ไม่พบผลการค้นหา
หน่วยงานในสหรัฐฯ เสนอให้บุคลากรในแวดวงศัลยกรรมชี้แจงเรื่องความเสี่ยงและผลข้างเคียงจากการผ่าตัดเสริมหน้าอกให้แก่ผู้รับบริการอย่างละเอียด แต่ยังไม่อาจชี้ชัดได้ว่า ผู้ผลิตอุปกรณ์เสริมหน้าอกต้องแปะคำเตือนบนฉลากผลิตภัณฑ์ด้วยหรือไม่

สำนักงานอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา และ FDA จัดประชุมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อหารือร่วมกันระหว่างคณะกรรมมาธิการเอฟดีเอ และผู้ได้รับผลกระทบจากการผ่าตัดเสริมหน้าอก รวมถึงตัวแทนบริษัทผู้ผลิตวัสดุเสริมหน้าอก ก่อนจะหามติร่วมกันว่าควรยกระดับคำเตือนเรื่องความเสี่ยงและผลข้างเคียงจากการผ่าตัดเสริมหน้าอกอย่างไร 

การหารือดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากผู้บริโภคจำนวนหนึ่งยื่นเรื่องร้องเรียนต่อเอฟดีเอ โดยระบุว่า พวกเขาไม่ได้รับข้อมูลที่ละเอียดและรอบด้านเพียงพอก่อนจะเข้ารับการผ่าตัดเสริมหน้าอก ทำให้หลายคนประสบปัญหาต่อเนื่องหลังการผ่าตัด เช่น เกิดแผลเป็นขนาดใหญ่ วัตถุที่ใช้เสริมหน้าอกรั่วไหลหรือระเบิด และมีเบาะแสบ่งชี้ว่าอุปกรณ์เสริมหน้าอกมีส่วนกระตุ้นให้เกิดเซลล์มะเร็ง

ที่ประชุมสรุปเบื้องต้นว่า ผู้เกี่ยวข้องกับการผ่าตัดเสริมหน้าอกจะต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงและผลข้างเคียงให้ผู้บริโภครับทราบก่อนดำเนินการผ่าตัดจริง โดยมีผู้เสนอให้ผู้ผลิตอุปกรณ์เสริมหน้าอกแปะฉลากคำเตือนให้เห็นชัดเจนบนกล่องบรรจุผลิตภัณฑ์ และศัลยแพทย์ควรมี 'เช็กลิสต์' หรือรายการชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้จากการผ่าตัดเสริมหน้าอก เพื่อให้ผู้รับบริการทราบข้อมูลรอบด้านเพื่อประกอบการตัดสินใจ

เอฟดีเอเปิดเผยเพิ่มเติมว่า ผู้หญิงอเมริกันผ่าตัดเสริมหน้าอกปีละประมาณ 400,000 คน แต่ 1 ใน 5 ของผู้ผ่าตัดเสริมหน้าอกเหล่านี้ มักลงเอยด้วยการผ่าตัดรอบสองภายในเวลา 8 ถึง 10 ปี เพื่อเอาอุปกรณ์เสริมหน้าอกออกจากร่างกาย โดยเหตุผลหลักมักเกี่ยวข้องกับคุณภาพของวัสดุที่ใช้ในการเสริมหน้าอก

Reuters-ซิลิโคนเสริมหน้าอก.JPG
  • รายงานข่าวระบุว่า วัสดุเสริมหน้าอกบางรุ่นอาจรั่วไหลหรือแตกหลังการผ่าตัดได้ระยะหนึ่ง

ตัวอย่างที่เห็นชัดเจน คือ กรณีบริษัทผู้ผลิตซิลิโคนเสริมหน้าอก Allergan ของฝรั่งเศส ต้องเรียกคืนสินค้ารุ่นไบโอเซลล์จากทั่วโลกเมื่อเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา หลังจากมีรายงานบ่งชี้ว่าวัสดุที่ใช้มีแนวโน้มก่อให้เกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

นอกจากนี้ ผู้หญิงอเมริกันกว่า 70,000 คนที่เข้าชื่อเรียกร้องให้เอฟดีเอออกมาตรการยกระดับคำเตือนความเสี่ยงเรื่องผ่าตัดเสริมหน้าอก ระบุด้วยว่า ผู้รับการผ่าตัดบางรายมีอาการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับข้อต่อและกล้ามเนื้อ ทำให้มีอาการปวดเรื้อรัง และมีปัญหาเต้านมไม่สมดุลกัน ซึ่งยังไม่อาจระบุได้ว่าเกิดจากการผ่าตัดหน้าอกเพียงอย่างเดียวหรือไม่ และยังต้องรอผลการตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์เพิ่มเติม

ก่อนที่เอฟดีเอของสหรัฐฯ จะลงมติว่าสมควรยกระดับคำเตือนการผ่าตัดเสริมหน้าอกหรือไม่ จะต้องมีการสอบถามความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไปเสียก่อน แต่เบื้องต้น เอฟดีเอขอความร่วมมือบริษัทผู้ผลิตวัสดุเสริมหน้าอกและศัลยแพทย์ให้ช่วยกันชี้แจงข้อมูลอย่างรอบด้านแก่ผู้ที่จะเข้ารับการผ่าตัด

สิ่งต้องย้ำอย่างชัดเจนก่อนผ่าตัด คือการบอกผู้ที่จะรับบริการว่า หน้าอกที่ได้จากการผ่าตัดจะไม่อยู่ในสภาพเดิมถาวร และมีแนวโน้มสูงว่า ผู้ผ่าตัดจะต้องเข้ารับการผ่าตัดซ่อมแซมภายหลัง รวมถึงต้องตรวจสอบคุณภาพวัสดุที่จะใช้เสริมหน้าอกอย่างเคร่งครัดว่าได้มาตรฐานทางการแพทย์หรือไม่ และต้องย้ำด้วยว่า การผ่าตัดเสริมหน้าอกมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคมะเร็งได้

ที่มา: AP/ The Guardian/ New York Times

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: