กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง "ถอดบทเรียนวิกฤตน้ำท่วม 62" โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,189 คน พบว่า ในภาพรวมประชาชนให้คะแนนการบริหารจัดการของภาครัฐต่อวิกฤตน้ำท่วมที่เกิดขึ้นเฉลี่ย 5.61 คะแนนจากเต็ม 10 คะแนน
โดยให้คะแนนการสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้ประสบภัยในการช่วยเหลือน้ำท่วมมากที่สุด 5.81 คะแนน ขณะที่การจัดสรรงบ การใช้เงินบริจาคที่ได้ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมได้คะแนนน้อยที่สุด 5.45 คะแนน
เมื่อถามว่าเห็นปรากฏการณ์อะไรจากวิกฤตน้ำท่วมที่เกิดขึ้น ในพื้นที่ประสบภัย ส่วนใหญ่ร้อยละ 80.7 เห็นว่าสถานการณ์สร้างความสามัคคี การช่วยเหลือกัน การบริจาคของคนในสังคม รองลงมาร้อยละ 63.7 เห็นว่าสถานการณ์สร้างวีรบุรุษ บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ และร้อยละ 20.0 เห็นว่ามีการแสวงหาผลประโยชน์ คอร์รัปชันจากเหตุการณ์น้ำท่วมสำหรับปัญหาที่จะเกิด หลังจากน้ำลดในพื้นที่น้ำท่วมพบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 69.8 เห็นว่าจะเกิดปัญหาการทำกินรายได้ของชาวบ้าน รองลงมาร้อยละ 52.6 เห็นว่า งบประมาณในการเยียวยา ฟื้นฟู ไม่เพียงพอ ผู้ประสบภัยต้องกู้เงินเพิ่ม และร้อยละ 50.6 เห็นว่า สินค้าแพงขึ้น มีการโก่งราคาพวกวัสดุก่อสร้าง
สุดท้ายเมื่อถามว่าภาครัฐควรหามาตรการความพร้อมอย่างไร เพื่อป้องกันน้ำท่วมในปีต่อไปจากบทเรียนน้ำท่วมในปีนี้ ส่วนใหญ่ร้อยละ 68.7 เห็นว่าเป็นเรื่องการเข้าถึงประชาชนและความรวดเร็วด้านความช่วยเหลือ รองลงมาคือ เรื่องการบริหารจัดการน้ำ เตรียมการระบายน้ำ คิดเป็นร้อยละ 64.8 และการยกระดับการแจ้งเตือนภัย การรับรู้ให้แก่ประชาชน คิดเป็นร้อยละ 55.7