ไม่พบผลการค้นหา
หลังม็อบการเมืองห่างหายไปจากหน้าสื่อพักใหญ่ เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. มีกิจกรรม ‘เดินไล่ตู่’ ซึ่งเป็นกิจกรรมชุมนุมประท้วง และแสดงออกเชิงสัญลักษณ์โดยการเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มายังอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มีจุดประสงค์เพื่อขับไล่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา-เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองจากเรือนจำ รวมทั้งยกเลิกมาตรา 112

เมื่อยุติกิจกรรมที่อนุสาวรีย์ชัยฯ ปรากฏว่ามวลชนบางส่วนที่มาร่วมกิจกรรมได้เดินทางอไปรวมตัวกันบริเวณแยกดินแดงในช่วงเย็น และมีการสื่อสารกันว่าจะเดินทางไปยังบริเวณด้านหน้ากรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นที่ตั้งบ้านพักของ พล.อ.ประยุทธ์ ขณะที่ฝั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งระดมกำลังเจ้าหน้าที่เข้าประจำบริเวณด้านหน้ากรมดุริยางค์ทหารบก จุดระหว่างเส้นทางจากแยกดินแดงไปหน้ากรมทหารราบที่ 1 


การเผชิญหน้า-ปะทะกันที่แยกดินแดงเกิดอีกครั้ง หลังจางหายไปกว่าครึ่งปี

ก่อนหน้านี้ ถ้ายังจำกันได้ การรวมตัวชุมนุมบริเวณแยกดินแดงของกลุ่มมวลชนอิสระ ไร้แกนนำ หรือที่ถูกเรียกว่า ‘ม็อบทะลุแก๊ส’ เคยเกิดขึ้นต่อเนื่องทุกวันตั้งแต่ช่วงเดือน ส.ค. ถึงวันที่ 6 ต.ค. 2564 โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจให้กำลังเข้าปราบปรามและเข้าควบคุมพื้นที่บริเวณแฟลตดินแดงทุกวัน วันที่ 6 ต.ค.2564 เหตุการณ์การปะทะกันนำไปสู่การจับกุมดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมราว 100 รายโดยสวนใหญ่เป็นเยาวชน  

อย่างไรก็ดี ‘สมรภูมิดินแดง’ มีผู้เสียชีวีตอย่างน้อย 2 ราย คือ วาฤทธิ์ สมน้อย เยาวชนอายุ 15 ปี ถูกยิงบริเวณหน้า สน.ดินแดง คืนวันที่ 16 ส.ค.2564 เสียชีวิตหลังรักษาตัวกว่า 2 เดือนในไอซียูของรพ.ราชวิถี เพราะถูกยิงเข้าที่บริเวณลำคอด้านซ้าย กระสุนยังคงค้างอยู่บริเวณก้านสมอง 1 นัด  อีกรายคือ มานะ หงษ์ทอง ชายวัย 64 ปี ถูกลูกหลงจากการสลายการชุมนุมของ คฝ.ยิงกระสุนยางใส่บริเวณศีรษะ เมื่อ 15 ส.ค. 2564 จนกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงนานกว่าครึ่งปีและเสียชีวิตเมื่อ 5 มี.ค. 2565  

ทั้งนี้ในการรวมตัวครั้งนี้พบว่า จำนวนมวลชนอิสระมีจำนวนน้อยลงกว่าช่วงปี 2564 ขณะที่ภายในพื้นที่การชุมนุมมีกิจกรรมอื่นๆ เพิ่มเติมเข้ามาไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมยืนหยุดขัง และการเดินขบวนโดยสันติไปยังหน้ากรมทหารราบที่ 1 แต่ก็ยังถูกสกัดกั้น ส่วนการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจพบว่า มีลักษณะของการช่วงชิงพื้นที่ก่อนถึงเวลารวมตัว มีการใช้แก๊สน้ำตา กระสุนยางในการสกัดกั้นการชุมนุม และเข้าระงับเหตุ มีการดำเนินการจับกุมซึ่งหน้า ตั้งด่านสกัดตามพื้นที่ต่างๆ และมีการดำเนินการออกหมายจับผู้ก่อเหตุในภายหลัง 


