มาจากคราวประชุมร่วมกันของรัฐสภาเมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2563 ซึ่งที่ประชุมรัฐสภาได้มีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.)พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ก่อนรับหลักการ จำนวน 6 ฉบับ
ตรวจสอบท่าทีของบรรดาสมาชิกรัฐสภา การลงมติในขั้นรับหลักการวาระที่ 1 จะใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา (ปัจจุบันมี ส.ส. และ ส.ว.เท่าที่มีอยู่ 732 คน) ดังนั้น ต้องมีเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่า 366 เสียง และต้องมีเสียงของ ส.ว.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือไม่น้อยกว่า 82 เสียง
สำหรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 7 ฉบับ ประกอบด้วย
1.เลือกตั้ง ส.ส.ร. ฉบับพรรคร่วมฝ่ายค้าน (แก้ไขมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1)
2.เลือกตั้ง ส.ส.ร. ฉบับพรรคร่วมรัฐบาล (แก้ไขมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1)
3.ยกเลิก อำนาจของ ส.ว.ปฏิรูปประเทศ และอำนาจยับยั้งกฎหมาย ฉบับพรรคร่วมฝ่ายค้าน (ยกเลิกมาตรา 270 และมาตรา 271)
4.ร่าง รธน. เลือกนายกฯ จาก ส.ส. ยกเลิกอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ ฉบับพรรคร่วมฝ่ายค้าน (แก้ไขมาตรา 159 และยกเลิกมาตรา 272 )
5.ยกเลิกมรดกคำสั่ง-ประกาศ คสช. ฉบับพรรคร่วมฝ่ายค้าน (ยกเลิกมาตรา 279 )
6.แก้ไขระบบเลือกตั้ง หวนคืนบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ฉบับพรรคร่วมฝ่ายค้าน (แก้ไขมาตรา 91 มาตรา 92 และมาตรา 94 และยกเลิกมาตรา 93 มาตรา 101 (4) และมาตรา 105 วรรคสาม)
7.ฉบับภาคประชาชน นำโดยจอน อึ๊งภากรณ์ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 98,041 คน หรือในโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) โดยมีประเด็นที่ขอแก้ไขประกอบด้วย เลิก ส.ว.ชุดพิเศษจาก คสช. / เลิกอำนาจเลือกนายกฯ - ปฏิรูปประเทศ ส.ว. / เลิกนายกฯ คนนอก
เลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติ / เลิกที่มาผู้บริหารท้องถิ่นไม่ได้มาจากเลือกตั้ง / แก้ไขที่มาองค์กรอิสระ / เลิกรับรองอำนาจ-นิรโทษกรรม คสช. / ระบบเลือกตั้ง 2 ใบ / แก้หลักเกณฑ์แก้ไข รธน. / ให้มี ส.ส.ร. / ร่าง รธน.ฉบับใหม่ทุกหมวด
ท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาลในขณะนี้ ยังคงประกาศว่าจะรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ของพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านเท่านั้น ส่วนอีก 4 ฉบับของพรรคฝ่ายค้านจะงดออกเสียง ขณะที่ร่างของภาคประชาชนจะขอรอฟังการชี้แจงของผู้แทนเจ้าของร่างก่อน
ส่วนท่าทีของ ส.ว.มีท่าทีจะให้ความเห็นชอบกับ 2 ฉบับที่เปิดทางตั้ง ส.ส.ร. โดยคาดว่าจะมีเสียงเกินกว่า 100 เสียง เพื่อนำไปสู่การตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาในชั้นแปรญัตติ
ส่วน 4 ร่างของพรรคฝ่ายค้านและ 1 ร่างของไอลอว์ มีแนวโน้มไม่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา แม้จะได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรคฝ่ายค้านเกินกว่า 200 เสียง
ในการอภิปรายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับภาคประชาชน ส.ว.จะใช้สิทธิอภิปรายเป็นเวลากว่า 5 ชั่วโมงครึ่ง ขณะที่ ส.ส.ซีกรัฐบาลและฝ่ายค้านจะใช้เวลารวมกัน 5 ชั่วโมง ส่วนผู้แทนจากไอลอว์จะใช้สิทธิชี้แจง 1 ชั่วโมง คาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาไปจนถึง 21.00 น.ของวันที่ 17 พ.ย. จากนั้นจะสั่งพักการประชุมเพื่อลงมติทั้ง 7 ฉบับในวันที่ 18 พ.ย. 2563
ขณะที่หน้ารัฐสภาจะมีการชุมนุมของกลุ่มไทยภักดี และมวลชนคณะราษฎร 2563
กลุ่มไทยภักดีจะคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะที่คณะราษฎรจะกดดันให้รัฐสภาลงมติร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ โดยฉบับที่ให้ความสำคัญที่สุดคือร่างของ 'ไอลอว์'
เสียงของพรรคร่วมรัฐบาลขณะนี้มีจำนวน 276 เสียง (ไม่รวม เทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ที่หยุดปฏฺิบัติหน้าที่ ส.ส.) ขณะที่ฝ่ายค้านมีจำนวน 211 เสียง ส่วน ส.ว. 245 เสียง (ไม่รวมผู้นำเหล่าทัพ ที่ยังไม่มีการโปรดเกล้าฯ เป็น ส.ว.)
คาดว่าเสียงสนับสนุน 2 ร่างแรกจะมีเสียงสนับสนุนเกินกว่า 500 เสียง ในขณะที่ 5 ฉบับร่างจะไม่ได้รับการสนับสนุนจาก ส.ว.ให้ถึง 82 เสียง ส่งผลให้ 5 ร่างต้องถูกคว่ำในวาระที่หนึ่งทันที
หากทิศทางออกมาเช่นนี้ ย่อมส่งผลให้อุณหภูมิข้างนอกรัฐสภาต้องร้อนระอุขึ้นมาอีก
เพราะ 'ม็อบคณะราษฎร' ย่อมไม่เห็นด้วยกับแนวทางที่คว่ำร่างภาคประชาชนที่ได้ล่ารายชื่อมากว่า 1 แสนรายชื่อ
การปฏิเสธร่างภาคประชาชนของที่ประชุมรัฐสภา จึงเท่ากับปฏิเสธเจ้าของอำนาจที่แท้จริง
ยังไม่นับรวมกับปลายทางข้างหน้าอีกว่า แม้ 2 ฉบับแรกที่เปิดทางให้ตั้ง ส.ส.ร.ได้จะผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา
แต่ก็ยังไม่มีหลักประกันว่า 2 ร่างที่เปิดทางตั้ง ส.ส.ร. จะได้รับความเห็นชอบในวาระที่สองและสามหรือไม่
แม้ว่า คำแถลงนโยบายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2562 จะกำหนด 1 ใน นโยบายเร่งด่วน 12 เรื่อง ไว้ว่า
"การสนับสนุนให้มีการศึกษา การรับฟังความเห็นของประชาชน และการดําเนินการเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในส่วนที่ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ"
ทิศทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลังผ่านวาระที่หนึ่ง จึงต้องประเมินอีกครั้งและขึ้นอยู่กับกับกระแสกดดันของมวลชนนอกรัฐสภาอีกครั้งด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง