16 ส.ค.2564 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ (สศช.) ได้ฤกษ์ดีแก้ข่าวดังกล่าวด้วยตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ที่ไม่ได้ติดลบอย่างที่ใครเขาว่าไว้ แต่โตถึง 7.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY) หยุดยั้งการติดลบต่อเนื่องของเศรษฐกิจไว้ที่ไตรมาสแรกของปีนี้กับตัวเลข ติดลบ 2.6% เท่านั้น
เพื่อตอบคำถามสำคัญที่เป็น 'พาดหัว' ของบทความชิ้นนี้ สรุปการเติบโต 7.5% YoY เป็นเรื่องดีไหม จำเป็นต้องทำความเข้าใจว่า 'YoY' คือว่าอะไรเสียก่อน แม้ความหมายจะตรงตัวว่า 'ช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า' แต่การยกตัวอย่างอาจทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น
ตัวเลขบวก 7.5% ที่กำลังพูดถึงนี้ คือการเติบโตของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2/2564 (เม.ย-มิ.ย.) และที่บอกว่าเติบโตขึ้น ก็เป็นการเปรียบกับช่วงเวลาเดียวกัน คือ เม.ย.-มิ.ย. ของปีที่ผ่านมา ในแถลงครั้งนี้ สภาพัฒน์ชี้ว่า สาเหตุที่ทำให้จีดีพีไตรมาสที่สองของปีพุ่งขึ้นเป็นเพราะ "ปัจจัยฐานต่ำ" หรือหมายความว่ากำลังเปรียบเทียบกับสิ่งที่อ่อนแอ เพราะจีดีพีไตรมาส 2/2563 ติดลบถึง 12.1%
สิ่งนี้แปลให้ง่ายขึ้นได้ด้วยการไปดูมูลค่าจีดีพีของประเทศไทย ไตรมาส 2/2564 ที่เขาบอกว่าโต 7.5% นั้น คิดเป็นเม็ดเงินทางเศรษฐกิจได้ 3.923 ล้านล้านบาท ขณะที่ตัวเลขของไตรมาส 2/2563 คือ 3.545 ล้านล้านบาท คำนวณออกมาคิดเป็นมูลค่าเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นราว 378,000 ล้านบาท
ถ้าเอาตัวเลขปีนี้ ไปเทียบกับไตรมาสที่ 2/2562 ก่อนจะเกิดโควิด-19 จะพบว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/2564 ยังตามหลังเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2/2562 อยู่ราวๆ 233,000 ล้านบาทด้วยซ้ำ
นอกจากจะเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าแล้ว ยังสามารถเปรียบเทียบการเติบโตทางเศรษฐกิจกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ได้เช่นกัน ซึ่งพบว่าตัวเลขในไตรมาส 2/2564 โตเพียง 0.4% จากไตรมาสแรกเท่านั้น
ขณะไตรมาสแรกก็โตแค่เพียง 0.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 ส่วนตัวเลขของไตรมาส 4/2563 นั้นโตเพียง 0.8% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2563 อันเป็นไตรมาสที่เห็นการเติบโต QoQ มากที่สุดในช่วงที่ผ่านมา เพราะโตถึง 6.1% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2563 อันเป็นไตรมาสที่เศรษฐกิจไทยถดถอยที่สุด ตลอดวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้
หากจะเทียบการฟื้นตัวทางเศรษฐกิขจองไทยกับจีนหรือประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหภาพยุโรปหรือสหรัฐอเมริกาก็คงจะไม่เหมาะสมเท่าไหร่นัก ด้วยเหตุนี้การวางตัวเองไว้กับประเทศเพื่อนบ้านที่มีสถานการณ์คล้ายคลึงกันอาจสะท้อนความจริงได้มากกว่า
ในหน้าเว็บไซต์รอยเตอร์สที่พูดถึงข้อมูลโควิด-19 ของแต่ประเทศในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คำจำกัดความของมาเลเซียอยู่ในสภาวะ "พีคและกำลังเพิ่มขึ้น" ("At peak and rising") คิดเป็นอัตราการเติดเชื้อรายใหม่ต่อวันมากกว่า 20,300 ราย
ขณะที่สถานการณ์ของอินโดนีเซียอยู่ในสภาวะ "พีคและกำลังลดลง" ("of peak and falling") ด้วยตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันราว 26,900 ราย สถานการณ์ของไทยอยู่ในสภาวะเดียวกันมาเลเซีย ด้วยตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันเฉลี่ย 21,500 ราย
จากกราฟแสดงข้อมูลพบว่าทั้ง 3 ประเทศ มีห้วงเวลาการพีคของโควิด-19 ระลอกนี้ใกล้เคียงกัน มาเลเซียและไทยเริ่มต้นในช่วง เม.ย.ที่ผ่านมา ขณะอินโดนีเซียตามหลังมาเล็กน้อย โดยมาปะทุเอาในเดือน มิ.ย.
