กลุ่มสินค้าที่ได้กลับมาลืมตาอ้าปากจากพิษโควิด-19 ประกอบไปด้วย รถยนต์และส่วนประกอบ, ผลไม้สด แช่แย็น/แช่แข็ง และผลไม้แห้ง, น้ำมันสำเร็จรูป, เคมีภัณฑ์, คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์, ยางพารา และเหล็ก/ เหล็กกล้า สินค้าทั้งหมดเติบโตในหลัก 20% YoY ขึ้นไปทั้งสิ้น อีกทั้งยังมีไม่น้อยที่ไปแตะระดับ 100% YoY
ทุกอย่างก็ดูดีและไม่ได้มีปัญหาอะไร จนกระทั่งพบว่า การปรับตัวที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นเป็นการเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY) ซึ่งในปี 2563 นั้น ระดับการส่งออกของไทยตกลงอย่างผิดปกติอันเนื่องมาจากโรคระบาด
เมื่อหันมาดูตัวเลขในเดือน ก.ค.เทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) ตัวเลขจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ EIC กลับพบว่าภาคส่งออกหดตัวลง 1.1% ทั้งยังเป็นการหดตัวในหลายตลาดสำคัญของประเทศ โดยเฉพาะตลาดอาเซียนและ CLVM (กัมพูชา/ลาว/เวียดนาม/เมียนมา) ที่ได้รับผลกระทบหนักจากโควิด-19 เช่นเดียวกับตลาดสหรัฐฯ และยุโรป สะท้อนว่าอุปสงค์ภาคนอกที่คอยช่วยภาคส่งออกตลอดมานั้นเริ่มส่อแววอ่อนตัวลงจากการระบาดรอบล่าสุด
ปัญหาภายในไทยเองก็เข้ามาฉุดรั้งการเติบโตของภาคส่งออกเช่นเดียวกัน ข่าวการปิดโรงงานชั่วคราวเพราะพบผู้ติดเชื้อเห็นบ่อยครั้งขึ้น ล้วนสะท้อนอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ ทั้งของตัวโรงงานนั้น ๆ ที่ต้องปิดชั่วคราว ไปจนถึงสายการผลิตที่เชื่อมโยงกัน
อีกหนึ่งปัญหาที่ภาคส่งออกเผชิญมาเป็นเวลานานคือ การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และเซมิคอนดักเตอร์ (ชิป หรือสารกึ่งตัวนำ) ที่แม้จะเป็นปัญหาระดับโลกแต่ก็ส่งผลถึงไทยเช่นกัน
โดยล่าสุดทางการจีนต้องสั่งปิดท่าเรือหนิงโป-โจวซานในเซี่ยงไฮ้บางส่วนชั่วคราว เมื่อวันที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา หลังจากที่พบพนักงานติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลต้าจำนวน 1 ราย
การปิดท่าเรือหนิงโป-โจวซาน ซึ่งเป็นท่าเรือที่มีปริมาณการขนส่งสินค้ามากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลกนั้น ส่งผลให้ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ได้ปรับตัวแย่ลง และทำให้ราคาระวางเรือ (Freight) และระยะเวลาการขนส่งสินค้าปรับสูงขึ้นเพิ่มเติม
นอกจากนี้ปัญหาการขาดแคลนชิปได้ส่งผลกระทบต่อหลายอุตสาหกรรม อย่างเช่นในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ล่าสุดทางโตโยต้าได้ประกาศว่าจะลดการผลิตลง 40% ในช่วงเดือน ก.ย.ทั่วโลก เนื่องจากประสบปัญหาขาดแคลนชิป ซึ่งอาจกระทบต่อยอดส่งออกยานยนต์ของไทยในช่วงไตรมาส 4 ได้