วันที่ 15 พ.ย. 2563 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมคณะร่วมกันพบปะพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในการนี้ได้มีประชาชนกลุ่มปกป้องสถาบันกษัตริย์ มาชูป้ายและมารอพูดคุยกับคณะ ส.ส.พรรคก้าวไกล ที่หน้าวัดใหญ่ชัยมงคล
พิธา กล่าวว่าวันนี้มาพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีเหตุผลด้วยกัน 2 ประการ
1.ขณะนี้พี่น้องเกษตรกรได้รับผลกระทบในด้านต่างๆ ทั้งจากราคาพืชผลทางเกษตรที่ตกต่ำเป็นอย่างมาก รวมทั้งพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดอยุธยาเจอกับปัญหาขยะ ที่เป็นปัญหาสะสมมานาน
2.ได้รับรายงานปัญหา โครงการคนละครึ่งของรัฐบาล ที่มีปัญหาในด้านต่างๆ จึงตั้งใจเดินทางมารับฟังปัญหาเพื่อหาแนวทางแก้ไขและใช้กลไกรัฐสภาผลักดันการแก้ไขปัญหาช่วยเหลือพี่น้องประชาชน นอกจากนี้อดีตพรรคอนาคตใหม่ ได้เคยได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชน ชาวจังหวัดอยุธยาถึง 6 หมื่นเสียง พวกเราในฐานะผู้แทนของทุกคนในวันนี้ จึงตั้งใจมารับฟังปัญหาเพื่อนำไปแก้ไข และตั้งใจที่จะไม่ทิ้งพี่น้องประชาชน
“ได้รับทราบว่ามีประชาชน กลุ่มคนรักสถาบันฯ มารวมตัวกันที่หน้าวัดใหญ่ชัยมงคล มารอกลางแดดเป็นเวลานาน ผมก็เคารพพวกเขาทุกคน และผมในฐานะที่เป็นผู้แทนของประชาชนทุกคน จึงต้องไปพูดคุยกับพี่น้องประชาชนเพราะการพูดคุยเป็นหนทางในการรับฟังความเห็น ความต้องการของประชาชนที่มีความคิดเห็นต่างๆ อย่างสันติวิธี พอได้พูดคุยก็ได้รับทราบว่าพวกเขามีความกังวลใจเรื่องข้อเสนอให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา ผมได้อธิบายด้วยเหตุด้วยผล นำข้อเท็จจริงมาพูดคุยกัน รวมทั้งบอกว่าการปฏิรูปไม่ได้เท่ากับการล้มล้างสถาบันฯ ที่ผ่านมาจากการที่ไม่ได้มีพื้นที่พูดคุยกัน ทำให้มีประชาชนเข้าใจผิดและมีการอนุมานไปในอีกทางหนึ่งคิดว่าการปฏิรูปคือการล้มล้าง แต่ที่จริงแล้วการปฏิรูปไม่ใช่การล้มล้าง” พิธา กล่าว
พิธา ยังกล่าวด้วยว่า จากการได้พูดคุยกับพี่น้องประชาชนกลุ่มนี้ นอกจากจะมีความเห็นต่างกันแล้ว ก็ยังเห็นร่วมกันในประเด็นที่ว่า รัฐสภาต้องเป็นต้นแบบในการเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยกันอย่างมีวุฒิภาวะ และมีความปราณีต เพื่อให้ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับประชาชนดีขึ้นในยุคสมัยที่ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนแปลงไป เมื่อการเมืองนิ่ง ประเด็นเหล่านี้ถูกพูดคุยอย่างมีวุฒิภาวะ และพูดคุยกันในพื้นที่ปลอดภัย ประเทศไทยของเราจะได้ใช้สมาธิในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชน รวมทั้งในการนี้พี่น้องประชาชนปกป้องสถาบันฯ ได้ฝากการบ้านให้ผลักดันเรื่องการปฏิรูปพลังงาน ซึ่งตนเองก็รับฟังและพร้อมนำปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนไปแก้ไขผ่านกลไกรัฐสภาและกรรมาธิการพลังงานที่มี ส.ส.พรรคก้าวไกลอยู่ด้วยเพื่อช่วยลดต้นทุนค่าครองชีพให้กับพี่น้องประชาชน
พิธา ยังกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า วันที่ 17-18 พ.ย. 2563 ที่จะมีการพิจารณาและลงมติ ร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญในรัฐสภา จะเป็นช่วงเวลาที่สำคัญของประเทศ แต่ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรี รัฐบาลและองคาพยพทั้งหมดเปลี่ยนจุดยืนไปมา สร้างความสับสันให้กับสังคม ยิ่งไปกว่านั้น การผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับและเริ่มกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งหนทางนี้จะเป็นทางออกของประเทศมากกว่า การตั้งคณะกรรมการคณะไหนทั้งสิ้น แม้แต่การตั้งคณะกรรมการปรองดองก็ตาม