11 มิ.ย. - ยิงกระสุนยางใส่ประชาชนที่มาสังเกตการณ์ 

เหตุการณ์ที่แยกดินแดงกลับมาปะทุอีกครั้งหลังจางหายไปกว่าครึ่งปี โดยในวันที่ 11 มิ.ย. พบว่ามีการรวมตัวกันของกลุ่มมวลชนอิสระที่จุดพุลไฟ จุดประทัด และขว้างปาขวดแก้วมายังแนว คฝ. ตั้งแต่ช่วงเวลาประมาณ 18.30 น. ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจในชุดสีกากี พร้อมด้วยอาวุธปืนยิงกระสุนยาง โล่ และกระบอง รวมทั้งรถฉีดน้ำแรงดันสูง (จีโน่) ได้จัดตั้งจุดสกัดที่บริเวณด้านหน้ากรมดุริยางค์ทหารบก รวมทั้งมีการกระจายตัวอยู่ในจุดอื่นๆ โดยรอบแยกดินแดง 

ต่อมาเวลา 19.00 น. กำลังของเจ้าที่ตำรวจได้เคลื่อนตัวกระชับพื้นที่ทั้งสามด้าน ถนนวิภาวดีรังสิต-ถนนดินแดงมุ่งหน้าอนุสาวรีย์-ใต้ด่วนดินแดง โดยมีการฉีดน้ำสกัดผู้ชุมนุม ยิงแก๊สน้ำตา และใช้กระสุนยาง ทำให้มวลชนกระจายตัวออกไป ปักหลักอยู่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยฯ

19.20 น. พบว่ามวลชนกลุ่มหนึ่งได้เข้าไปทุบทำลายและปาระเบิดเพลิง ใส่รถกะบะสายตวรจซึ่งจอดทิ้งไว้บริเวณใกล้กับทางลงอุโมงค์แยกดินแดง เจ้าหน้าที่จึงรีบเข้าระงับเหตุ ทันทีที่มวลชนเห็นเจ้าหน้าที่ก็กระจายตัวออกกันคนละทิศทาง ก่อนที่ตำรวจจะเคลื่อนกำลังกลับไปตรึงกำลังที่แยกดินแดงตามเดิม

ด้านสำนักข่าวราษฎรที่ถ่ายทอดสดเหตุการณ์การเข้าควบคุมพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจบริเวณแยกดินแดงไว้ พบว่า หลังจากเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมพื้นที่ มีประชาชนที่ออกมาสังเกตการณ์ได้ตะโกนต่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้เจ้าหน้าที่รายหนึ่งยกปืนยิงกระสุนยางไปในทิศทางที่ประชาชนรวมตัวอยู่ ประชาชนจึงเข้าไปรุมต่อว่าด่าทอเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนต้องถอยร่นไป 

ขณะเดียวกันยังพบว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบพร้อมด้วยรถจักรยานยนต์ เข้ามาในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 50 นาย 

เบื้องต้นมีรายงานผู้ถูกจับกุม 1 ราย เป็นชายวัย 55 ปีถูกควบคุมตัวไว้ที่สโมสรตำรวจ และโดนข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 มั่วสุมกันเกินสิบคน กระทำให้เกิดความวุนวายในบ้านเมือง ก่อนจะได้รับการประกันตัวในอีกสองวันถัดมา


12 มิ.ย.- คุมพื้นที่ กันคนออกห่างแยกดินแดง ปล่อย ‘เค ร้อยล้าน’ ชูพระบรมฉายาลักษณ์ บอกรักในหลวง

