ไม่พบผลการค้นหา
The Early Warning Project เป็นโครงการที่พัฒนาโดยพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของสหรัฐฯ และ Dartmouth College เพื่อกระตุ้นเตือนให้รัฐบาลทั่วโลกและประชาชนร่วมป้องกันไม่ให้เกิดการสังหารหมู่ขึ้นอีกในอนาคต และยังใช้ในการช่วยเหลือผู้กำหนดนโยบายสหรัฐฯ ในการประเมินว่ารัฐหรือประเทศใด มีโอกาสเกิดที่จะเกิดเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มากที่สุด โดยอาศัยตัวชี้วัดและพฤติกรรมต่างๆ ที่เป็นสัญญาณเตือนในการประเมินเพื่อดำเนินการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้น

ไทย ขึ้นแท่นอันดับ 19 เสี่ยงเกิดการสังหารหมู่จากฝ่ายรัฐ

จากรายงานของปี 2021-2022 Early Warning ประเมินว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงมากที่จะเกิดการสังหารหมู่ จากที่ีปีก่อนหน้านั้นถูกจัดอยู่ในอันดับ 42 แต่ล่าสุด รายงานระบุว่าไทยอยู่ในอันดับที่ 19 จากทั้งหมด 162 ประเทศ และอยู่ใน 30 อันดับแรกที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น

รายงานระบุว่า "จากโมเดลทางสถิติประเมินได้ว่ามีโอกาสร้อยละ 4.5 หรือประมาณ 1 ใน 22 ที่จะเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ครั้งใหม่ขึ้นในประเทศไทยในช่วงปี 2021 หรือ 2022"

Early Warning พิจารณาปัจจัยต่างๆ ประวัติศาสตร์นองเลือดที่เกิดขึ้นตั้งแต่ยุคไล่ล่าคอมมิวนิสต์ มาถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 /การปราบปรามผู้ชุมนุมทางการเมืองที่แยกคอกวัว และราชประสงค์ ปี 2553 โดยทั้งหมดนี้คือการกระทำที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้อง

ความเสี่ยงของไทยอยู่ที่ 4.5 เปอร์เซ็นต์ น้อยกว่าพม่า คองโก ซูดานใต้ แต่สูงกว่าจีน อินโดนีเซีย และอิหร่าน เหตุผลที่ทำให้อันดับขยับขึ้นสูงมาเป็นที่ 19 คือ สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินช่วงการชุมนุมของนักเรียนนักศึกษาในปีที่แล้ว มีการปราบปรามผู้ชุมนุม ผู้ลี้ภัยทางการเมืองถูกสังหาร และความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ ทำให้ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านความเสี่ยงมากอย่างมีนัยสำคัญ และถือว่าเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยขึ้นมาอยู่ใน Top 20 ของโลก ที่ประเทศมีความเสี่ยงที่จะเกิดการสังหารหมู่

5 อันดับประเทศที่มีความเสี่ยงสูงสุดที่จะเกิดการสังหารหมู่

ประเทศปากีสถานถูกจัดให้อยู่ในอันดับ 1 ของประเทศที่เสี่ยงจะเกิดการสังหารหมู่มากที่สุด จากกรณีที่กลุ่มตาลีบันในปากีสถานที่เรียกตัวเองว่า Tehrik-e-Taliban หรือ TTP ที่ประกาศว่าได้ก่อเหตุก่อการร้ายไปทั้งหมด 26 ครั้งในเดือนกรกฎาคม 2021 นอกจากนี้ยังมีกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ เช่นไอซิสอยู่ในปากีสถานด้วย ตั้งแต่เดือนมีนาคม ถึงกันยายนปีนี้กลุ่มก่อการร้ายได้สังหารผู้คนไปแล้ว 470 ราย เป็นพลเรือน 171 ราย นอกจากนี้ยังมีกรณีที่พรรครัฐบาลจับกุมและอุ้มหายผู้ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์

อันดับที่ 2 ที่เสี่ยงต่อเหตุการณ์สังหารหมู่คืออินเดีย จากการที่รัฐบาลชาตินิยมฮินดูของอินเดียกีดกันเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบต่อชาวมุสลิม มีกรณีข้อพิพาทเขตแดนในพื้นที่ที่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่มากในแคว้นจัมมูและแคชเมียร์ และถึงแม้ว่าในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้รัฐบาลจะยกเลิกการสั่งปิดอินเทอร์เน็ต 4G ที่กระทำต่อเนื่องมาเป็นเวลา 18 เดือนแล้ว แต่ก็ยังคงมีมาตรการคุมเข้มไม่ให้มีผู้ต่อต้านรัฐบาล จากกรณีการปราบปรามและความรุนแรงต่อชาวมุสลิมเหล่านี้ทำให้อินเดียถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 2

