ไม่พบผลการค้นหา
'กรุณพล' ร้อง 'รมว.เกษตรฯ' ขอดูกล้องวงจรปิด-สัญญาจัดซื้อจัดจ้าง หลังไฟไหม้สำนักงาน หวังคงไม่โชคดีถึงขั้นทำเอกสารสำคัญเสียหาย เผย 'ก้าวไกล' เชื่อทุกพรรคเห็นพ้องยกเลิกประกาศ คสช. ที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน

วันที่ 5 ก.พ. ที่อาคารรัฐสภา กรุณพล เทียนสุวรรณ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการฯ มีข้อกังวลว่าเอกสารที่ถูกไฟไหม้ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยระบุว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานว่าเป็นเอกสารที่มีความสำคัญมากแค่ไหน โดยอยากฝากไปถึง รมว.เกษตรฯ ว่า ขอดูกล้องวงจรปิด ว่ามีใครเข้าไปในบริเวณนั้นหรือไม่ โดยปกติพื้นที่เก็บเอกสาร ต้องผ่านระบบรักษาความปลอดภัยก่อน แต่ถ้าเอกสารที่ถูกไฟไหม้ไม่ได้มีความสำคัญก็คงไม่มีปัญหา 

พร้อมทั้งเรียกร้องให้เปิดสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง เพราะในหน่วยงานราชการต้องมีระบบดับเพลิงอัตโนมัติ และระบบแจ้งเตือนควัน เพื่อให้ทราบว่ามีการบำรุงรักษามากแค่ไหน ใช้งบประมาณมากแค่ไหน ความเสียหายที่เกิดขึ้น เหมาะสมกับงบประมาณที่ใช้ในการป้องกันหรือไม่ ความเสียหายมีผลต่อกรมฝนหลวง ที่จะต้องเข้ามาชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการในวันที่ 15 ก.พ. นี้ หรือไม่ ทั้งนี้ อธิบดีกรมได้ตอบรับแล้วว่าจะมาชี้แจง เช่นเดียวกับอธิบดีกรมการข้าว ส่วนข้อสงสัยต่างๆ ของกรรมาธิการฯ ก็ได้ชี้แจงในการแถลงข่าวและหนังสือเชิญของกรรมาธิการฯ แล้ว

"หวังว่าคงไม่โชคดีถึงขั้นไฟไหม้เอกสารสำคัญที่เกี่ยวกับการต้องเข้ามาชี้แจง หากถูกไฟไหม้จริงคงต้องไปไล่บี้เอาว่า เหตุใดจึงเกิดไฟฟ้าลัดวงจร อย่างที่รัฐมนตรีช่วยได้บอก รวมถึงที่นายกรัฐมนตรี บอกว่า ไม่ใช่ไฟฟ้าลัดวงจร แต่เป็นอุบัติเหตุของช่างซ่อมเครื่องปรับอากาศ หากเป็นแบบนั้นจริงก็จะขอเจอช่างที่เข้ามาซ่อม และขอเอกสารหลักฐานในการติดต่อช่าง ว่ามีช่างเข้าไปซ่อมจริงหรือไม่ หรือเป็นเพราะไฟฟ้าลัดวงจร หรือเหตุการณ์ใดกันแน่ ต้องมีคำตอบให้ประชาชน เพราะแม้ของที่ไหม้จะเป็นของกระทรวงเกษตรฯ แต่ก็เป็นเงินภาษีของพี่น้องประชาชนเหมือนกัน"

ส่วนกังวลหรือไม่ว่าการตรวจสอบไฟไหม้ครั้งนี้จะเชื่อมโยงกับกรมการข้าว และกรมฝนหลวง กรุณพล ระบุว่า ไม่หนักใจ เพราะมีเอกสารในมือ ซึ่งมีลายเซ็นคำสั่งของอธิบดี รองอธิบดี และเอกสารรายรับรายจ่าย ซึ่งเชื่อว่าแม้ไม่มีเอกสารใดๆ ถ้าอธิบดีไม่ได้มีปัญหาเรื่องความจำสั้น ก็น่าจะตอบข้อชี้แจงได้ชัดเจน เพราะเวลายังผ่านมาไม่ถึง 1 ปี แล้วเกี่ยวข้องกับงบประมาณก้อนใหญ่ หลายร้อยล้านบาท หากตรงไปตรงมาก็สามารถตอบคำถามของคณะกรรมาธิการได้

