วันที่ 17-19 ส.ค.2565 รัฐสภามีวาระพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ในวาระที่ 2 หลังจากคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างงบประมาณได้ทำหน้าที่ตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว และปรากฏว่าสามารถตัดลดงบประมาณลงได้รวม 7,644 ล้านจากโครงการที่ กมธ.เห็นว่ายังไม่จำเป็น เพื่อนำงบส่วนนี้ไปกระจายใหม่ให้หน่วยงานที่เห็นว่าจำเป็นกว่า
รีดไขมันมาได้ แต่ไม่ได้โปะสวัสดิการ ส้มหล่มกรมการข้าว
- เป็นปีที่ตัดลดงบประมาณได้น้อยที่สุดในรอบ 4 ปีของรัฐบบาลประยุทธ์ เคยตัดได้มากที่สุด 30,000 ล้าน แต่เฉลี่ยจะอยู่ที่ 15,00-16,000 ล้าน ปี 2566 ตัดได้เพียง 7,644 ล้านบาท
- กมธ.แบ่งย่อยเป็นอนุกมธ. 8 ชุดที่จะพิจารณาด้านต่างๆ หลังจากมีการตัดงบในห้องอนุฯ หน่วยงานสามารถอุทธรณ์ขอคืนในห้อง กมธ.ใหญ่และได้คืนเป็นส่วนใหญ่ เช่น งบซื้อ F35A ของกองทัพอากาศที่หน่วยงานขอคืนครึ่งหนึ่งจำนวน 369 ล้าน, งบจังหวัดและกลุ่มจังหวัดที่ทำถนนซ้ำซ้อนกับ อปท.และส่วนกลาง
- นอกจากตัดกันในชั้นอนุ กมธ. ก็มีการตัดงบโดย กมธ.ชุดใหญ่ด้วยเช่นกัน เช่น กรณีเพกาซัส, การจัดซื้อไอแพดของสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี, ค่าเวนคืน-ก่อสร้างอุโมงค์ข้ามแยกเกียกกาย
- ระบบงบประมาณเมื่อตัดแล้วไม่ได้เอาคืน แต่จะเอาส่วนที่ตัดได้ไปกระจายให้หน่วยงานหรือโครงการอื่นที่จำเป็นกว่า ปีนี้ตัดได้ 7,644 จาก 38 หน่วยงาน เอาไปกระจายโปะให้ 12 หน่วยงาน เรียกว่า เป็น ‘รายการเพิ่มและเปลี่ยนแปลง’
- ใน 12 หน่วยที่ได้งบเพิ่ม กมธ.มีเสียงเป็นเอกฉันท์ 2 ส่วนคือ
1. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพิ่มราว 1,900 ล้านบาท สำหรับค่าดำเนินงานของ รพ.สต. 129 แห่งที่โอนไปให้ อปท.ดูแล
2.กระทรวงศึกษาธิการ เพิ่มราว 2,200 ล้านบาท สำหรับเงินอุดหนุนรายหัวเด็กนักเรียน
- ส่วนที่เหลือ กมธ.ถกกันหนักว่าจะเอาไปโปะให้หน่วยงานไหน มีการเสนอให้สภาองค์กรผู้บริโภค, เพิ่มให้กับสวัสดิการผู้สูงวัย ผู้พิการ ของกระทรวงพัฒนาสังคมฯ แต่สุดท้ายเมื่อมีการโหวตเสียงส่วนใหญ่ก็ยกมือให้กับกรมการข้าวเกือบ 2,300 ล้าน, องค์กรอิสระและอัยการราว 380 ล้าน, ศาลราว 190 ล้าน, กองทุนฟื้นฟูเกษตรกร 500 ล้าน เป็นต้น
- ข้อสังเกตสำคัญ ปีนี้ ‘กรมการข้าว’ ได้งบเพิ่ม 10 เท่า จากเดิมที่เคยได้ราวปีละ 2,000 ล้านบาทเรียกว่าเพิ่มมากที่สุดในบรรดาหน่วยราชการทั้งหมด
นอกจากหนี้สาธารณะ มีหนี้ที่ซุกไว้อีกเพียบ