ในวันที่ 12 มิ.ย. พบว่ามีการประกาศนัดรวมตัวกันอีกครั้งที่แยกดินแดง โดยตั้งแต่เวลา 16.00 น.เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าควบคุมพื้นที่ไว้ก่อนแล้ว รวมทั้งตั้งด่านสกัดตามเส้นทางต่างๆ ที่มุ่งหน้าสู่แยกดินแดง พร้อมสั่งการให้ประชาชนที่มาสังเกตการณ์ พ่อค้าแม่ค้า ออกจากพื้นที่ควบคุมบริเวณแยกดินแดง 

เวลา 16.40 น. พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานจำรวจแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ว่า หลังเกิดเหตุความไม่สงบเมื่อวานนี้ ตำรวจได้ปรับมาตรการรักษาความสงบเรียบร้อย หากยังมีเหตุการณ์ความไม่สงบเรียบร้อยเกิดขึ้นเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องใช้กฎหมาย เพราะไม่อยากให้พื้นที่แห่งนี้ต้องกลายเป็น ‘สมรภูมิ’ มีการกระจายกำลังโดยรอบ 7-8 จุด โดยจะใช้มาตรการเข้มหากเกิดความรุนแรง ต้องบังคับใช้กฎหมายจากเบาไปหาหนัก ตั้งแต่เริ่มเจรจาต่อรองจนถึงการดำเนินคดี โดยกลุ่มผู้ชุมนุมที่มารวมตัวที่ดินแดงเป็นเด็กและเยาวชนเกิน 50%  จึงฝากผู้ปกครองให้ดูแลอย่างใกล้ชิด

เวลา 16.50 น. พบว่า ‘เค ร้อยล้าน’ หรือคเณศ พิศณุเทพ เดินทางมายังบริเวณแยกดินแดงปรากฏตัวด้วยการสวมเสื้อสีเหลือง นั่งคุกเข่าชูพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเหนือศีรษะ พร้อมตะโกนต่อเนื่องว่า "รักในหลวง รักพระเจ้าอยู่หัว" รวมทั้งต่อว่ากลุ่มผู้ชุมนุมว่า “เนรคุณแผ่นดิน” ต่อเนื่องประมาณ 3 นาที ก่อนจะลุกออกไปโดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคุ้มกันไม่ให้ประชาชนเข้ามาทำร้าย และพาตัวเคออกจากพื้นที่โดยใช้รถของตำรวจ

ในช่วงค่ำ สำนักข่าวราษฎร ซึ่งติดตามถ่ายทดสดการตรึงกำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้บันทึกภาพ กลุ่มมวลชนผู้หญิงประมาณ 10 คน คล้องเเขนตั้งแนวเดินเข้าประชิดแนวเจ้าหน้าที่ตำรวจบริเวณแยกดินแดง มวลชนได้ตะโกนด่าทอการทำงานของเจ้าหน้าที่ราว 10 นาที ก่อนที่เจ้าหน้าที่ถอยร่นออกห่างจากกลุ่มมวลชน และปล่อยหน่วยเคลื่อนที่เร็วเข้าควบคุมพื้นที่อีกครั้ง โดยสั่งการให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องไปรวมตัวกันบนทางเท้า ก่อนจะควบคุมสถานการณ์ได้ภายในเวลา 15 นาที 


13 มิ.ย.- คุมตัวเด็ก 13 ปี เหตุพบลูกแก้วในกระเป๋า - 3 ผู้ก่อเหตุเผารถตำรวจเข้ามอบตัว

ในวันที่ 3 ของการนัดรวมตัวของกลุ่มมวลชนอิสระ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงใช้ปฏิบัติการเข้าควบคุมพื้นที่ก่อนถึงเวลานัดหมายของมวลชนเช่นเดิม และมีการเข้าควบคุมตัว ‘เอีย’ เยาวชนอายุ 13 ปี ซึ่งกำลังเดินทางเข้ามาในพื้นที่ โดยเจ้าหน้าที่ขอตรวจค้นกระเป๋าแล้วพบว่ามีลูกแก้วอยู่ จึงนำตัวไปยัง สน.พญาไท ต่อมาได้รับการปล่อยตัวในเวลา 18.55 น. โดยเจ้าหน้าที่ได้บันทึกประวัติ และลงบันทึกประจำวันเกี่ยวกับสิ่งของที่พบในกระเป๋าของเยาวชนรายดังกล่าว แต่ไม่มีการตั้งข้อหา 

