วันนี้ (5 ต.ค.2567) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัยและดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. เปิดเผยว่า สถานการณ์แม่น้ำปิงยังน่าเป็นห่วง พร้อมทั้งขอให้ ศปช.ส่วนหน้าที่จังหวัดเชียงรายประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เพื่อเร่งเข้าแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดจังหวัดเชียงใหม่ทันที ซึ่งได้รับรายงานตั้งแต่ 05:00 น. วันนี้ว่าได้ดำเนินการประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดจังหวัดเชียงใหม่เพื่อเข้าสู่พื้นที่น้ำท่วมที่ยังไม่สามารถเข้าได้
และต้องพร้อมรับมือกับปริมาณระดับน้ำที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้น โดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้มีการออกประกาศแจ้งเตือนในพื้นที่แม่น้ำปิง และแม่น้ำสายให้เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขังแม่น้ำปิง ช่วงวันที่ 3 - 6 ต.ค. 67 เนื่องจากเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำปิงและแม่น้ำสาขาเพิ่มสูงขึ้นมีแนวโน้มล้นตลิ่ง คาดว่าที่สะพานนวรัฐ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ จะมีระดับน้ำสูงสุดสูงกว่าระดับตลิ่งชั่วคราว 1.58 ม. ในวันที่ 6 ต.ค. 67 และให้เฝ้าระวังพื้นที่ริมลำน้ำ ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ บริเวณ อ.เมืองฯ ฮอด สารภี แม่วาง และดอยหล่อ รวมพื้นที่คาดการณ์น้ำท่วมในจ.เชียงใหม่ 206.75 กม. และในจ.ลำพูน บริเวณ อ.เมืองฯ ป่าซาง และเวียงหนองล่อง
ส่วนการดำเนินการปรับแผนในการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพื่อรองรับสถานการณ์ตามปริมาณน้ำเหนือ นายจิรายุกล่าวว่า เนื่องจากปัจจุบันมีปริมาณฝนตกหนักทางพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำอย่างต่อเนื่อง คาดการณ์สถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา ในช่วง 1 - 7 วันข้างหน้า ที่สถานีวัดน้ำ C.2 จ.นครสวรรค์ จะมีปริมาณน้ำไหลผ่านประมาณ 2,200 - 2,500 ลบ.ม./วินาที กรมชลประทาน จำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำแบบขั้นบันไดผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราไม่เกิน 2,400 ลบ.ม./วินาที เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำฝน-น้ำท่า
ทั้งนี้ การระบายน้ำในอัตราดังกล่าว จะส่งผลให้ระดับน้ำบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาและพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 60-70 เซนติเมตร เฝ้าระวังเป็นพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ในบริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา แม่น้ำน้อยบริเวณ ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา, อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท, อ.พรหมบุรี อ.เมือง อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี วัดไชโย อ.ไชโย จ.อ่างทอง, ต.โพนางดำตก อ.สรรพยา จ.ชัยนาท, วัดเสือข้าม อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง และหากระดับน้ำทางตอนบนเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น จะมีการประเมินการณ์จากสทนช.และให้กรมชลประทาน แจ้งเตือนให้ประชาชนพื้นที่ท้ายน้ำทราบเป็นระยะ ๆ ต่อไป
นายจิรายุกล่าวถึง ที่ประชุมรับทราบการรายงานจากปภ. ตามข้อสั่งการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัยและดินโคลนถล่ม จ.เชียงราย ของนางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย ในฐานะประธานศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่มส่วนหน้า (ศปช.ส่วนหน้าจังหวัดเชียงราย) ใน 5 ประเด็น ดังนี้
1. มอบหมายให้สำนักงานทส. จ.เชียงราย บริหารจัดการฟื้นฟูใน อ.แม่สาย เพื่อจัดการขยะในพื้นที่
