“การเรียนรู้คือต้นทางที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในมิติอื่นๆ ทั้งหมด การเรียนรู้จะช่วยให้คนมีคุณภาพ สามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตัวเอง ดังนั้นถ้าเราต้องการสร้างเมืองที่มีคุณภาพ ก็จะต้องมาจากการมีคนที่มีคุณภาพและการบริหารบ้านเมืองที่มีคุณภาพ เราจึงต้องเริ่มสร้างคนจากเด็กและเยาวชน บนความคาดหวังว่าเด็กที่เราได้บ่มเพาะจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับจังหวัดอุตรดิตถ์ได้”
เป็นเสียงสะท้อนและความคาดหวังของ “พิชาลล์ สร้อยสุวรรณ” เลขานุการเครือข่าย “อุตรดิตถ์ติดยิ้ม” ที่ขับเคลื่อนกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์ในชื่อของ “กิ่งก้านใบ Learning Space” มานานกว่า 15 ปี โดยอุตรดิตถ์ติดยิ้มเกิดขึ้นจากรวมตัวกันของกลุ่มคนทำงานด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนในพื้นที่จำนวน 13 กลุ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มก็จะทำงานในประเด็นที่แตกต่างกันออกไปผ่านกิจกรรมในพื้นที่หลากหลายรูปแบบ โดยเป็นหนึ่งใน “เครือข่ายพื้นที่ดีจัง” ที่ร่วมกันขับเคลื่อนพื้นที่เรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ โดยการสนับสนุนของ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) และ สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สำนัก4) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)
“จุดเริ่มต้นของเครือข่ายอุตรดิตถ์ติดยิ้มนั้นเกิดขึ้น จากการจัดเทศกาลที่มีชื่อว่ายกพวกดีกัน เพื่อแก้ปัญหาความรุนแรงในเด็กวัยรุ่นในปี 2545 ทำให้เกิดเป็นเครือข่ายของคนที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชนในพื้นที่ แต่สิ่งที่เป็นจุดเปลี่ยนของการทำงานของเครือข่ายก็คือการจัดเทศกาลอุตรดิตถ์ติดยิ้มในปี 2560 เพราะเป็นครั้งแรกที่ได้มีการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างภาคประชาสังคมกับภาครัฐเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนในเรื่องของพื้นที่เรียนรู้และพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชนในจังหวัดอุตรดิตถ์อย่างจริงจัง และมีการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน” พิชาลล์กล่าว
โดยความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคือ คนในจังหวัดเริ่มตระหนักและให้ความสำคัญกับเด็ก เยาวชน และการเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น เครือข่ายอุตรดิตถ์ยิ้มถูกเชิญให้เข้าไปมีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่างๆ ของทางจังหวัดเพิ่มขึ้น ดังจะเห็นได้จากการดำเนินงานต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐที่มักจะสอดแทรกเรื่องของการเรียนรู้เข้าไปด้วยเสมอ เช่นถนนคนเดินจากเดิมที่มีแค่การจำหน่ายสินค้า ก็มีเรื่องของการแสดงทางวัฒนธรรมและการละเล่นต่างๆ รวมถึงกิจกรรมเพื่อสร้างการเรียนรู้ที่เพิ่มขึ้น เช่นกัน
“เดี่ยว” วรวุฒิ เพ็งป่าแต้ว จาก “บ้านนอกสบายดี” หรือ “กลุ่ม ฅ. คนบ้านนอก” นับเป็นกลุ่มแรกๆ ที่เข้าร่วมเป็นเครือข่ายอุตรดิตถ์ยิ้ม ที่นำเอาต้นทุนด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และการทำเกษตรอินทรีย์ มาพัฒนาต่อยอดให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่สนุกสนาน โดยเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้เชิงเกษตรสำหรับคนทุกวัย ที่มีกิจกรรมสร้างสรรค์ที่ผสมผสานกับความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ โดยใช้เด็กและเยาวชนเป็นสะพานเชื่อมความรู้เข้าไปสู่ผู้ใหญ่และคนในชุมชน เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง
