ไม่พบผลการค้นหา
ทูตจีนจากกรุงปักกิ่งและทูตไต้หวันจากกรุงไทเปประจำสหรัฐฯ ต่างออกมาให้ความเห็นต่อกรณีที่ อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีเจ้าของเทสลา ออกมาระบุว่า ไต้หวันควรเป็นเขตปกครองพิเศษของจีน กับการให้สัมภาษณ์สำนักข่าว The Financial Times ล่าสุด

มัสก์ระบุในการให้สัมภาษณ์ว่า ทั้ง 2 รัฐบาลสามารถบรรลุข้อตกลง “ที่หวานปากพอสมควร” ในเรื่องความขัดแย้ง สืบเนื่องจากการที่จีนแผ่นดินใหญ่ประกาศว่า ไต้หวันเป็นเพียงแค่มณฑลหนึ่งของตน ในขณะที่ไต้หวัน ซึ่งมีอำนาจปกครองตนเองอย่างเต็มรูปแบบ ประกาศชัดเจนว่าตนเป็นประเทศเอกราชอันมีอำนาจอธิปไตยเป็นของตนเอง

หลังจากการให้ความเห็นของมัสก์ เอกอัครราชทูตจีนประจำสหรัฐฯ ได้ออกมายกย่องความเห็นของมหาเศรษฐีรายนี้ ในขณะที่ทางการไต้หวันได้ออกมาแสดงความไม่พอใจ พร้อมระบุว่าเสรีภาพ “ไม่ใช่สิ่งที่เอามาซื้อขายกันได้” เพื่อตอบโต้ความเห็นของมัสก์

ทั้งนี้ ความเห็นของมัสก์ในการเสนอว่าไต้หวันควรเป็นเขตปกครองพิเศษของจีน เกิดขึ้นหลังจากที่เทสลาสามารถทำยอดขายรถไฟฟ้าของตน บนจีนแผ่นดินใหญ่ประจำเดือนได้เป็นประวัติการณ์ ก่อนการออกมาให้สัมภาษณ์กับทาง The Financial Times ซึ่งได้รับการตีพิมพ์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (7 ต.ค.)

“คำแนะนำของผม… คือการตัดสินใจตั้งเขตปกครองพิเศษสำหรับไต้หวันที่หวานปากพอสมควร (แม้ว่ามัน) อาจจะไม่ทำให้ทุกคนมีความสุข” มัสก์ระบุ “และมันเป็นไปได้ และผมคิดว่าที่จริงแล้ว พวกเขาอาจมีข้อตกลงที่ผ่อนปรนมากกว่าฮ่องกง”

หลังจากความเห็นดังกล่าวของมัสก์ เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (8 ต.ค.) ฉินกัง เอกอัครราชทูตจีนประจำสหรัฐฯ ได้ออกมาทวีตข้อความยกย่องความเห็นของมัสก์ว่า “ผมอยากจะขอบคุณ อีลอน มัสก์ ถึงการเรียกร้องสันติภาพตลอดช่องแคบไต้หวัน และความคิดของเขาในการตั้งเขตปกครองพิเศษในไต้หวัน อันที่จริง การรวมชาติอย่างสันติ และหนึ่งประเทศสองระบบ เป็นหลักการพื้นฐานของเราในการแก้ปัญหาไต้หวัน”

“หากได้รับการรับประกันอำนาจอธิปไตย ความมั่นคง และผลประโยชน์ด้านการพัฒนาของจีน หลังจากการรวมชาติ ไต้หวันจะมีเอกราชในระดับสูงในฐานะเขตปกครองพิเศษ และได้พื้นที่กว้างใหญ่สำหรับการพัฒนา” ฉินกังกล่าวเสริม

ในทางตรงกันข้าม เซียวปี่ขิม เอกอัครราชทูตไต้หวันประจำกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เชิงพฤตินัย ออกมากล่าวในทวิตเตอร์ว่า “ไต้หวันขายสินค้าหลายอย่าง แต่เสรีภาพและประชาธิปไตยของเราไม่ใช่สิ่งที่เอามาซื้อขายกันได้” เซียวกล่าวเสริมอีกว่า “ข้อเสนอที่ยั่งยืนสำหรับอนาคตของเรา ต้องถูกกำหนดอย่างสันติ ปราศจากการบีบบังคับ และเคารพต่อความปรารถนาในระบอบประชาธิปไตยของชาวไต้หวัน”

ชิโฮโกะ โกโตะ ผู้อำนวยการด้านภูมิเศรษฐศาสตร์และองค์กรอินโดแปซิฟิก ประจำวิลสันเซ็นเตอร์ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ให้ความเห็นกับสำนักข่าว BBC ว่า คำแนะนำดังกล่าวของมัสก์ อาจส่งผลเสียต่อผลประโยชน์ทางธุรกิจของเขา “โปรดอย่าลืมว่า อีลอน มัสก์ กำลังจะซื้อทวิตเตอร์ตามที่มีการคาดการณ์เอาไว้ แน่ล่ะว่า ทวิตเตอร์ถูกแบนในจีน เนื่องจากเสรีภาพทางคำพูดไม่เป็นหลักการที่ได้รับอนุญาตในจีน”

“ดังนั้น ถ้าเขาลงทุนในทวิตเตอร์ บริษัทของเขาอาจจะไม่สามารถดำเนินการในไต้หวัน ที่อยู่ภายใต้แรงกดดันหรืออยู่ภายใต้การควบคุมของจีน นั่นจะเป็นการฆ่าตัวตายของ อีลอน มัสก์” โกโตะกล่าวเสริม ทั้งนี้ จีนมองว่าไต้หวันซึ่งมีอำนาจปกครองตนเอง เป็นเพียงแค่มณฑลที่แตกแยกออกไป ซึ่งในที่สุดจะต้องกลับมาอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ในกรุงปักกิ่ง แม้ทางการจีนจะต้องใช้กำลังเพื่อยึดมาเป็นของตนก็ตาม

ในขณะเดียวกัน ตามรายงานของสมาคมรถยนต์นั่งส่วนบุคคลของจีน เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (9 ต.ค.) ระบุว่า เทสลาได้ขายรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในจีนไปกว่า 83,135 คันในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งทำลายสถิติเดิมของบริษัทในเดือน มิ.ย. และเป็นก้าวสำคัญของโรงงานของเทสลาในเซี่ยงไฮ้ ซึ่งกำลังมีความพยายามในการเพิ่มการผลิตรถของตน

นอกจากนี้ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มัสก์ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก จากการทวีตเปิดทำผลสำรวจบนทวิตเตอร์ ด้วยข้อเสนอแนะของเขาในการยุติสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน โดยมัสก์เสนอให้ยูเครนยอมยกแผ่นดินให้กับทางรัสเซียอีกด้วย


ที่มา:

https://www.bbc.com/news/business-63196452?fbclid=IwAR2tCWb34HZln61UNNfdkcuDAF0o5H51Emn25OHi6x1JpmECqw1zcS-hIbc