นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กรณีที่ตรวจพบว่ามีร้านค้าได้เชิญชวนให้ผู้ลงทะเบียนกับในโครงการ "ชิมช้อปใช้" ที่ได้รับวงเงิน 1,000 บาทจากรัฐบาลให้ไปแลกรับเงินสดได้นั้น ขณะนี้ได้ทำการตัดสิทธิ์ร้านค้าที่ตรวจพบไปแล้ว ซึ่งหากตรวจพบอีกก็ให้ทำการตัดสิทธิ์ในทันที โดยธนาคารกรุงไทยได้ดำเนินการใช้เทคโนโลยีมาตรวจจับว่าร้านค้า ทำการขายสินค้าใดอย่างไรบ้าง เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ คือ การท่องเที่ยว กระตุ้นการใช้จ่าย นอกจากนี้ยังได้เร่งทำความเข้าใจกับร้านค้าไม่ให้ทำผิดกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้
อย่างไรก็ตามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยอมรับว่า ในขั้นตอนการลงทะเบียนเข้าการยืนยันตัวตนในแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" เพื่อรับเงิน 1,000 บาท อาจมีปัญหาติดขัดอยู่บ้าง โดยหากประชาชนที่ยังพบปัญหาการยืนยันตัวตัว และการใช้ระบบสามารถติดต่อธนาคารกรุงไทยและกรมบัญชีกลางเพื่อสอบถามได้โดยตรง
ด้านนายผยง ศรีวณิช กรรมการ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า วันนี้(27ก.ย.62) ผู้ที่ผ่านการลงทะเบียนประมาณ 8 แสนคนตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย. 62 จะได้รับข้อความตอบกลับครบทั้งหมดแล้ว ส่วนยอดการลงทะเบียนเข้าใช้แอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" เรียบร้อยแล้วอยู่ที่ราวร้อยละ 80 ที่เหลือบางส่วนอาจติดปัญหาเรื่องภาพถ่ายใบหน้าไม่ตรงกับรูปในบัตรประจำตัวประชาชน ทำให้มีผู้เข้ามาติดต่อขอยืนยันตัวตนที่สาขาธนาคารกรุงไทยในวันนี้กว่า 5,000 คน โดยขณะนี้พบว่าประชาชนเริ่มมีการใช้จ่ายเกินขึ้นแล้วประมาณ 1 ล้านบาท
ส่วนการลงทะเบียนที่ประชาชนให้ความสนใจจำนวนมาก ล่าสุดวันที่ 27 ก.ย. 2562 มีการลงทะเบียนครบ 1 ล้านคนตั้งแต่เวลา 02.56 น. ทำให้ประชาชนที่รอไปลงทะเบียนที่สาขาธนาคารกรุงไทยไม่สามารถไปทัน ซึ่งขณะนี้ยืนยันว่าจะไม่มีการปรับเวลาแต่อย่างใด
ขณะที่นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า มาตรการ “ชิมช้อปใช้” ในช่วง 5 วันแรก มีผู้สนใจเข้าร่วมเต็มตามโควตา 1 ล้านราย สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนเมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2562 ซึ่งเป็นวันที่ 2 ของการเปิดรับลงทะเบียน มีผู้ผ่านเกณฑ์ 775,232 ราย โดยผู้ได้รับสิทธิ์จะทยอยได้รับ SMS ยืนยันภายในวันนี้ และสามารถเดินทางท่องเที่ยวพร้อมเริ่มจับจ่ายใช้สอยได้ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายนถึงวันที่ 11 ตุลาคม 2562 โดยเมื่อเริ่มใช้สิทธิ์ครั้งแรกแล้ว สามารถใช้สิทธิ์ต่อเนื่องได้จนสิ้นสุดโครงการในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2562
หากพิจารณาในรายละเอียดพบว่า ผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์จากการลงทะเบียนในวันที่ 2 โดยส่วนใหญ่จำนวนกว่า 87,000 ราย มีสาเหตุจากการยืนยันตัวตนหรือการกรอก OTP เกินกว่าระยะเวลาที่กำหนด 3 นาที อีกส่วนหนึ่งจำนวนกว่า 67,000 ราย มีข้อมูลไม่ตรงกับฐานข้อมูลของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการกรอกข้อมูลผิดพลาด เช่น การใส่คำนำหน้าชื่อ ไม่ว่าจะเป็น นาย นาง หรือนางสาวลงในช่องที่จะต้องกรอกชื่อ ซึ่งในความจริงแล้วไม่ต้องกรอกคำนำหน้าชื่อ หรือความสับสนระหว่างหมายเลขศูนย์กับตัวอักษร O (โอ) ในส่วนของรหัสที่อยู่ด้านหลังบัตรประชาชน เป็นต้น และอีกจำนวนกว่า 70,000 ราย ไม่ผ่านเกณฑ์เนื่องจากเลือกจังหวัดที่ต้องการไปใช้สิทธิ์ตรงกับจังหวัดที่เป็นทะเบียนบ้านของตน