ในช่วงค่ำของวันนี้ ไม่พบการรวมตัวกันของกลุ่มมวลชนอิสระ มีเพียงประชาชนที่มาสังเกตการณ์ และบรรดาพ่อค้าแม่ค้า เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ยังคงมีประชาชนจำนวนหนึ่งตะโกนต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นระยะ

วันเดียวกันนี้ มีรายงานด้วยว่า ผู้ชุมนุมอิสระจำนวน 3 คน ในจำนวนนี้เป็นเยาวชน 2 คน ได้เดินทางเข้ามอบตัวในคดีที่ถูกกล่าวหาเรื่องทุบและเผารถยนต์ตำรวจ ระหว่างการชุมนุมเมื่อ 11 มิ.ย. ทั้งนี้เยาวชน 2 รายได้รับสิทธิประกันตัว ขณะที่ผู้ชุมนุมอิสระอีก 1 รายอายุ 20 ปี ถูกศาลสั่งฝากขังโดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัว 


14 มิ.ย. - ตร.ยังตรึงกำลังแน่น เกิดเหตุชุลมุนแย่งป้ายผ้า 

วันที่ 4 สถานการณ์ดินแดงยังเป็นเช่นเดิม เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าควบคุมพื้นที่ก่อนเกิดการรวมตัวของกลุ่มมวลชนอิสระ โดยในวันนี้มีประชาชนเดินทางเข้ามาร่วมกันแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ‘ยืนหยุดขัง’ มีการชูป้ายข้อความต่างๆ ทั้งวิจารณ์รัฐบาล และเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง โดยรวมตัวกันบริเวณทางใกล้แยกดินแดง 

จากนั้นเวลาประมาณ 19.50 น. ประชาชนที่มารวมตัวกัน ได้ตั้งขบวนเดินถือป้ายข้อความต่างๆ มุ่งหน้าไปยังกรมทหารราบที่ 1 ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่บริเวณนั้นไม่ได้เข้าสกัดในทันที 

เมื่อขบวนเดินเข้ามาที่ถนนวิภาวดีรังสิต บริเวณก่อนถึงปั้ม Shell เจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 5-6 นาย เข้าสกัดไม่ให้ขบวนผ่านไปได้ และพบว่ามีการแย่งป้ายผ้ากันไปมาระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ จากนั้นไม่นานมีกำลังเจ้าหน้าที่เข้ามาเสริมอีกราว 30 นาย และเข้ามาสมทบกำลังเพิ่มขึ้น ทำให้สามารถสกัดการเดินขบวนและคุมควบพื้นที่บริเวณถนนวิภาวดีรังสิตไว้ได้ มวลชนถอยร่นกลับไปบริเวณแยกดินแดงอีกครั้ง

ตลอดการเดินขบวนนี้ไม่มีการจุดพลุไฟ ประทัด หรือขว้างปาสิ่งขอแต่อย่างใด ขณะที่เจ้าหน้าที่ใช้กำลังเพียงการแย่งป้ายผ้า ตั้งโล่เป็นแนวกั้นสกัด และผลักดันมวลชนเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เวลาประมาณ 22.50 น. พบว่ามีกลุ่มมวลชนอิสระ ได้รวมตัวกันยิงพลุไฟไปยังบริเวณที่เจ้าหน้าที่ตำรวจวางกำลังอยู่ที่แยกดินแดง มีการยิงพลุต่อเนื่องประมาณ 2 นาทีก็ถูกเจ้าหน้าที่โต้กลับด้วยการยิงแก๊สน้ำตา จนทำให้มวลชนอิสระสลายตัวไป ขณะที่ฝั่งเจ้าหน้าที่ไม่ได้ส่งหน่วยเคลื่อนที่เร็วเข้าติดตามควบคุมตัว


