ไม่พบผลการค้นหา
ระบบซื้อ-ขาย-ผลิตไฟฟ้าไทยมีหลายปัญหา สำรองล้นเกิน-อนุมัติโครงการไม่จำเป็น-ระบบไม่โปร่งใส ผู้ศึกษาประเด็นเกี่ยวข้องชี้ รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข

ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ หนึ่งในแกนนำกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน (ERS) เผย รูปแบบการบริหารจัดการกิจการไฟฟ้าของประเทศมีช่องโหว่หลากหลาย ทั้งการอนุมัติสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มทั้งที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการไฟฟ้าที่ลดต่ำลง การคาดการณ์ปริมาณใช้ไฟฟ้ามากเกินจริง ผนวกกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้เกิดปัญหากำลังผลิตสำรองสูงถึงระดับ 50% เป็นภาระต่อผู้บริโภคในที่สุด

ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ - พลังงาน - เชื้อเพลิง
  • ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ หนึ่งในแกนนำกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน (ERS)

แกนนำ ERS เผยว่า รัฐบาลต้องกลับมาแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน พร้อมเสนอ 4 ข้อแนะนำ ที่สามารถปฏิบัติได้เลย คือ

  • ทบทวนหลักเกณฑ์ทางการเงินในการกำหนดค่าไฟฐาน เพื่อลดค่าไฟฐานและสร้างแรงจูงใจให้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพมากกว่าระบบปัจจุบันที่รับประกันผลตอบแทน
  • เร่งเจรจาชะลอการลงทุนและเลื่อนกำหนดการเข้าสู่ระบบ (COD) ของหน่วยผลิตไฟฟ้าใหม่ โดยเฉพาะของเอกชนที่ได้รับอนุมัติโดยมิได้ผ่านการประมูล 
  • ปรับระบบการสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าในส่วนที่เรียกกันว่า Merit Order โดยจัดให้โรงไฟฟ้าต่างๆ ทั้งเอกชนและของรัฐแข่งกันเสนอราคาขายที่ต่ำที่สุด ซึ่งอาจจะต่ำกว่าค่าพลังงานที่เคยระบุไว้ในสัญญา 
  • รัฐควรใช้เงื่อนไขตามสัญญาเพื่อลดหรือเจรจาลดการซื้อในส่วนที่เป็นสัญญาผูกมัด (Must take) และลดการจ่าย “ค่าความพร้อมจ่าย” ที่สามารถลดได้ และ ไม่ต่อใบอนุญาตที่ไม่จำเป็น  

พร้อมกันนี้ รัฐบาลยังต้องปรับการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศหรือ PDP ให้ทันสมัย โปร่งใส และมีความยืดหยุ่น สะท้อนความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าจากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ให้เกิดการอนุมัติกำลังผลิตที่เกินความจำเป็นและเป็นปัญหาที่ยาวนาน และเพื่อวางแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จริงจังมากขึ้น 

ทั้งยังควรให้มีการเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้ได้ PDP ที่โปร่งใสและสมบูรณ์ อาทิ ต้นทุนของโรงไฟฟ้าทั้งเอกชนและ กฟผ. ข้อจำกัดในการสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้า ข้อจำกัดของระบบสายส่งสาย รวมทั้งการวิเคราะห์ทางเลือกต่าง ๆ ในการจัดหาไฟฟ้า เพื่อให้เกิดการลงทุนโดยรวมที่มีประสิทธิภาพ (Optimization) ระหว่างสายส่งสายจำหน่าย กับการสร้างโรงไฟฟ้าในการจัดทำแผน PDP และแผนการลงทุนในระบบสายส่งสายจำหน่าย  

ในระยะยาว ควรเปิดให้มีตลาดซื้อขายไฟฟ้าเสรี สถานการณ์กำลังผลิตสำรองล้นเกินจะทำให้ค่าไฟลดลงแทนที่จะสูงขึ้น จึงควรเปิดบริการสายส่งสายจำหน่ายไฟฟ้าแก่บุคคลที่สาม (TPA) เพราะการแข่งขันตลอดสายจะทำให้ระบบมีทั้งความมั่นคงและได้ค่าไฟฟ้าที่ต่ำลงสำหรับผู้บริโภค

ด้วยเหตุนี้ กลุ่ม ERS จึงเสนอให้เตรียมการออกแบบตลาดไฟฟ้าที่มีทั้งการประมูลค่าพลังงานไฟฟ้า และการประมูลค่ากำลังการผลิตไฟฟ้าเพื่อป้องกันปัญหาค่าไฟพุ่งขึ้นสูงมากในช่วงขาดแคลน โดยมีเงื่อนไขการแบ่งภาระความเสี่ยงอย่างเหมาะสมและเป็นธรรมระหว่างผู้ผลิตไฟฟ้ากับผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นช่วงกำลังผลิตสำรองเกิน หรือขาด หรือสมดุล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;