นับตั้งแต่ปี 2015 อาเซียนกำหนดแนวทางในการพัฒนาภูมิภาคไปสู่ความยั่งยืนร่วมกันเพื่อให้สอดคล้องการแนวทางในการพัฒนาของการสหประชาชาติ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการขจัดความเลื่อมล้ำ ความยากจน การพัฒนาคุณภาพชีวติของประชากรในภูมิภาคให้ดียิ่งขึ้น
แนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวทางของสหประชาชาติมีทั้งหมด 17 เป้าหมาย 169 ข้อเป้าประสงค์และตัวชี้วัดอีก 224 ข้อ ครอบคลุมทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม รายงานของธนาคารโลกระบุว่า ประเทศในอาเซียนได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรและเศรษฐกิจมานับตั้งแต่ปี 2000 และหลายประเทศก็มีเป้าหมายในการพัฒนาตนเองไปสู่ประเทศที่ยั่งยืนภายในปี 2030
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้กลายเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เร็วที่สุดภูมิภาคหนึ่งของโลก การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนต่างๆ ได้ถูกดึงดูดเข้ามาในภูมิภาคนี้อย่างรวดเร็ว
อุตสาหกรรมการบินก็เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพื่อรองรับนักลงทุนและนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้ามาในภูมิภาคนี้กว่าปีละ 110 ล้านคน
ทั้งนี้ การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมมีสิ่งที่ตามมาคือ ผลกระทบทางด้่านต่างๆ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชนท้องถิ่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ตามมาจากการพัฒนาต่างๆ ที่เกิดขึ้น
รายงานของกลุ่มปฏิบัติการการขนส่งทางอากาศระบุว่า ในปี 2018 ไฟลต์บินทั่วโลกปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 895 ล้านตัน หรือประมาณ 2.4 เปอร์เซ็นต์เป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ หรือมากกว่า 42,000 ล้านตัน
'โทนี เฟอร์นานเดซ' ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มสายการบินแอร์เอเชียกล่าวว่า 'ในแต่ละปีอุตสาหกรรมการบินปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ แอร์เอเชียตระหนักถึงความสำคัญตรงนี้ โดยใช้เครื่องบินใหม่ซึ่งทำให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลง 20 เปอร์เซ็นต์ และการพยายามลดน้ำหนักของเครื่องบินในการทำการบินแต่ละไฟล์ท นี่คือหนึ่งในเหตุผลที่แอร์เอเชียเก็บค่ากระเป๋าเดินทาง เนื่องจากน้ำหนักสัมภาระเป็นหนึ่งในสิ่งที่ก่อให้เกิดการใช้เชื้อเพลิงในการบิน เพราะยิ่งหนักยิ่งทำให้เกิดการเผาผลาญเชื้อเพลิง'
นอกจากนี้ โทนียังกล่าวว่า 'การให้ความสำคัญกับการวางแผนเส้นทางการบินในแต่ละเที่ยวบินนั้นก็เป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากเป็นการลดการใช้เชื้อเพลิงและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศในอีกทางหนึ่งด้วย'
การพัฒนาที่ยั่งยืนไม่เพียงแต่ด้านสิ่งแวดล้อม การขจัดความเหลื่อมล้ำและความยากจนก็เป็นอีกหนึ่งในตัวชี้วัดของการพัฒนาอย่างยั่งยืน
โทนีกล่าว่า ‘ปัจจุบันการเปิดเส้นทางใหม่ของแอร์เอเชีย จะมีการสำรวจชุมชน เพื่อสอบถามถึงความต้องการของชุมชน รวมไปถึงการสร้างงานให้กับคนในชุมชนและพื้นที่ทางเศรษฐกิจ เพื่อยกระดับเศรษฐกิจในท้องถิ่น นำไปสู่การท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน เช่น โครงการ journey D และการสนับสนุนกิจการเพื่อสังคมทั่วอาเซียนผ่านมูลนิธิแอร์เอเชีย’
(โครงการ journey D จากไทยแอร์เอเชีย เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน)
นอกจากนี้ โทนียังกล่าวว่า ‘การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนไม่เพียงแต่การร่วมมือกับชุมชนไปพร้อมกับการเปิดเส้นทางการท่องเที่ยวใหม่เท่านั้น ยังต้องร่วมรณรงค์รักษาวัฒนธรรมท้องถิ่น ปกป้องชุมชนท้องถิ่นจากการทำลาย ซึ่งต้องความตระหนักรู้ให้กับนักท่องเที่ยวเพื่อรักษาและปกป้องสถานที่ท่องเที่ยวไปพร้อมกันด้วย’
ในปีนี้เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองวันสถาปนาประชาคมอาเซียน เสริมสร้างความแกร่งระหว่างประเทสสมาชิกอาเซียน และแอร์เอเชียในฐานะที่ได้รับประโยชน์อย่างมากจากการสนับสนุนนโยบายนานฟ้าเสรีในการขยายเครือข่ายเส้นทางคมนาคมในอาเซียน ได้เปิดตัวลายเครื่องบินใหม่วานนี้ (9 ส.ค.) ภายใต้แนวคิด ‘Sustainable Asean’
ทั้งนี้เครื่องบินแอร์บัส เอ320 ลำดังกล่าวจะประจำการที่ประเทศมาเลเซียเพื่อให้บริการเส้นทางการบินกว่า 50 เส้นทางจากกัวลาลัมเปอร์สู่ 10 ประเทศในอาเซียน
สำหรับประเทศไทยก็จะมีเครื่องบินลวดลายดังกล่าว 1 ลำด้วยเช่นกัน เพื่อให้บริการใน 22 เส้นทางการบินใน 10 ประเทศอาเซียนเช่นกัน