2. มอบหมายให้ตำรวจภูธร จ.เชียงราย บริหารจัดการฟื้นฟูพื้นที่สาธารณะในอ.เมือง จ.เชียงราย
3. มอบหมายให้อำเภอ สำนักงานปภ. จ.เชียงราย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำรวจบ้านผู้เสียหายไม่ว่าทั้งหลังหรือบางส่วน ให้ได้จำนวนแน่นอนทั้งหมด เพื่อเตรียมการให้ความช่วยเหลือตามระเบียบกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย ของสำนักนายกรัฐมนตรี
4. ให้สำนักงาน ปภ. จ. จัดทำบัญชีรับสิ่งของบริจาคเพื่อจัดเตรียมส่งมอบพื้นที่ประสบภัย รับบริจาคให้กับสำนักงานจังหวัดและที่ทำการปกครองจังหวัด เพื่อจัดสรรให้กับผู้ประสบภัยได้อย่างทั่วถึง
5. ให้สำนักงานปภ. จ. ประสานอ.แม่สาย อ.เวียงปาเป้า รวมถึงอ.ที่เกิดสถานการณ์อุทกภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีที่อยู่นอกเขต อ. เมืองเชียงราย ร่วมประชุมผ่านระบบทางไกลเพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมเชียงใหม่เมื่อคืนที่ผ่านมา (4 ต.ค. 67) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) ได้ร่วมทำงานกับศูนย์บัญชาเหตุการณ์จังหวัดเชียงใหม่เพื่อสนับสนุนแก้ไขปัญหาและให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และพื้นที่รอยต่อจังหวัดลำพูน ได้ปฏิบัติงานใน 2 ส่วน ดังนี้
1.ชุดปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย (อพยพประชาชน การอำนวยความสะดวกในการสัญจร รวมถึงการแจกจ่ายอาหารและสิ่งของดำรงชีพ) ปฏิบัติงานเมื่อคืนในพื้นที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ และอำเภอแม่แตง ได้จัดทีมเจ้าหน้าที่ชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) พร้อมรถยกสูง เรือท้องแบนพร้อมเครื่องยนต์
2.ชุดปฏิบัติการสูบน้ำท่วมขัง/สูบระบายน้ำในพื้นที่ปลายน้ำของจังหวัดเชียงใหม่ และรอยต่อจังหวัดลำพูน ทีม ปภ. ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำท่วมขังสมรรถนะสูง ศักยภาพสูบน้ำได้ 50,000 ลิตร/นาที ไว้ที่พื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญ สำหรับเร่งระบายมวลน้ำก้อนเดิมออก เพื่อให้พื้นที่ปลายน้ำสามารถรองรับมวลน้ำใหม่ได้ และสามารถระบายน้ำออกแม่น้ำกวง และแม่น้ำปิงได้
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้เเจ้งต่อที่ประชุมถึงสถานการณ์น้ำในอ.เเม่สาย จ.เชียงราย ว่ามีระดับน้ำลดลง และสถานการณ์กำลังเข้าสู่ภาวะปกติ โดยน้ำที่ท่วมซ้ำในพื้นที่1 -2 วันที่ผ่านมาเป็นน้ำหลากไม่มีดินโคลนระลอกใหม่ เหลือดินโคลนที่ยังค้างอยู่ในน้ำท่วมเฟสแรก
นายจิรายุ กล่าวเพิ่ม ในส่วนของการประชุมติดตามความคืบหน้าเฟสแรกใน จ.เชียงราย เพื่อฟื้นฟูเยียวยาประชาชนเมื่อวานนี้ (4 ต.ค. 67) นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย ในฐานะประธานศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่มส่วนหน้า (ศปช.ส่วนหน้าจังหวัดเชียงราย) พร้อมด้วยพล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม ในฐานะที่ปรึกษา ศปช.ส่วนหน้าจังหวัดเชียงราย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้สรุปแผนดำเนินการในเฟสแรก ขณะนี้ กำลังพลจากกระทรวงกลาโหม มีหน่วยทหารต่างๆ ลงมาประจำจุดทำการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ทำความสะอาดนำดินโคลนออกมาจากที่อยู่อาศัย อีกทั้ง เร่งดำเนินการเรื่องสาธารณูปโภค ทั้งไฟฟ้า น้ำ และสัญญาณโทรศัพท์ ซึ่ง คาดว่าจะทำงานแล้วเสร็จได้ตามกรอบเดิมที่วางไว้
ส่วนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รายงานการติดตามการช่วยเหลือหมู่บ้านปางช้างแม่แตง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ โดยได้เคลื่อนย้ายช้างขึ้นที่สูงแล้ว 123 เชือก เหลือเพียง 9 เชือก เนื่องจากเป็นช้างที่มีความดุ ซึ่งได้ประสานผู้เชี่ยวชาญด้านช้างเข้าให้การช่วยเหลือ