15 มิ.ย. สถานการณ์สงบ มีการรวมตัวกันของประชาชนจำนวนหนึ่ง ไม่มีเหตุการณ์ปะทะที่แยกดินแดง

วันนี้มีเพียงการรวมตัวกันของประชาชนที่มาสังเกตุการณ์ บริเวณริมทางเท้าใกล้แยกดินแดง ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าประจำการอยู่บริเวณแยก ทั้งนี้พบว่าประชาชนที่มารวมตัวกันได้เปิดเพลงสร้างความคึกครืน และจับกลุ่มนั่งคุยกันริมทางเท้า ต่อมาเวลาประมาณ 20.15 น. พบว่ามีมวลชนอิสระได้เข้ามาจุดไฟเผายางรถยนต์ในบริเวณใกล้เคียงกับจุดที่ประชาชนรวมตัวกันอยู่ จากนั้นไม่นานำพบว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจสองนายพร้อมรถจักยานยนต์ เข้ามาใช้ถังดับเพลิงฉีดเพื่อดับกองไฟที่ลุกไหม้อยู่ 


16 มิ.ย.- กวาดจับหลายคน สกัดการรวมตัว

ไม่พบการรวมตัวกันของกลุ่มมวลชนอิสระ เนื่องจากตั้งแต่ช่วงเย็นมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินการจับกุมมวลชน 13 ราย เป็นเยาวชน 1 ราย โดยพาตัวไปควบคุมไว้ยังสโมสรตำรวจ มวลชนจำนวนหนึ่งจึงเดินทางไปรวมตัวกันบริเวณสโมสรตำรวจแทน เพื่อรอติดตามการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

สำหรับผู้ถูกคุมตัวทั้ง 13 คนถูกตั้งข้อหาแยกเป็น 3 คดีจากการชุมนุมบริเวณแยกดินแดง โดยมี 2 รายเดินทางมามอบตัวเอง เจ้าหน้าที่จึงปล่อยตัวหลังแจ้งข้อหาเสร็จ 

ส่วนอีก 11 รายจะยื่นขออำนาจศาลฝากขังทั้งหมด ต่อมาวันนี้ศาลมีคำสั่งให้ฝากขังทั้ง 11 ราย และไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยทั้งหมดจะถูกควบคุมตัวไว้ยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

สำหรับคดีความ 3 คดีประกอบด้วย คดีจากการชุมนุมในวันที่ 11 14 และ 15 มิ.ย. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานรายละเอียดคดีทั้งหมดดังนี้ 

กรณีทุบและเผารถตำรวจ หลัง #ม็อบ11มิถุนา65 แจ้งข้อหาอีก 2 ราย

สำหรับคดีนี้ ก่อนหน้านี้มีการจับกุมผู้ชุมนุมที่ถูกกล่าวหาจากการเผารถยนต์ตำรวจ สน.ดินแดง หลังเหตุการณ์ชุมนุม #ราษฎรเดินไล่ตู่ หรือ #ม็อบ11มิถุนา65 ไปแล้วทั้งหมด 4 ราย แยกเป็นเยาวชน 2 ราย โดยมีวัชรพล และจตุพล ที่ถูกขอฝากขังและไม่ได้รับการประกันตัว ส่วนเยาวชนอีก 2 ราย ได้รับการประกันตัว

ในครั้งนี้ ได้มีณัฐพล อายุ 19 ปี ที่ถูกออกหมายจับในคดีนี้เข้ามอบตัวอีก 1 ราย โดยเป็นหมายจับออกโดยศาลอาญา ลงวันที่ 14 มิ.ย. 2565 ขณะที่มีพลพล อายุ 20 ปี ที่ต่อมาทราบว่ายังไม่ได้มีหมายจับ แต่ตำรวจได้แจ้งข้อกล่าวหาในคดีเดียวกันนี้ด้วย ทำให้รวมมีผู้ถูกดำเนินคดีแล้ว 6 ราย