- เรื่องหนี้เป็นประเด็นสำคัญ หนี้สาธารณะตอนนี้เกือบ 10 ล้านล้านบาท (ครึ่งหนึ่งเกิดขึ้นในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์) หรืออยู่ที่ประมาณ 7% ของงบประมาณรายจ่ายทั้งหมด ดอกเบี้ยอยู่ที่ราว 3% ของงบประมาณรายจ่ายทั้งหมด รวมแล้วประมาณ 10% แต่ก้อนหนี้มีแนวโน้มจะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ นอกจากการกู้เพิ่มแล้วยังจะเผชิญกับการปรับโครงสร้างนี้ (รีไฟแนนซ์) ของเงินที่รัฐบาลกู้มาที่จะเจอกับดอกเบี้ยที่แพงขึ้น คาดว่าอีก 5 ปี เฉพาะส่วนของดอกเบี้ยเงินกู้ก็จะคิดเป็น 10% ของงบประมาณรายจ่าย
- หนี้อีกตัวที่เห็นไม่ชัด จนมีคำครหาว่าเป็นการ ‘ซุกหนี้’ คือ หนี้ที่รัฐบาลยืมจากรัฐวิสาหกิจเพื่อดำเนินนโยบายต่างๆ เช่น ประกันรายได้เกษตรกร ขณะนี้รัฐบาลเป็นหนี้รัฐวิสาหกิจรวมทั้งหมด 1.1 ล้านล้านบาท รวมบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ด้วย โดยรัฐบาลใช้คืนหนี้ปีละแสนกว่าล้าน กลายเป็นดินพอกหางหมู
- 800,000 กว่าล้านบาท รัฐบาลเป็นหนี้ ธกส. ซึ่งเป็นหนึ่งในรัฐวิสาหกิจ เพราะโครงการประกันรายได้เกษตรกรซึ่งใช้งบปีหนึ่งๆ ราว 90,000 ล้านบาท ธกส.ระบุว่า อีกไม่เกิน 5 ปี หนี้จะพุ่งเป็น 1 ล้านล้านแล้ว ถามว่า ธกส.เอาเงินจากไหน คำตอบก็คือเงินฝากของประชาชนที่หมุนมาให้รัฐบาลกู้ยืมสำหรับทำนโยบายภาคเกษตร แทนที่จะได้เอาเงินให้ประชาชนกู้ยืม
- 120,000 ล้านบาท รัฐบาลเป็นหนี้กองทุนน้ำมัน การจะกู้เงินสถาบันการเงินในประเทศเพื่อปิดหนี้ก้อนนี้รัฐบาลก็ยังดำเนินการไม่สำเร็จ ดังนั้น แม้ราคาน้ำมันในตลาดโลกเริ่มลง ดีเซลก็ยังไม่ลงมากนัก เพราะต้องการเอาเงินเข้ากองทุนไปอุดหนี้ก้อนใหญ่นี้ ล่าสุด มีข่าวแว่วว่า ครม. 'อาจจะ' อนุมัติ พ.ร.ก.ให้กระทรวงการคลังค้ำประกันหนี้กองทุนน้ำมัน 150,000 ล้านบาท
- 65,000 ล้านบาท หนี้กองทุนประกันวินาศภัย ประกันโควิด 'เจอ-จ่าย-จบ' ทำให้บริษัทประกันปิดตัวเพราะโควิดไป 4 บริษัทและต้องจ่ายคืนผู้ซื้อประกัน แต่ทั้งกองทุนมีสินทรัพย์อยู่แค่ 6,000 ล้านบาท เป็นความผิดพลาดของ คปภ.ที่อนุญาตให้ออกผลิตภัณฑ์แบบนี้ สุดท้ายรัฐบาลอาจต้องกู้เงินมาให้กองทุนนี้กู้ต่อ
- 61,000 ล้านบาท รัฐบาลเป็นหนี้กองทุนประกันสังคม ตอนปี 2563 หนี้ก้อนนี้เคยขึ้นไปถึง 90,000 ล้านบาทแต่ กมธ.งบแปรญัตติเอางบไปอุดให้ หนี้ส่วนนี้มาจากเงินสมทบส่วนของรัฐบาลที่ส่งเข้ากองทุนไม่ครบและสะสมมา โดยหนี้ก้อนนี้ยังไม่รวมนโยบายต่างๆ ที่ออกมาช่วยเหลือแรงงานช่วงโควิด
งบสวัสดิการข้าราชาการ งบบุคลากรน่าห่วง
- งบอีกตัวหนึ่งที่น่าพิจารณาคือ งบสวัสดิการข้าราชการ กพ.ประเมินว่าอีกไม่เกิน 10 ปี งบสวัสดิการข้าราชการจะพุ่งแซงงบด้านบุคลากรรัฐ หรือพูดง่ายๆ ว่า เงินบำนาญคนเกษียณจะมากกว่าเงินเดือนข้าราชการที่ยังทำงานอยู่
- กมธ.ยกข้อสังเกตในปี 2554 ที่พบว่ารายจ่ายเงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เคยใช้งบไม่ถึง 1 แสนล้านบาท หรือไม่ถึงร้อยละ 5 ของงบรายจ่ายทั้งหมด แต่งบส่วนนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนปัจจุบันเกินกว่าร้อยละ 10 ของงบประมาณแล้ว ในปี 2566 มีการตั้งงบส่วนนี้ 352,700 ล้านบาท ได้รับจัดสรร 322,790 ล้านบาท
- หากดูตัวเลขบุคลากรที่รัฐต้องดูแล ทั้งคนเก่า-คนปัจจุบัน ข้อมูลจาก กพ.จะพบว่า
ข้าราชการเกษียณมี 811,272 คน
ข้าราชการปัจจุบันมีราว 1,700,000 คน
พนักงานราชการ ลูกจ้าง มีราว 1,200,000 คน
ข้าราชการกองทัพ+ทหารเกณฑ์ มีราว 500,000 คน
- ข้อมูลของส่วนราชการในพระองค์ก็มีการชี้แจงเพิ่มมากขึ้นในชั้น กมธ. โดยมีการระบุว่า ส่วนราชการในพระองค์มีบุคลากรรวมทั้งหมด 14,457 คน โดยใช้งบประมาณรวม 8,611 ล้านบาทในปี 2566 ในจำนวนี้ใช้จ่ายไปกับบุคลากร 92.30% หน่วยงานภายในแบ่งออกเป็น 3 หน่วยงาน คือ
1.สำนักงานองคมนตรี บุคลากร 78 คน
2.สำนักพระราชวัง บุคลากร 6,683 คน
3.หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ บุคลาการ 7,696 คน
เงินนอกงบประมาณ หลุมดำขุมทรัพย์ที่ตรวจสอบยาก
- เงินนอกงบประมาณ เป็นเงินที่หน่วยงานต่างๆ หารายได้เอง โดยรายงานต่อสำนักงบไม่ละเอียดนักว่าได้มาทั้งหมดเท่าไร จากที่ใดบ้าง แม้สำนักงบประมาณกำหนดมาตรฐานว่าหากมีรายได้เกินกำหนดต้องเอามาสมทบในการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยงานด้วย แต่ก็พบว่าหน่วยงานยังคงของบประมาณปกติ หน่วยงานที่รายได้เยอะและมีปัญหาเรื่องเงินนอกงบประมาณมากที่สุดคือ กระทรวงกลาโหม ซึ่งเงินนอกงบประมาณบางส่วนก็นำไปใช้โดยอ้างว่าเป็นสวัสดิการของกำลังพล แต่เป็นสวัสดิการของบุคลากรระดับสูง เช่น สนามกอล์ฟ
- รายงานข่าวระบุว่า คาดการณ์ว่ารัฐบาลมีเงินนอกงบประมาณสูงถึง 4.5 ล้านล้านบาท และใช้เงินนอกงบประมาณเพื่อสมทบโครงการต่างๆ ราว 1.05 แสนล้านบาท กมธ.ระบุว่าปีต่อไปจะขอตั้งอนุกมธ.พิจารณาเงินนอกงบประมาณของหน่วยงานต่างๆ เป็นการเฉพาะ
- กรณีกระทรวงการคลังเองก็มีรายได้ โดยเก็บ ‘ค่าต๋ง’ หรือค่าจัดการในส่วนการจัดเก็บรายได้ที่รัฐจะจัดเก็บให้แล้วส่งให้ท้องถิ่น โดยหักค่าต๋งราว 5% แทนที่จะให้ท้องถิ่นไปเต็มๆ แล้วเบิกจ่ายค่าดำเนินการจริงจากรัฐ
ข้อสังเกตอื่นๆ ที่น่าสนใจ
- อีกกองทุนหนึ่งที่น่าจับตาคือ กองทุนพลังประชารัฐ ปีๆ หนึ่งจะใช้ประมาณ 50,000 ล้านบาท ปีไหนโดนตัดงบก็จะไปใช้งบกลางแทน ปี 2566 ตั้งงบกองทุนไว้แค่ 35,000 ล้านบาทเท่านั้น กระทรวงการคลังก็ระบุว่าไม่เพียงพอ น่าจะมีการใช้งบกลางอีกเช่นเคย ทั้งนี้จำนวนคนที่ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมี 13.6 ล้านคน
- งบกลางยังคงเป็นปัญหาคลาสสิคที่ กมธ.ตรวจสอบไม่ได้ว่าใช้อะไรบ้าง ต้องไปแกะข้อมูลเอาเองจากครม. ซึ่งไม่ใช่ทั้งหมดที่ใช้ ข้อสังเกตหลักคือ รัฐบาลมักเอาไว้ขัดตาทัพในความผิดพลาดต่างๆ หรือไม่ก็เอาไปใช้ในโครงการที่อาจถูกมองได้ว่าเป็น ‘งบหาเสียงล่วงหน้า’ เช่น โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ฯลฯ
