เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล แสดงจุดยืนว่า ประเทศไทยในฐานะที่ได้รับผลกระทบมาก (เราเป็นผู้ปล่อยกาศสูงลำดับที่ 22 ด้วยเช่นกัน) ควรแสดงความพร้อมเป็นผู้นำเรื่องนี้ในระดับอาเซียน ในการประชุม COP28 โดยเฉพาะการผลักดัน โมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว) ในระดับอาเซียน ให้เป็นรูปธรรม และมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนมากกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero อย่างที่หวัง
พิธา กล่าวถึง การประชุมสิ่งแวดล้อมระดับโลก United Nations Climate Change Conference หรือ COP28 ที่มีกำหนดการประชุมในวันที่ 30 พ.ย. - 12 ธ.ค. นี้ ที่นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เวทีให้ผู้นำและตัวแทนรัฐบาลหารือ เพื่อหาทางลดผลกระทบในทุกๆด้านว่า
“โลกร้อน-โลกเดือด เป็นปรากฏการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ-ชีวิตผู้คนทั้งโลก ประเทศไทยได้รับผลกระทบมากเป็นลำดับที่ 9 ของโลกในแง่ของน้ำท่วม สร้างความเสียหายกว่า 9 หมื่นล้านบาท ต่อปี ทั้งยังอยู่ลำดับที่ 5 จาการสูญเสีย GDP จากภาวะโลกร้อน-โลกเดือด
ตัวเลขความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เป็นผลจากวิกฤตโลกร้อน-โลกเดือด จากข้อมูล ดัชนีความเสี่ยงของ INFORM Risk Index ปี 2022 พบว่าอุทกภัยหรือน้ำท่วมถือเป็นภัยพิบัติที่สร้างความเสี่ยงสูงสุดของไทย (อันดับ 9 ของโลก) คิดเป็นมูลค่าความเสียหายถึงปีละ 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 9 หมื่นล้านบาท ซึ่งผู้ที่รับผลกระทบมากที่สุดคือประชาชน คนตัวเล็กตัวน้อยที่มีทรัพยากรเพื่อรับมือความเปลี่ยนแปลงได้น้อยกว่า แม้ไม่ได้เป็นผู้ก่อมลพิษ ดังนั้นวิกฤตสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องเดียวกันกับปัญหาปากท้องและความมั่นคงในชีวิต
ในส่วนของความเสียหายในภาคเกษตรตั้งแต่ปี 2011-2045 จะสูงถึง 0.61-2.85 ล้านล้านบาท หรือเฉลี่ย 17,912-83,826 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ อากาศที่ร้อนขึ้นยังทำให้เกิดอาการเครียดจากความร้อน (Heat Stress) โดยเฉพาะกับพี่น้องแรงงานที่ต้องทำงานกลางแจ้ง หากสะสมยาวนานก็อาจถึงขั้นเสียชีวิต ดังนั้น ยิ่งโลกร้อนขึ้น มูลค่าความสูญเสียก็ยิ่งเพิ่มขึ้น พืชเศรษฐกิจหลักของประเทศอย่างข้าว อ้อย มันสำปะหลัง และยางพาราจะได้รับผลกระทบโดยตรง และส่งผลถึงผู้ผลิตในอุตสาหกรรมกลางน้ำและปลายน้ำที่ใช้สินค้าเกษตรเหล่านี้เป็นวัตถุดิบในที่สุด”
ประธานที่ปรึกษา เห็นว่า ประเทศไทยในฐานะที่ได้รับผลกระทบอันดับต้นๆ และเป็นผู้ปล่อยกาศสูงลำดับที่ 22 ด้วยนั้น ควรแสดงความพร้อมเป็นผู้นำเรื่องนี้ในระดับอาเซียน ในการประชุม COP28 โดนเฉพาะการผลักดัน โมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว) ในระดับอาเซียน ให้เป็นรูปธรรม และมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนมากกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero อย่างที่ตั้งเป้าไว้