ทั้งณัฐพลและพลพล ถูกแจ้งข้อกล่าวหา 5 ข้อกล่าวหาเช่นเดียวกับผู้ต้องหา 4 รายแรก ทั้งคู่ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา กรณีของพลพลเนื่องจากไม่ได้มีหมายจับ ตำรวจจึงไม่มีอำนาจควบคุมตัว แต่ได้นัดหมายไปยื่นขอฝากขังต่อศาลอาญาในวันรุ่งขึ้น

คดีร่วมชุมนุมดินแดง #ม็อบ11มิถุนา65 ดำเนินคดี 3 ราย

สำหรับคดีนี้ พนักงานสอบสวน สน.ดินแดง ยังไม่ได้มีการขอออกหมายจับหรือออกหมายเรียกผู้ต้องหา แต่เมื่อมีกลุ่มผู้ชุมนุมมาแสดงตัว ทำให้มีการแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ชุมนุม 3 ราย ใน 3 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215, มาตรา 216 และ ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

พฤติการณ์กล่าวหาเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมที่บริเวณดินแดง ภายหลังจากการชุมนุม #ราษฎรเดินไล่ตู่ หรือ #ม็อบ11มิถุนา65 โดยกล่าวหาว่าทั้ง 3 ราย ได้เข้าร่วมการชุมนุมดังกล่าวและร่วมก่อเหตุวุ่นวาย แต่ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าแต่ละรายมีพฤติการณ์ตามข้อกล่าวหาอย่างไร

ทั้งสามให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา คดีนี้ตำรวจไม่ได้มีการควบคุมตัวและขอฝากขังผู้ต้องหาทั้งหมดต่อ

คดีร่วมชุมนุมดินแดง #ม็อบ14มิถุนา65 ดำเนินคดี 9 ราย เป็นเยาวชน 1 ราย

ในส่วนคดีจากการชุมนุมบริเวณดินแดง ในวันที่ 14 มิ.ย. 2565 มีผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาทั้งหมด 9 ราย โดยมีจำนวน 8 รายที่ถูกศาลอาญาออกหมายจับ ลงวันที่ 16 มิ.ย. 2565 ขณะที่มี ‘ไอซ์’ เยาวชนอายุ 15 ปี ที่ไม่ได้ถูกออกหมายจับ แต่อยู่ในรายชื่อที่ตำรวจจะดำเนินคดี ทำให้เข้าแสดงตัวเองและถูกแจ้งข้อกล่าวหาไปด้วย ทั้งนี้มีผู้ชุมนุมจำนวน 2 ราย ที่ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุม #ม็อบ11มิถุนา ข้างต้นด้วย

ผู้ต้องหาทั้งหมด 9 คน ถูกแจ้งข้อกล่าวหาใน 4 ข้อกล่าวหา

1. ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 140 ประกอบมาตรา 138 ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยมีหรือใช้อาวุธ หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป

2. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 มั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำอย่างหนึ่งอย่างให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง

3. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216 ไม่เลิกชุมนุมมั่วสุมตามคำสั่งเจ้าพนักงาน

4. ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร่วมกันชุมนุมหรือทํากิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค

พฤติการณ์ข้อกล่าวหาในกรณีนี้โดยสรุประบุว่า เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2565 เวลาประมาณ 18.20 น. กลุ่มผู้ชุมนุมได้มารวมตัวกันทำกิจกรรมที่บริเวณแยกดินแดง อาทิการเขียนป้ายไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, การเดินถือป้ายจากแยกดินแดงไปยัง พล.ร.1 และได้ทำกิจกรรมเรื่อยมา  จนเวลา 22.48 น. ได้มีการยิงพลุไฟจำนวนหลายครั้งใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่บริเวณแยกดินแดง เจ้าหน้าที่ได้ประกาศแจ้งเตือนว่าเป็นการทำผิดกฎหมาย แต่ผู้ชุมนุมไม่ยุติ เจ้าหน้าที่ “จำเป็น” ต้องยิงแก๊สน้ำตาและกระสุนยาง กลุ่มผู้ชุมนุมจึงได้แยกย้ายยุติการชุมนุมในเวลาประมาณ 23.00 น.