- ทั้งนี้ งบกลางประกอบด้วย 12 รายการซึ่งล็อคไว้ทุกปี 10 รายการ แต่มีรายการที่รัฐบาลใช้ได้สะดวกคือ "เงินสำรองจ่ายฉุกเฉินจำเป็น" กับ "เงินจัดการโควิด" ซึ่งพบว่าขาดความโปร่งใส ตีความกว้างขวางว่าอะไรฉุกเฉินหรือไม่ อย่างไรก็ตาม แม้จะจัดประเภทไว้แล้วแต่ก็มีการเปิดทางให้รัฐบาลโอนย้ายงบกลางในหัวข้ออื่นๆ ได้ด้วย เช่น งบกลางในเรื่องการเลื่อนเงินเดือน ปรับวุฒิข้าราชาการ ตั้งไว้ปีละ 10,000 ล้าน แต่ตั้งแต่ปี 2557-2565 ไม่เคยมีการเบิกจ่ายแม้แต่บาทเดียว และไม่รู้ว่ามีการโอนไปใช้ในส่วนไหนหรือไม่
- ยกตัวอย่างปี 2565 กำหนดงบกลาง "กรณีฉุกเฉินเร่งด่่วน" ไว้ 89,000 ล้านบาท มีการอนุมัติตามมติ ครม.ไปแล้ว 44,000 ล้านบาท ซึ่งหลายโครงการถูกตั้งคำถามอย่างมาก เช่น เอาไปใช้หนี้การบินไทยแทนกองบินตำรวจเกือบพันล้าน หรือกรณีเอาไปใช้ในโครงการเศรษฐกิจฐานรากหลายพันล้าน ซึ่งถูกอภิปรายว่ามีการทุจริต นอกจากนี้ยังพบว่าปี 2565 รัฐบาลตั้งเงินเดือนบุคลากรไว้ไม่เพียงพอ จึงเตรียมขอเบิกงบกลางอีก 23,000 ล้านบาท
- งบประมาณมีการกระจุกตัวอยู่ตามจังหวัดต่างๆ อย่างชัดเจน โดย 7 จังหวัดที่ได้งบประมาณสูงสุดรวมกันเป็นเฉลี่ย 20-30% ของประเทศ และมีข้อสังเกตว่าจังหวัดที่โครงการบำรุงรักษาถนนหนทาง มีสัดส่วนของ ส.ส.แบบแบ่งเขตในจังหวัดสังกัดพรรคการเมืองเดียวกับรัฐมนตรีที่รับผิดชอบ เช่น พรรคภูมิใจไทยที่รับผิดชอบกระทรวงคมนาคม
- การจัดสรรงบประมาณไม่มองภาพใหญ่ ในโครงการทั้งหมด 2,569 โครงการ มีการแบ่งเป็นเบี้ยหัวแตก หรือโครงการขนาดเล็กงบประมาณน้อยกว่า 100 ล้านบาทกว่า 1,825 โครงการ หรือคิดเป็น 71% ของโครงการ
กระบวนการงบประมาณไม่ทันโลก ไม่มีประสิทธิภาพ
- กระบวนการงบประมาณใช้เวลานานมาก ร่วมๆ 2 ปีล่วงหน้า และวางแผนตามกรอบเดิมๆ ทำให้ตามไม่ทันสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพียงการประมาณการรายได้ภาครัฐก็คลาดเคลื่อนมากแล้วเพราะเศรษฐกิจโลกผันผวน เมื่อเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาทำให้แก้ไขอะไรไม่ทัน ดังนั้น หากไม่สามารถทำงบแบบ zero based budgeting ได้ ก็ควรมีส่วนที่ยืดหยุ่นมากขึ้น กมธ.ไม่ต้องมาคุยกันเรื่องเม็ดเงินมากนัก สำนักงบประมาณเข้มงวดในการจัดซื้อจัดจ่าง แล้วเน้นคุยเรื่องเป้าหมายให้มากขึ้น เมื่อมีงบเพิ่มก็สามารถจัดสรรเพิ่มเติมตามเป้าหมายได้ เพื่อรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงเร็ว และเพิ่มความโปร่งใสให้มากขึ้นแลกกับความยืดหยุ่น เช่น ก่อนสั่งจ่ายงบกลางมีการเปิดให้ประชาพิจารณ์สัก 1 สัปดาห์ก่อนใช้จริง
หมายเหตุ ข้อมูลส่วนใหญ่มาจากการสัมภาษณ์ ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล
เอกสารกรรมาธิการฯ :
รายการปรับลด (1)
รายการปรับลด (2)
รายการเพิ่มและเปลี่ยนแปลง