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า พร้อมด้วย ธัชชัย เมตโต ผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สมุทรปราการ เบอร์ 5 พร้อมด้วยทีมผู้สมัครสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) ร่วมดูพื้นที่จริงเพื่อออกแบบนโยบายสำหรับพื้นที่ อ.บางพลี รวมทั้งพบปะประชาชนในชุมชนบางปลา และซอยสุวรรณภูมิ (ราษฎร์บูรณะ 8)
ธนาธร กล่าวว่า พื้นที่นโยบายที่เราเข้ามาดูและศึกษาในวันนี้ คือบริเวณถนนเลียบคลองส่งน้ำสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นคลองระบายน้ำลงอ่าวไทย เป็นคลองเส้นตรงระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร ซึ่งมีภูมิทัศน์ที่งดงามมาก แต่ปัญหาก็คือ พื้นที่ตามแนวถนนเลียบคลองชลประทานเป็นถนนสร้างใหม่ ยังไม่มีการติดไฟส่องสว่าง แถมหลังจากใช้งานได้ไม่นานเท่าไหร่ ถนนก็เริ่มผุพังเป็นหลุมเป็นบ่อแล้วตลอดแนวเส้นทาง หนำซ้ำตลิ่งสองข้างทางยังเป็นพงหญ้ารกชัฏขึ้นสูง ไม่ได้รับการดูแล จนในที่สุด ถนนเลียบคลองส่งน้ำสุวรรณภูมิ ได้กลายเป็นแหล่งก่ออาชญากรรมและพื้นที่เกิดอุบัติเหตุทางถนนบ่อยครั้ง เป็นปัญหาเรื้อรังสำหรับคนพื้นที่บนถนนเลียบคลองส่งน้ำสุวรรณภูมิมาอย่างยาวนานนี่คือปัญหาและความรับผิดชอบโดยตรงของสองหน่วยงาน นั่นคือ อบจ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นเข้าของถนนเลียบคลองทั้งสองฝั่ง ส่วนตลิ่งเลียบคลองนั้นเป็นของกรมชลประทาน และนี่คือหนึ่งในปัญหาที่คณะก้าวหน้าสมุทรปราการ มีวิสัยทัศน์และแนวคิดที่จะเข้ามาแก้ปัญหา หากได้รับความไว้วางใจจากประชาชนในการเลือกตั้งวันที่ 20 ธันวาคมนี้
ธัชชัย กล่าวว่า ทีมคณะก้าวหน้าสมุทรปราการมีแนวคิดชัดเจนที่จะสร้างและบูรณะพื้นที่ตลอดแนวคลอง ให้เป็นพื้นที่ใช้สอยของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชนสิ่งที่ต้องมาอันดับแรก คือการปรับปรุงพื้นผิวถนนให้เรียบหมดจรด กลับมาใช้งานได้สะดวกอีกครั้ง และติดตั้งไฟส่องสว่างตลอดทั้งแนวถนน จากนั้น จึงเป็นการพัฒนาพื้นที่ใช้สอยเพื่อชุมชน โดยการประสานงานขอใช้พื้นที่ตลิ่งจากกรมชลประทาน เข้าไปทำปรับปรุงตลิ่งทั้งสองฝั่งคลอง เคลียร์พงหญ้าออก ทำให้เป็นเลนจักรยาน มีแบริเออร์กั้นถนนกับเลนจักรยาน ทำลานจอดรถ ลานอเนกประสงค์ให้พี่น้องในชุมชนได้มาค้าขาย ทำกิจกรรมต่างๆ คืนชีวิตให้สองฝั่งน้ำ ให้ประชาชนได้มีงานทำ ทำให้เป็นพื้นที่สร้างรายได้ให้กับชุมชน ซึ่งทั้งหมดนี้ สามารถเนรมิตรให้เกิดขึ้นได้ด้วยงบประมาณไม่เกิน 250 ล้านบาท ทั้งการติดตั้งเสาไฟโซลาร์เซลส่องสว่าง ปรับพื้นผิวถนน ทำตลิ่ง ทำเลนจักรยาน ปลูกต้นไม้ ทำพิ้นที่จอดรถ เป็นงบประมาณที่ไม่มากนัก เมื่อเทียบกับงบประมาณที่ อบจ.สมุทรปราการได้รับถึงปีละกว่า 2,400 ล้านบาทต่อปี รวมสี่ปีในหนึ่งวาระ 9,600 ล้านบาท
"พื้นที่ตลอดแนวทั้งสองฝั่งของคลองสุวรรณภูมิ ครึ่งบนเป็นชุมชน เป็นโรงงานอุตสาหกรรม ครึ่งล่างเป็นพื้นที่การเกษตร ที่ผ่านมาถนนทั้งสองฟากฝั่งคลองมีรถยนต์ โดยเฉพาะรถบรรทุกเป็นผู้ครอบครอง แต่หากเราสามารถทำให้นโยบายนี้เกิดขึ้นได้จริง เราจะสามารถเปลี่ยนให้พื้นที่ทั้งสองฝั่งของคลองส่งน้ำสุวรรณภูมิ กลายเป็นพื้นที่มีชีวิตของชุมชน มีเลนจักรยานให้คนในชุมชนได้ออกกำลังกาย ได้มีสุขภาพที่ดี ลดภาระด้านสาธารณสุข แก้ปัญหาด้านยาเสพติดและอาชญากรรมได้อย่างยั่งยืน สร้างพื้นที่ค้าขายให้เป็นของชุมชน กีดกันไม่ให้ทุนใหญ่เข้าครอบครอง ทำให้เป็นพื้นที่ตลาดสินค้าจากทั้งเกษตรกร และจากชุมชนในพื้นที่อุตสาหกรรม" ธัชชัย กล่าว