“ถ้าจะสอนเรื่องเกษตรอินทรีย์กับเด็กเนื้อหามันก็หนักไป ก็เลยพามาเล่นโคลน เล่นน้ำ เล่นฟุตบอล ของเล่นพื้นบ้าน เป่าปี่ตอซัง หนังสติ๊ก แล้วค่อยๆ สอดแทรกเรื่องวิถีเกษตรอินทรีย์เข้าไปกับการเล่น เช่นเล่นดินโคลนแล้วทำไมไม่คัน ก็ให้ความรู้ไปว่าแปลงนี้ไม่ใช้ปุ๋ยไม่ใช้ยา นานเข้าเด็กก็เริ่มถาม ก็ค่อยๆ สอดแทรกแลกเปลี่ยนความรู้กันไป ตอนนี้ก็ทำให้คนชุมชนเริ่มหันมาลดละเลิกการใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงบ้างแล้ว และอยากให้บ้านนอกสบายดีเป็นต้นแบบเล็กๆ เป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นๆ ในการทำพื้นที่ให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ เป็นพื้นที่เรียนรู้ได้จากต้นทุนในด้านต่างๆ ที่ตัวเองมีอยู่”
“แช็ค” สุกฤติ ปิ่นเพชร จาก “ธรรมมือสตูดิโอ” หนึ่งในเครือข่ายพื้นที่เรียนรู้อุตรดิตถ์ติดยิ้ม ที่ใช้องค์ความรู้ด้านศิลปะบำบัดและธรรมชาติบำบัด มาจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชน ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนพื้นที่เรียนรู้ในชุมชน สร้างทางเลือกและโอกาสในการเรียนรู้ที่หลากหลายให้กับคนทุกเพศวัย โดยมุ่งเน้นเรื่องของอาหารที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชน และจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้คนภายนอกและคนในพื้นที่ตระหนักและเห็นคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่
“เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอุตรดิตถ์ติดยิ้มในปี 2560 ที่มีการจัดงานยิ้มใหญ่ไฟกระพริบ ซึ่งตรงกับแนวคิดในเรื่องของการสร้างพื้นที่เรียนรู้ และทำให้เห็นว่าเราไม่ได้โดดเดี่ยว มีคนคิดและทำแบบเราเหมือนกัน และอยากเห็นพื้นที่เรียนรู้ และพื้นที่แสดงออกในรูปแบบต่างๆ เกิดขึ้นในทุกตำบลทุกอำเภอเพื่อให้เด็กๆ ได้มีทางเลือกของชีวิต เพราะการมีพื้นที่สร้างสรรค์จะทำให้เด็กและเยาวชนเห็นว่าสิ่งต่างๆ ที่มีในชุมชนนั้นสามารถนำมาต่อยอดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่แตกต่างได้ เช่นดินเหนียวสร้างเครื่องปั้นดินเผาได้ในขณะที่ก็ใช้สร้างบ้านได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งพลังของความคิดสร้างสรรค์จะก่อให้เกิดการพัฒนาสิ่งต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้น”
“ไร่ลุงรัง” ฟาร์มออร์แกนิค ร้านกาแฟ แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ที่ดำเนินงาน “ลุงรัง” รังสรรค์ โนนคำ ก็เป็นอีกหนึ่งเครือข่ายพื้นที่เรียนรู้ของอุตรดิตถ์ติดยิ้ม ที่เปลี่ยนให้ทุกพื้นที่ในฟาร์มแห่งนี้ให้กลายเป็นกิจกรรมเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์สำหรับทุกครอบครัว ด้วยการประยุกต์เรื่องเกษตรกรรมนำมาใส่กระบวนการแล้วถ่ายทอดลงไปให้คนที่อยากเรียนรู้ได้เข้ามาสัมผัส ที่ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าการทำงานเพื่อสังคมนั้นสามารถเชื่อมโยงเข้ากับธุรกิจและหล่อเลี้ยงตัวเองได้
“กิจกรรมต่างๆ ก็จะประยุกต์จากเรื่องเกษตรกรรมแล้วนำมาทำให้เป็นเรื่องสนุก โดยจับกลุ่มเป้าหมายคือเด็กปฐมวัยและครอบครัว เด็กอยากลองทำนาแต่ไม่ได้ทำนาเพื่อให้ได้ผลผลิต แต่ทำนาเพื่อความสนุก สนุกตรงได้เล่นดินเล่นโคลน ได้ลองทำอะไรที่แตกต่างไปจากวิถีชีวิตคนเมือง ตรงนี้ก็จะได้เรื่องพัฒนาการทางร่างกาย พอเขาสนุกก็จะสอดแทรกเนื้อหาเข้าไปให้เกิดเป็นการเรียนรู้ ทำให้เห็นคุณค่าของวิชาเกษตรกรรมที่สามารถถ่ายถอดหรือปลูกฝังความรู้ในด้านต่างๆ ให้กับเด็กได้”
