ไม่พบผลการค้นหา
รัฐบาลไทยประกาศจะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ องค์กรนี้เป็นองค์กรระหว่างรัฐบาล เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประกอบด้วยประเทศสมาชิก 47 แห่ง มีหน้าที่ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทั้งปวงทั่วโลก มติของที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ระบุว่า รัฐภาคีที่ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกของคณะมนตรีฯ “จะต้องปฏิบัติตามาตรฐานสูงสุดในการส่งเสริมและการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน”

"ประเทศไทยควรใส่ใจอย่างเร่งด่วนต่อประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่กำลังเกิดขึ้น ก่อนการเลือกตั้งสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติครั้งต่อไป" ฟอร์ตี้ฟายไรต์ระบุหลังจากเมื่อวันที่ 24 ก.ย.2565 รัฐบาลไทยได้แถลงต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ถึงเจตจำนงของที่จะลงเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในวาระปี 2568-2570

“การจะก้าวไปยังจุดนี้ หมายความว่าประเทศไทยต้องเตรียมพร้อมที่จะยุติและเยียวยาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในบ้านของตัวเองก่อน ถ้าประเทศไทยเห็นความสำคัญของการลงสมัครอย่างจริงจัง ทางการไทยต้องคุ้มครองผู้ลี้ภัย สิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ สิทธิที่จะมีเสรีภาพด้านการแสดงออก รวมถึงการชุมนุมอย่างสงบ และสิทธิข้ออื่น ๆ” เอมี สมิธ (Amy Smith) ผู้อำนวยการบริหารฟอร์ตี้ฟายไรต์กล่าว 

ทั้งนี้ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเป็นองค์กรระหว่างรัฐบาล เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประกอบด้วยประเทศสมาชิก 47 แห่ง มีหน้าที่ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทั้งปวงทั่วโลก มติของที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเพื่อจัดตั้งคณะมนตรีสิทธิฯ ระบุว่า รัฐภาคีที่ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกของคณะมนตรีฯ “จะต้องปฏิบัติตามาตรฐานสูงสุดในการส่งเสริมและการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน”

ในการประกาศลงสมัครรับเลือกตั้งของประเทศไทยต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ สมัยประชุมที่ 77 วันที่ 24 ก.ย.ที่ผ่านมา นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ กล่าวว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนและสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่เกี่ยวโยงและหนุนเสริมกัน เป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างยิ่ง เพื่อประกันให้เกิดสภาพแวดล้อมของสันติภาพและความก้าวหน้า ประเทศไทยจึงประกาศลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในวาระปี 2568-2570 หากได้รับเลือก เราจะสามารถช่วยหนุนเสริมการทำงานของคณะมนตรีฯ และกลไกต่าง ๆ เพื่อให้เข้าถึงคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงและถูกทอดทิ้งมากสุด และส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกที่มีความหมายในระดับท้องที่

ฟอร์ติฟายไรต์ระบุว่า ทางการไทยมักละเมิดสิทธิต่างๆ ที่ได้รับการรับรองตามกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะสิทธิของกลุ่มเปราะบางอันรวมถึงผู้ลี้ภัย ผู้มีความหลากหลายทางเพศ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ผู้ประท้วง แลผู้ทำงานภาคประชาสังคม รัฐบาลไทยละเมิดสิทธิในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสันติ การจับกุมอย่างมิชอบต่อผู้วิพากษ์วิจารณ์สถาบันและนักกิจกรรมส่งเสริมประชาธิปไตย รวมทั้งการปราบผู้ประท้วงเพื่อประชาธิปไตยที่เป็นเยาวชน ทั้งที่ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศหลายฉบับ ทั้งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง, อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

ตามข้อมูลของ สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ประเทศไทยเป็นแหล่งพำนักของผู้ลี้ภัยจากเมียนมาร์กว่า 91,400 คน ในค่าย 9 แห่งตามแนวพรมแดน ทั้งยังมีผู้ลี้ภัยอย่างน้อยอีก 5,150 คนที่อาศัยอยู่นอกค่าย ในประเด็นนี้ประเทศไทยไม่ได้เป็นรัฐภาคีต่ออนุสัญญาว่าด้วยสถานะของผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 และพิธีสาร พ.ศ. 2510 รวมถึงไม่มีกรอบกฎหมายในประเทศเป็นการเฉพาะเพื่อรับรองสถานะและให้ความคุ้มครองกับผู้ลี้ภัย หากปราศจากสถานะตามกฎหมายในประเทศไทย ผู้ลี้ภัยอาจถูกกักตัวไว้ในค่าย หรือตกเป็นเหยื่อของการจับกุมโดยพลการ, การกักตัว และ การบังคับส่งกลับ (refoulement)

นับแต่การทำรัฐประหารในเมียนมาปี 2564 ฟอร์ตี้ฟายไรต์ได้บันทึกข้อมูลกรณีที่ผู้ลี้ภัยจากเมียนมาถูกทางการไทยบังคับส่งกลับไว้มากมาย การกระทำเช่นนี้เป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ ตัวอย่างเช่น ในเดือนพฤษภาคม 2564 ทางการไทยบังคับผู้ลี้ภัย 2,000 คนที่หลบหนีจากความรุนแรงในรัฐกะเหรี่ยง ให้เดินทางกลับไปยังประเทศเมียนมา