กรณีที่ ไชยา พรหมมา รมช.เกษตรฯ ชี้แจงว่า กรณีการจัดซื้อเครื่องบินของกรมฝนหลวง มีคณะกรรมการตรวจสอบถึง 5 ชุด ผ่านกระบวนการประมูล e-bidding ชัดเจน กรุณพล กล่าวว่า ก็ฟังได้ แต่การที่กรรมาธิการตั้งข้อสงสัย ไม่ได้หมายความว่ามีการทุจริต แต่มีข้อสงสัยว่าทำไมต้องเป็นบริษัทนี้ เป็นเครื่องบินสเปคนี้ ราคาเท่านี้ ได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีหรือการซ่อมบำรุงมากน้อยแค่ไหน จึงมีการตั้งคำถาม เพื่อให้ใช้ภาษีของประชาชนอย่างมีประโยชน์ เชื่อว่าไม่ว่าถามแบบใด ถ้ามีคำตอบที่โปร่งใสชัดเจน ประชาชนเข้าถึงการตรวจสอบได้ ก็ไม่มีปัญหา อย่าเพิ่งกังวลว่าเมื่อกรรมาธิการฯ ตั้งคำถามแล้วจะกลายเป็นผู้ผิดหรือผู้ทุจริต ซึ่งก็จะนำเรื่องนี้เข้าพูดคุยในที่ประชุมด้วย

กรุณพล ยังย้ำว่า ในวันที่ 15 ก.พ. อธิบดีกรมฝนหลวงยืนยันจะเข้ามาชี้แจงต่อกรรมาธิการฯ ด้วยตนเอง แต่อธิบดีกรมการข้าวขอดูคำถามก่อน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าขณะที่ประชาชนตั้งข้อสงสัยต่ออธิบดีกรมการข้าว ทั้งเรื่อง ศรีสุวรรณ จรรยา ร้องเรียน หรือเรื่องที่ได้ยินมาจากหน่วยงานต่างๆ จึงอยากให้อธิบดีกรมการข้าวชี้แจงให้สิ้นข้อสงสัย

ส่วนกรณีที่พรรคภูมิใจไทย เสนอร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกคำสั่งของ คสช. นั้น กรุณพล กล่าวว่า หากทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลเห็นพ้องต้องกันในคำสั่งที่ไม่เป็นธรรม หรือละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เชื่อว่าการยกเลิกก็จะผ่านพ้นไปได้ด้วยดี เพราะทางพรรคก้าวไกลเองก็มีนโยบายยกเลิกคำสั่งที่ไม่เป็นธรรมของ คสช. อยู่แล้ว

ขณะที่ทางพรรคก้าวไกลอาจจะมีการยื่นร่างกฎหมายยกเลิกคำสั่ง คสช. เหมือนกัน แต่อาจแตกต่างกันในรายละเอียด พร้อมมองว่าในช่วงหาเสียงทุกพรรคการเมืองก็พูดตรงกันว่าไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร และคำสั่งของคณะรัฐประหารเป็นคำสั่งที่ไม่ได้รับการถกเถียงอย่างกว้างขวาง และไม่ยึดสิทธิเสรีภาพของประชาชน จึงเชื่อว่าทั้งพรรคฝ่ายค้านและรัฐบาลจะทำตามที่เคยหาเสียงไว้ และมั่นใจว่าจะเป็นการแก้ไขที่เป็นสากล


ย้ำนิรโทษกรรมคดีการเมืองควรต้องรวมคดี ม.112

กรุณพล กล่าวถึงกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม ที่หลายฝ่ายไม่เห็นด้วยเนื่องจากมีการรวมคดีเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 คดีทุจริตและคดีอาญาต่างๆ

โดย กรุณพล ระบุว่า เราต้องมีการถกเถียงหาข้อยุติในข้อสงสัยของแต่ละพรรค ซึ่งความเห็นอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ แต่หากไม่เปลี่ยนเราก็ยังยืนยันในหลักการว่าการนิรโทษกรรมควรรวมความผิดมาตรา 112 ไปด้วย แต่ไม่รวมผู้ก่อการทั้งหลายที่เป็นแกนนำ เพราะเห็นว่ามีหลายกรณีที่ถูกแจ้งข้อหามาตรา 112 สุดท้ายในบั้นปลายศาลก็ยกฟ้องให้กับผู้ถูกกล่าวหา 