พิธา ชี้ว่า รัฐบาลจะต้องจริงจังในการผลักดันพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ หรือ พ.ร.บ. โลกร้อน ที่เปรียบเสมือนการติดกระดุมเม็ดแรก อย่างแท้จริงในเรื่องนี้ โดยเฉพาะร่าง พ.ร.บ. จากพรรคก้าวไกล ที่ใช้เวลาร่างและรับฟังความเห็นมาเป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว หากสำเร็จกฎหมายฉบับนี้สำเร็จ และสามามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยให้การขับเคลื่อนนโยบาย Net Zero ของไทยเป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งพรรคก้าวไกลมีข้อเสนอ 5 ข้อ ได้แก่
1. การบรรลุ Net Zero ได้เร็วขึ้นกว่ารัฐบาลเดิมกำหนด 15 ปี ผ่านการเปลี่ยนโครงสร้างตลาดพลังงานของไทย จากระบบสัญญารับซื้อไฟฟ้าผูกขาด มาสนับสนุนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอย่างเป็นธรรม ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถลด ละ เลิก การใช้โรงไฟฟ้าถ่านหินได้อย่างถาวร ภายในปี 2578 และมีสัดส่วนพลังงานสะอาด (renewables) ประมาณ 50% ใน การผสมผสานของพลังงานหลายประเภท (energy mix) ซึ่งปัจจุบันประมาณ 13%
2. การจัดตั้งกองทุนปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ Adaptation Fund โดยเร็ว เพื่อช่วย ปรับปรุงการพยากรณ์สภาพอากาศและการเตือนภัยพิบัติต่างๆ ให้แม่นยำและทันการณ์ ส่งเสริมการจัดทำแผนปรับตัวรับมือในทุกระดับ รวมถึงกานลงทุนในงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ และอีกส่วนใช้เพื่อการชดเชยเยียวยาที่เป็นธรรม ป้องกันมิให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน จากภาวะโลกร้อน-โลกเดือด
3. การออกกฎหมายสำคัญๆ ทั้งจากเอกชน ประชาสังคม และ พรรคการเมือง ให้สำเร็จ อาทิ พ.ร.บ. อากาศสะอาด พ.ร.บ. PRTR พ.ร.บ. climate change หรือ นโยบายอย่าง net metering ที่จะเปลี่ยนหลังคาเป็นพลังงาน (และราบได้) ให้คนไทยทุกคน ที่เราทุกคนสามารถช่วยกันต่อสู้กับ ภาวะโลกร้อน ได้ไปด้วยกัน
4. เราควรรีบสร้างงานสีเขียวใหม่ๆ ที่ยิงปืนนัดเดียวได้ทั้ง สิ่งแวดล้อม และ เศรษฐกิจ ตามกระบวนการต่อสู้กับปัญหาสิ่งแวดล้อม มีบุคลากรที่โลกกำลังต้องการมากมาย อาทิ เช่น Renewable energy technician, conservation scientist, disaster reduction analyst, carbon auditor, energy auditor, green financing specialist, waste reduction specialist, environmental lawyer และ climate policy analyst
5. การเกษตรคาร์บอนต่ำ (Low carbon agriculture) อาจจะเป็น 1 ในแผนปฏิบัติการเร่งรัด (quick win) ที่ลดคาร์บอนและเพิ่มผลิตภาพของการเกษตร การเกษตรที่มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและคาร์บอนฟุตพริ้นท์โดยรวมจากการผลิตทางการเกษตร แนวทางนี้รวมถึงการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนและการใช้เทคโนโลยีรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อลดผลกระทบต่อสภาพอากาศ นอกจากนี้ การเกษตรแบบ low carbon ยังช่วยให้เกษตรกรสามารถปรับตัวและทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศได้ดียิ่งขึ้น
พิธา ได้ย้ำว่า หากประเทศไทยปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว จะสามารถพลิกวิกฤติ เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ เช่น การส่งออกสินค้าไปยุโรป ที่ต้องมีการติดตามตรวจสอบที่มาของสินค้าที่เป็นมิตรต่อโลกและมีส่วนในการลดโลกร้อน-โลกเดือด ตามนโยบาย European Green Deal ที่บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2021 และขอแรงสนับสนุนจากทุกภาคส่วนในการปรับกฎหมาย นโยบาย และ งบประมาณ และการปรับพฤติกรรมไปพร้อมกัน