูพืชทุกชนิดทั้งหมด 6,079 คน คิดเป็นอัตราป่วย 12.95 ต่อแสนประชากร นอกจากนี้ยังพบผู้ป่วยจากพิษสารกำจัดแมลง 2,956 คน คิดเป็นอัตราป่วย 6.3 ต่อแสนประชากร
ทั้งนี้ สารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืช สามารถเกิดพิษได้ 2 แบบ คือ
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ในส่วนโรคเนื้อเน่า นั้น ทางการแพทย์เรียกว่า เนคโครไทซิ่ง แฟสซิไอติส (Necrotizing fasciitis) จัดเป็นโรคติดเชื้อที่ผิวหนังและชั้นไขมันใต้ผิวหนังอย่างรุนแรง มีอัตราตายและพิการสูง พบในอาชีพเกษตรกรเป็นส่วนใหญ่ ต้องเดินลุยดงหญ้า นาข้าว เหยียบย่ำโคลนระหว่างทำนา ทำให้มีโอกาสเกิดบาดแผลเล็กๆ น้อยๆ และสัมผัสกับเชื้อโรคที่อยู่ในดิน หรือในน้ำได้ง่าย ซึ่งกลุ่มที่มีความเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำหรือเป็นโรคเกี่ยวกับเส้นเลือด เช่น เบาหวาน ไตวาย มะเร็งที่อยู่ระหว่างการรักษาด้วยเคมีบำบัด ผู้สูงอายุ คนอ้วน ผู้ที่กินยาสเตียรอยด์หรือยาชุด ผู้ที่ดื่มเหล้าเป็นประจำ เป็นต้น ต้องระวังอย่าให้มีบาดแผล หากมีบาดแผลก็จะต้องดูแลรักษาแผลให้สะอาด และหลีกเลี่ยงให้แผลโดนน้ำหรือดิน เพื่อไม่ให้แผลติดเชื้อลุกลามเป็นโรคเนื้อเน่า
ทั้งนี้ กรณีหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืชไม่ได้ ขอให้เกษตรกรใช้อย่างปลอดภัย โดยยึดหลักปฏิบัติ คือ “อ่าน ใส่ ถอด ทิ้ง” ได้แก่
1.อ่าน คือ ก่อนใช้ ให้อ่านฉลากให้เข้าใจ
2.ใส่ คือ สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันตัวให้มิดชิดขณะฉีดพ่น
3.ถอด คือ หลังจากเสร็จงานแล้วให้ถอดเสื้อผ้าแยกซัก อาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด
4.ทิ้ง คือ ทิ้งภาชนะบรรจุสารเคมีให้ถูกวิธี พร้อมทั้งสนับสนุนให้ประชาชนบริโภคผัก ผลไม้ ที่ไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และอบรมแนะนำการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างปลอดภัย รวมถึงสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันตนเองจากสารเคมี เช่น แว่นตาป้องกันสารเคมี หน้ากากป้องกันสารเคมี หมวกปีกกว้าง เสื้อแขนยาวกางเกงขายาว ถุงมือ และรองเท้าบูท เป็นต้น
ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422