ตำรวจอ้างว่าการกระทำดังกล่าวทำให้มีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ และมีทรัพย์สิน อาทิ กล้องวงจรปิดหรือกระจกป้ายโฆษณาเสียหาย ทั้งนี้ บันทึกข้อกล่าวหากรณีนี้ ตำรวจยังมีการเรียก “กลุ่มผู้ชุมนุม” ว่าเป็น “กลุ่มผู้ก่อความวุ่นวาย” โดยตลอดด้วย

คดีเผายางรถ #ม็อบ15มิถุนา65 ดำเนินคดี 1 ราย

คดีสุดท้าย เกี่ยวเนื่องกับการเผายางรถยนต์ในการชุมนุมบริเวณดินแดง เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2565 โดยมีผู้ถูกกล่าวหา 1 รายที่ถูกออกหมายจับ และเดินทางเข้ามอบตัว ได้แก่ พุฒิพงศ์ อายุ 25 ปี สำหรับหมายจับออกโดยศาลอาญา ลงวันที่ 16 มิ.ย. 2565

พนักงานสอบสวนได้แจ้ง 4 ข้อกล่าวหาในคดีนี้ ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215, มาตรา 216, มาตรา 217 (ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์), และ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ผู้ต้องหาได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา


17 มิ.ย. ไม่มีการรวมตัวที่ดินแดง แต่มีม็อบหน้ากระทรวงพลังงาน 

วันที่ 17 มิ.ย. 2565 ธนเดช ศรีสงคราม หรือ 'ม่อน อาชีวะ' แกนนำอาชีวะพิทักษ์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้นัดหมายทำกิจกรรมคาร์ม็อบที่หน้ากระทรวงพลังงาน เพื่อเรียกร้องความคืบหน้าในการตรึงราคาและปรับลดราคาน้ำมัน โดยได้นัดหมายกันที่สวนสมเด็จย่า 84 เขตจตุจักร ก่อนจะเคลื่อนขบวนไปปักหลักหน้ากระทรวงพลังงาน

ต่อมาเมื่อการเรียกร้องไม่คืบหน้า กลุ่มผู้ชุมนุมเริ่มทำการปิดเส้นทางสัญจรบนถนนวิภาวดีขาออก แล้วปล่อยให้รถระบายออกทีละน้อยในทุก 5 นาที ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสนธิกำลังชุดควบคุมฝูงชน (คฝ.) พร้อมโล่และกระบอง ตั้งแนวปิดกั้นการจราจร ก่อนจะประกาศให้กลุ่มผู้ชุมนุมถอยกลับไปบนทางเท้าเนื่องจากเป็นการกระทำที่ผิดกฏหมาย

เมื่อ คฝ.บุกเข้ากระชับพื้นที่ มวลชนราว 2-3 คน พยายามต้านแนวโล่ด้วยกำลัง ผู้ชุมนุมบางส่วนก้มลงกราบกับพื้นถนนเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเห็นใจในข้อเรียกร้องเรื่องราคาน้ำมัน

ท้ายสุด พ.ต.อ.กฤษฎางค์ จิตตรีพล ผู้กำกับสน.บางซื่อ ได้สื่อสารกับทั้งตัวแทนมวลชนและชุด คฝ. ขอให้ทั้งสองฝ่ายยอมล่าถอย จากนั้นมวลชนจึงยอมเคลื่อนขึ้นบนทางเท้า และชุด คฝ. สั่งเลิกแถว ส่งผลให้สถานการณ์คลี่คลาย และเปิดเส้นทางให้รถสัญจรได้ตามปกติ