ด้าน “ลาเต้” มรุเดช ไทยดิตษ์ จาก “กลุ่ม UTD” หรือ “อุตรดิตถ์ติดดาว” ซึ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ใช้สื่อสมัยใหม่ในการสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชน ด้วยการถ่ายทอดเรื่องราวในด้านต่างๆ ของจังหวัดทั้งแหล่งท่องเที่ยว ศิลปวัฒนธรรม ข่าวสารบ้านเมือง และปัญหาต่างๆ ทางสังคม ผ่านการสร้างสรรค์สื่อออนไลน์ในแพลตฟอร์มต่างๆ ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 2 แสนคน
“กลุ่ม UTD เข้ามาเป็นทำหน้าที่ส่งเสริมและให้ความรู้กับน้องๆ เยาวชนในระดับอาชีวศึกษาและมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะในประเด็นเรื่องพิษภัยจากสื่อ การรู้เท่าทันสื่อ ในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงของภาคประชาสังคม สะท้อนปัญหา ตีแผ่พิษภัยในสังคม โดยมีเครือข่ายเป็นเยาวชนอายุ 16-23 จำนวนกว่า 10 คนที่เข้ามาร่วมกันขับเคลื่อนสังคมในเรื่องต่างๆ ซึ่งปัจจุบันเรากำลังสร้างศูนย์การเรียนรู้ที่เรียกว่า UTD Station เพื่อให้เป็นศูนย์การเรียนรู้และฝึกอบรมการผลิตสื่อต่างๆ ให้กับคนรุ่นใหม่เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาจังหวัดอุตรดิตถ์ไปในทิศทางที่ดีขึ้น”
ซึ่งเป้าหมายของการเข้าร่วมเป็นเครือข่าย “อุตรดิตถ์ติดยิ้ม” นั้น ทุกคนต่างก็มีเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกันคือ การเปิดพื้นที่เรียนรู้ที่หลากหลาย ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของคนรุ่นใหม่ ควบคู่ไปกับการยกระดับคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชน
“ต้องการขับเคลื่อนในเรื่องของการมีพื้นที่เรียนรู้ให้เกิดขึ้นกับจังหวัดอุตรดิตถ์ เพราะคำว่าพื้นที่เรียนรู้นั้น จะมีพื้นที่ก็ดี แต่ถ้าไม่มีก็ไม่ใช่ข้อจำกัด อย่างตลาดในชุมชนก็เป็นพื้นที่เรียนรู้ได้ ให้เด็กได้มาเรียนรู้เรื่องการผลิตแปรรูปค้าขาย พื้นที่เรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกๆ ที่ สิ่งสำคัญคือต้องมองให้เข้าใจและออกแบบสิ่งที่มีอยู่ให้เป็นกระบวนการสร้างการเรียนรู้ได้อย่างไร” วรวุฒิ บ้านนอกสบายดี ระบุ
“อุตรดิตถ์ติดยิ้มเป็นเครือข่ายทางสังคมของคนที่ทำงานเพื่อสังคม เป็นสัญลักษณ์ที่บอกให้ทุกคนในจังหวัดรู้ว่า เรามีพื้นที่ปลอดภัยทางความคิด มีพื้นที่แสดงออกสำหรับทุกคน เป็นพื้นที่สาธารณะของเด็กๆ ที่เขาสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ โดยไม่ถูกแทรกแซงจากผู้ใหญ่” รังสรรค์ ไร่ลุงรัง ระบุ
“เป้าหมายที่เราวางไว้อันดับแรกก็คือการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนในจังหวัดอุตรดิตถ์ แต่เราไม่ได้คาดหวังถึงความเปลี่ยนแปลง แต่หวังผลที่จะเกิดขึ้นจากการขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน โดยมีความเชื่อมั่นว่ากระบวนการเรียนรู้ที่เขาได้รับจะเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้พวกเขาเติบโตขึ้นและเป็นผู้ขับเคลื่อนสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับสังคมด้วยตัวของเขาเอง” พิชาลล์ กิ่งก้านใบ กล่าวสรุป
วันนี้ “อุตรดิตถ์ติดยิ้ม” คือเครือข่ายของคนที่ทำงานเพื่อสังคมและขับเคลื่อนให้เกิดพื้นที่เรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ เป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมร้อยการทำงานของภาครัฐเข้ากับภาคประชาสังคมอย่างกลมกลืน บนเป้าหมายร่วมกันคือการพัฒนาเด็กและเยาวชน สร้างคนรุ่นใหม่เพื่อร่วมกันพัฒนาท้องถิ่นและชุมชนของตนเองให้มีคุณภาพต่อไปในอนาคต.