ฟอร์ตี้ฟายไรต์เรียกร้องให้ทางการไทยควรลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสถานะของผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 และพิธีสาร พ.ศ. 2510 และให้สถานะตามกฎหมายและความคุ้มครองทันทีต่อผู้ลี้ภัยในประเทศไทย

ในด้านสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ภายหลังกระบวนการพิจารณาที่ยืดเยื้อมาหลายปี เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2565 สภาผู้แทนราษฎรไทยได้รับรองร่างพระราชบัญญัติ 4 ฉบับ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ตามกฎหมายของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือที่เรียกว่า ร่างพรบ.สมรสเท่าเทียม และร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต อย่างไรก็ดี การปิดประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจําปีตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย. ส่งผลให้กระบวนการพิจารณาหยุดชะงักลง และจำเป็นต้องรอการเปิดประชุมใหม่เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติในวาระต่อไป เนื่องจากยังไม่มีการประกาศเปิดสมัยประชุมใหม่ คู่สมรสผู้มีความหลากหลายทางเพศในไทยจึงยังคงถูกปฏิเสธสิทธิในการสมรสและสิทธิที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ยิ่งทำให้ปัญหาการเลือกปฏิบัติที่ชุมชนเหล่านี้เผชิญอยู่เลวร้ายลงไปอีก

ในประเด็นด้านนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ประเทศไทยยังไม่สามารถคุ้มครองพวกเขาจากการคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรม หรือที่เรียกว่าการฟ้องคดีปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ (SLAPP) ในไทย กฎหมายหมิ่นประมาททางอาญามักถูกยกมาใช้เพื่อโจมตี คุกคาม และปิดปากนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ในปี 2561 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้แก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งอนุญาตให้ศาลสามารถยกฟ้องคดีและห้ามการฟ้องซ้ำ กรณีที่เป็นการฟ้องคดีโดยไม่สุจริตหรือโดยบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อกลั่นแกล้งหรือเอาเปรียบจำเลย อย่างไรก็ดี ศาลไทยยังคงสั่งรับพิจารณาคดีฟ้องปิดปากในชั้นไต่สวนต่อไปฟอร์ตี้ฟายไรต์ขอเรียกร้องให้ประเทศไทยลดการเอาผิดทางอาญาต่อความผิดฐานหมิ่นประมาท และยกเลิกคดีที่ฟ้องต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และบุคคลอื่น ๆ อย่างไม่เหมาะสม เพื่อป้องกันการคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรม

นอกจากนี้ ในปี 2565 รัฐบาลไทยได้เผยแพร่ร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร หรือที่เรียกว่า 'กฎหมายเอ็นจีโอ' เพื่อควบคุมกำกับการดำเนินงานขององค์กรไม่แสวงหากำไรในประเทศไทย ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ 3 คนได้ออกมาวิจารณ์ร่างของกฎหมายเอ็นจีโอในเบื้องต้นว่า “ดูเหมือนจะไม่สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ” หากมีการประกาศใช้ กฎหมายเอ็นจีโอฉบับดังกล่าวจะละเมิดเสรีภาพขั้นพื้นฐานด้านการแสดงออกและการสมาคมที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ  

ฟอร์ตี้ฟายไรต์ระบุอีกว่า ระหว่างกระบวนการทบทวนสิทธิมนุษยชนตามวาระ (UPR) ครั้งล่าสุดของไทย ซึ่งเป็นกระบวนการภายใต้กลไกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ที่รัฐภาคีสหประชาชาติจะตรวจสอบสถิติด้านสิทธิมนุษยชนของแต่ละประเทศ ประเทศไทยประกาศไม่รับข้อเสนอแนะจำนวนมากเกี่ยวกับเสรีภาพด้านการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศไทยประกาศไม่รับข้อเสนอแนะจากเยอรมนีให้ “ทบทวนกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ กฎหมายความผิดทางคอมพิวเตอร์ และกฎหมายหมิ่นประมาททางอาญา” ประเทศไทยยังไม่รับข้อเสนอแนะจากสหรัฐอเมริกาที่ให้ “ยกเลิกการพิจารณาร่างกฎหมายการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร และร่างกฎหมายใหม่อื่น ๆ ที่อาจจำกัดพื้นที่ของภาคพลเรือนในประเทศไทย”

“การลงสมัครรับเลือกตั้งของประเทศไทย เพื่อเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เป็นโอกาสที่รัฐบาลจะแสดงให้เห็นว่าตนปฏิบัติตามพันธกิจอย่างจริงจังต่อประเด็นสิทธิมนุษยชน โดยการใส่ใจอย่างเร่งด่วนต่อประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่กำลังเกิดขึ้น ประเทศไทยต้องทำงานอย่างหนักตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อทำให้กฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติของตน สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ” เอมี สมิธ กล่าว