18 มิ.ย. มวลชนรวมตัวจำนวนหนึ่ง จัดกิจกรรมยืนหยุดขัง 

วันนี้ไม่มีการประกาศนัดหมายชุมนุมอย่างเป็นทางการจากมวลชนกลุ่มใด แต่ยังคงพบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงใช้แนวทางปฏิบัติการในลักษณะเดิมคือ การเข้าควบคุมพื้นที่ก่อนตั้งแต่ช่วงเย็น อย่างไรก็ตามพบว่าในช่วงเวลาประมาณ 18.30 น. มีประชาชนกลุ่มหนึ่งมาทำกิจกรรมยืนหยุดขัง เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมือง 


19 มิ.ย. ปิดกล่องดินแดงรอบ 2

16.30 น. มีการนัดรวมตัวของมวลชนเสื้อแดงจัดกิจกรรมเดินเท้าจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไปยังแยกดินแดง เพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมือง รวมทั้งขอให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เมื่อเดินทางไปถึงบริเวณแยกดินแดงพบว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายร้อยนายยืนปิดล้อมพื้นที่บริเวณแยกดินแดงอยู่

โดยเวลา 19.30 น. ที่แยกสามเหลี่ยมดินแดง กลุ่มวัยรุ่นได้ข้ามถนนไปปาประทัดใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ คฝ. ที่หน้าบริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) อย่างต่อเนื่อง ก่อนฝนตกลงมาอย่างหนัก

เวลา 20.13 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้กำลังเข้าจับกุมกลุ่มวัยรุ่นที่บริเวณหน้าอาคารเพชราวุธ โดยใช้รถกระบะและรถตู้ ปิดถนนดินแดง มุ่งหน้าถนนราชปรารภ

หลังจากผู้ชุมนุมปักหลักเป็นเวลาเกือบ 3 ชั่วโมง ท่ามกลางฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก เจ้าหน้าที่ตำรวจประกาศว่า สื่อมวลชนและประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องขอให้แยกย้ายเดินทางกลับ เนื่องจากมีกลุ่มผู้ไม่หวังดีขว้างปาประทัด เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องเข้าควบคุมสถานการณ์ จากนั้นเจ้าหน้าที่เริ่มเข้าควบคุมพื้นที่พร้อมโล่ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สั่งให้สื่องดภาพถ่าย และกันออกจากพื้นที่ ขอให้สื่ออย่าพึ่งทำงาน

เวลา 20.20 น. มีเยาวชนหญิงรายหนึ่งเกิดอาการชักเกร็งอยู่บริเวณหน้าธนาคารกรุงศรีอยุธยา ถนนดินแดง มวลชนจึงจะเข้าไปดูผู้บาดเจ็บ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้ามาใช้โล่ดันมวลชนและสื่อออกจากบริเวณ และล้อมผู้บาดเจ็บไว้ ขณะที่ผู้ชุมนุมพยายามปฐมพยาบาล และโทรแจ้งสายด่วน 1669 จึงเกิดการต่อว่าเจ้าหน้าที่ด้วยความไม่พอใจ

กระทั่งเวลา 20.25 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจถอยออกจากผู้ได้รับบาดเจ็บ มวลชนจึงเข้าไปปฐมพยาบาล

ศูนย์ทนายความรายงานว่า มีผู้ถูกจับบกุมทั้งหมด 2 ราย เป็นเยาวชนอายุ 17 ปี และ 18 ปี โดยทั้งสองถูกแจ้ง 6 ข้อกล่าวหา สำหรับหนุ่มวัย 18 ปี ตร. เตรียมขอฝากขังต่อศาลอาญา ส่วนเยาวชน จะนำตัวไปตรวจสอบการจับกุมที่ศาลเยาวชนฯ