อันดับ 3 เยเมน /สงครามกลางเมืองระหว่างรัฐบาลและกลุ่มต่อต้านที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2015 ได้คร่าชีวิตพลเรือนไปแล้วกว่า 12,000 คน และทำให้ประชาชนอีกราว 20 ล้านคน ต้องพบกับความอดอยาก การสู้รบยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง มีการบังคับใช้แรงงานและขัดขวางองค์กรนานาชาติในการเข้าไปช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

อันดับ 4 อัฟกานิสถาน ที่เพิ่งจะถูกยึดอำนาจโดยกลุ่มตาลีบันเมื่อกลางปีที่ผ่านมา Early Warning ระบุว่า การยึดอำนาจที่เกิดขึ้นเพิ่มความเสี่ยงให้กับคนกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือชนกลุ่มน้อยทางเชื้อชาติหรือทางศาสนา กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเผชิญอาชญากรรมต่อมนุษยชาติหรือกระทั่งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มากที่สุด คือกลุ่มมุสลิมนิกายชีอะฮ์ที่มักจะเป็นชนชาติพันธุ์ฮาซารา จากการที่กลุ่มตาลีบันและกลุ่มหัวรุนแรงสายนิกายซุนนีอื่นๆ มีการล่าสังหารกลุ่มชาวฮาซารามานานแล้วและก่อเหตุกระทั่งในปัจจุบัน นอกจากนี้กลุ่มตาลีบันยังเคยใช้กำลังต่อผู้ประท้วงพลเรือนและแต่งตั้งกลุ่มหัวแข็งขึ้นเป็นผู้นำระดับสูงทำให้มีความเสี่ยงเหล่านี้มากขึ้น

 อันดับ 5 สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ที่ผ่านมาถูกจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในสิบประเทศที่มีความเสี่ยงสูงสุดทุกปี สาเหตุจากการสู้รบระหว่างรัฐบาลและกลุ่มติดอาวุธกว่า 130 กลุ่มในภาคตะวันออกของคองโก ทำให้ตั้งแต่ปี 2019 มีประชาชนกว่า 800 คนถูกสังหารหมู่ การก่อความรุนแรงของกลุ่มติดอาวุธยังได้ทำให้ประชาชนเกือบ 2 ล้านคนต้องพลัดถิ่น ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทูตอิตาลีประจำคองโก ได้ถูกยิงเสียชีวิตระหว่างเดินทางไปยังภาคตะวันออกของคองโกพร้อมกับขบวนของเจ้าหน้าที่โครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ เพื่อเยี่ยมชมโครงการโรงเรียนภายในหมู่บ้าน

“พม่า-จีน” อันดับความเสี่ยงสังหารหมู่น้อยกว่าที่คาดไว้

อย่างไรก็ตามในการประเมินครั้งนี้ จีนและพม่าอยู่ในอันดับที่ "น่าแปลกใจ" สำหรับเออร์ลีวอร์นนิง โดยที่พม่าอยู่ในอันดับที่ 17 ลงมาจากอันดับที่ 10 เมื่อปีที่แล้ว ถึงแม้ว่าจะเพิ่งมีการรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และมีการปราบปรามสังหารประชาชนไปมากกว่า 1,000 คน รวมถึงมีการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติและอาชญากรรมสงครามอย่างเห็นได้ชัดเจน แต่สาเหตุที่ในปีนี้พวกเขาประเมินโอกาสที่จะเกิดเหตุสังหารหมู่ต่ำลงเป็นเพราะว่าตามสถิติแล้วมีโอกาสน้อยครั้งที่จะมีการสังหารหมู่เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน

ส่วนจีนอยู่ในอันดับที่ 26 ซึ่งยังอยู่ในข่าย "ความเสี่ยงสูง" ติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปีแล้ว แต่ก็มีคนมองว่าอันดับต่ำเกินคาด จากที่ทางการสหรัฐฯ เคยประเมินเรื่องความเป็นไปได้ในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในจีนเอาไว้ รวมถึงอาชญากรรมต่อมนุษยชาติโดยทางการจีนไม่ว่าจะเป็น การบังคับทำหมัน, การทารุณกรรม, ความรุนแรงทางเพศ และการบังคับใช้แรงงาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้กระทำต่อชาวอุยกูร์และชาวมุสลิมเชื้อสายเติร์กอื่นๆ รวมถึงยังมีความเป็นไปได้ที่พวกเขาจะคุมขังชนกลุ่มน้อยในซินเจียงเอาไว้มากถึงเกือบ 3 ล้านคนซึ่งนับว่าเป็นการคุมขังกลุ่มคนตามเชื้อชาติหรือศาสนาที่มีจำนวนสูงสุดนับตั้งแต่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวโดยนาซี แต่อย่างไรก็ตามจนถึงตอนนี้ยังไม่มีเหตุสังหารหมู่เกิดขึ้น