กรุณพล กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ในกรณีที่หลายคนไม่ได้รับการประกันตัวและถูกขังคุกในช่วงที่สืบพยานนั้น ตนมองว่าไม่มีความเป็นธรรมเพราะหลักการทางเสรีภาพของประชาชน ทางกฎหมายก็บอกอยู่แล้วว่าหากศาลยังไม่มีคำตัดสินเป็นที่สิ้นสุด ให้ถือว่าบุคคลนั้นยังเป็นผู้บริสุทธิ์ เมื่อเป็นผู้บริสุทธิ์ก็สามารถประกันตัวมาต่อสู้ทางกฎหมายได้ ดังนั้น มาตรา 112 จึงไม่ได้แตกต่างจากกฎหมายแบบอื่น ที่จะมีโอกาสในการต่อสู้คดี 

กรุณพล กล่าวด้วยว่า หากเราจะนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองทั้งหมด เราจะเห็นว่าคดี 112 ในช่วงสองปีที่ผ่านมาก็เป็นการเรียกร้องที่มีการลงถนน หรือบางคนมีการพูดบางคำที่ทำให้ผู้ใหญ่บ้านเมืองนี้มีความไม่สบายใจ เราจำเป็นที่จะต้องยืนยันในหลักการนี้ 

เมื่อถามว่า มองว่าการตั้ง กมธ.ขึ้นมาศึกษาเรื่องนี้เป็นการถ่วงเวลาให้กับทางพรรคหรือไม่ กรุณพล กล่าวว่า ไม่ได้เป็นการถ่วงเวลา แต่ย้ำว่าคดีทางการเมืองควรต้องรวมมาตรา 112 ด้วย หากสุดท้ายต้องลงมติและเราไม่สามารถโน้มน้าวให้มีความเห็นแบบเดียวกับเราได้ ก็ถือว่าเรายังยืนอยู่ในจุดยืนที่ต้องการชี้ให้สังคมเห็นว่า ทำไมต้องการให้มาตรา 112 รวมอยู่ในกฎหมายนิรโทษกรรม เพื่อเป็นความเข้าใจในอนาคต กฎหมายสามารถเปลี่ยนแปลงได้ อย่างน้อยเราก็ได้ปลูกฝังความเชื่อ ความคิด เหตุผล ให้คนได้ฟังว่ากฎหมายมาตรา 112 คือการกลั่นแกล้งทางการเมือง 

เมื่อถามว่า พรรคก้าวไกลจะต้องมีความระมัดระวังมากขึ้นหรือไม่ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าขอให้ยุติการกระทำที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 กรุณพล กล่าวว่า จริงๆ ไม่ต้องระมัดระวัง เพราะศาลเองก็ได้บอกว่ามาตรา 112 สามารถแก้ให้เพิ่มหรือลดโทษได้ในสภาฯ ซึ่งพรรค ก้าวไกลเป็นพรรคการเมืองเรามีหน้าที่ ฝ่ายนิติบัญญัติที่สามารถแก้ไขกฎหมายล้าหลังให้ทันสมัย ที่ไม่เป็นธรรมเกิดความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในยุคปัจจุบันได้ 

“มาตรา 112 ก็เป็นกฎหมายที่มีคนเขียนขึ้นไม่ได้ลอยลงมาจากฟ้า ในเมื่อคนเขียนขึ้น คนก็ต้องแก้ไขได้“ กรุณพล กล่าว

เมื่อถามย้ำว่า ทางพรรคได้มีการหารือในการเดินหน้ามาตรา 112 ว่าควรจะมีความระมัดระวังเพิ่มขึ้นหรือไม่ กรุณพล กล่าวว่า จริงๆ ก็ต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น และต้องรอคำวินิจฉัยตัวเต็มของศาลรัฐธรรมนูญว่าเหตุใดจึงออกคำวินิจฉัยเช่นนี้ มีข้อกำหนดใดๆ หรือไม่ที่ต้องห้ามทำ ตอนนี้เราก็ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญที่มีออกมาเบื้องต้นก่อน แต่ยืนยันว่าการพูดนอกสภาฯ คือการอธิบายให้เห็นถึงการแก้ไขกฎหมายทุกมาตราของประเทศนี้ ไม่ใช่เป็นการล้มล้าง