แม้จะมีสถานการณ์โควิด-19 ที่ใกล้เคียงกัน ระดับการเติบโตของเศรษฐกิจไตรมาส 2/2564 ของแต่ละประเทศกลับมีความหลากหลาย จีดีพีของมาเลเซียพุ่งขึ้นเป็น 16.1% ในไตรมาสนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า หลังจากที่ก่อนหน้านี้เศรษฐกิจของประเทศติดลบต่อเนื่องถึง 4 ไตรมาส
สาเหตุสำคัญมาจากการขยายตัวของภาคการผลิตและการกลับมาฟื้นตัวของภาคบริการซึ่งกินสัดส่วนสำคัญของเศรษฐกิจ ภาคบริการที่นำโดยส่วนย่อยอย่างการค้าส่งและค้าปลีกส่ง ส่งให้อุตสาหกรรมรวมโตขึ้น 13.4% YoY เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกที่ติดลบ 2.3% YoY เช่นเดียวกับฝั่งการบริโภคภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้นทั้งหมด อันเป็นการสะท้อนกำลังซื้อของผู้บริโภค
อินโดนีเซียในไตรมาสที่สองนี้ มีจีดีพีเติบโตราว 7.07% ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่สูงกว่าการประเมินของนักวิเคราะห์จากรอยเตอร์สซึ่งคาดเอาไว้ที่ 6.57% เท่านั้น สาเหตุสำคัญของการเติบโตครั้งนี้ไม่ต่างจากไทยนักคือมาจากฐานที่ต่ำ จีดีพีอินโดนีเซียไตรมาส 2/2563 ติดลบถึง 5.3% ประกอบกับปัจจัยบวกของการบริโภคภาคครัวเรือน
ทั้งมาเลเซียและอินโดนีเซียเห็นพ้องว่าอนาคตในไตรมาสสามและสี่ของปีนี้อาจไม่ดีนักเพราะทั้งคู่เผชิญหน้ากับจุดพีคของโควิด-19 อีกครั้ง
สำหรับประเทศไทย ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช.แถลงว่า ภาพรวมเศรษฐกิจในครึ่งแรกที่ผ่านมาโตขึ้นราว 2% โดยมาจากภาคการส่งออกที่ขยายตัวดีขึ้น อันได้อิทธิพลจากเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับปัจจัยเรื่องฐานต่ำผิดปกติ ทว่าภาคการท่องเที่ยวของไทยยังคงไม่ฟื้นตัว
เท่านั้นยังไม่พอ สิ่งที่น่ากังวลคือ เมื่อลงไปดูในรายละเอียดที่เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) จะพบว่าบางภาคส่วนกลับมาหดตัวอีกครั้ง อาทิ การใช้จ่ายภาคเอกชนที่ติดลบเพิ่มขึ้น จากลบ 0.6% ในไตรมาสแรก ลงไปเป็นติดลบ 2.5% ในไตรมาสที่สองนี้
เช่นเดียวกับฝั่งการผลิตในหมวดบริการที่โดยรวมติดลบ 0.8% ในไตรมาส 2/2564 โดยแบ่งเป็นการติดลบในการขายส่ง/ขายปลีก และการขนส่ง/สถานที่เก็บสินค้า ด้วยติดเลข ติดลบ 3.4% และ 5% ตามลำดับ ทว่ายังมีส่วนที่พักแรมและบริการด้านอาหารที่เป็นบวก 19%
เมื่อประเมินสถานการณ์โดยรวม โดยอ้างอิงจากสมมติฐานว่าไทยจะผ่านจุดพีคของโควิด-19 ในเดือน ส.ค.นี้ และมีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันลดลดตลอดเดือน ก.ย.อย่างช้าๆ ไปจนถึงการกระจายวัคซีนครบ 85 ล้านโดสภายในสิ้นปี สภาพัฒน์ชี้ว่าจีดีพีปี 2564 ของไทยน่าจะโตในช่วง 0.7% - 1.2% ซึ่งเป็นกรอบตัวเลขที่ถูกปรับลดลงจากประมาณการครั้งที่แล้วเมื่อ 17 พ.ค.2564 ที่สภาพัฒน์มองไว้ที่กรอบ 1.5% - 2.5%
เป็นอีกครั้งที่ข้อมูลประมาณการจากสภาพัฒน์สะท้อนว่า แม้เศรษฐกิจไทยปีนี้จะไม่ติดลบ แต่ฝั่งที่มาจาก 'ประชาชน' ไม่ดีขึ้นนัก เมื่อลงไปดูรายละเอียดจะพบว่า บนฐานประมาณการข้างต้น ปัจจัยสำคัญของการเติบโตยังอยู่ในฝั่งการส่งออกที่สภาพัฒน์มองว่าจะโตถึง 16.3% รองลงมาคือการลงทุนภาครัฐที่ 8.7%
การลงทุนภาคเอกชนและการอุปโภคภาครัฐบาลใกล้เคียงกันในระดับ 4.7% และ 4.3% ตามลำดับ ทว่า การบริโภคภาคเอกชนซึ่งในที่นี้สะท้อนกำลังซื้อของประชาชนนั้น อยู่ที่เพียง 1.1% เท่านั้น ตัวเลขนี้ในปี 2562 ก่อนเกิดโควิด-19 สูงถึง 4% และลงไปติดลบ 1% ในปีที่ผ่านมา
ปิดท้ายที่ดุลบัญชีเดินสะพัดที่คาดว่าจะติดลบ 2% ในปีนี้ เมื่ออ้างอิงข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า นับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา ดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศเคยติดลบแค่ 2 ครั้งเท่านั้น คือในปี 2555 และปี 2556