วันที่ 14 ธ.ค. ทีมคณะแพทย์ รพ.พระมงกุฏเกล้า แถลงชี้แจงอาการป่วยของนักร้องดัง ตูน บอดี้สแลม หรือ อาทิวราห์ คงมาลัย วัย 41 ปี หลังเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลด่วน เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ด้วยอาการปวดคอด้านหลัง จากหมอนรองกระดูกคอกดทับเส้นประสาท จนทำให้แขนซ้ายชา อ่อนแรง นิ้วมือซ้ายบังคับไม่ได้บางนิ้ว ซึ่งเจ้าตัวเริ่มมีอาการปวดรุนแรงตั้งแต่วันที่ 10 ธ.ค. และได้ฉีดยาระงับปวด แต่อาการไม่ดีขึ้น
ทีมแพทย์ เผยว่า อาการป่วยของนักร้องดังเป็นอาการป่วยต่อเนื่องจากสมัยวิ่งก้าวคนละก้าว เบตง-เชียงราย ในช่วงใกล้จบโครงการมีอาการหมอนรองกระดูกคอเสื่อมเล็กน้อยไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ และทีมแพทย์ได้ดูแลจนหาย ล่าสุดตรวจ MRI พบหมอนรองกระดูกคอ ข้อที่ 7 ทับเส้นประสาท และพบหมอนรองกระดูกเสื่อมเพิ่ม 20 เปอร์เซ็นต์
หลังจากทีมแพทย์ได้ทำการตรวจเอ็กซ์เรย์ สแกน MRI พบว่า อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง และชาบริเวณมือข้างซ้าย มีอาการอ่อนแรงลงประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ มาจากหมอนรองกระดูกต้นคอ ข้อที่ C6 C7 และ C7 T1 เบียดโดนเส้นประสาทโดยเฉพาะบริเวณด้านซ้าย 2 ข้อ เบื้องต้นทำการรักษาโดยให้ยาระงับการปวด ระงับการอักเสบ และทำกายภาพบำบัดเป็นหลัก เป็นระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ ซึ่งต้องงดกิจกรรม และพักการขยับต้นคอ โดยยังไม่เลือกวิธีการผ่าตัด พร้อมกับรักษาด้วยการดึงคอ เพื่อสร้างพื้นที่ว่างไม่ให้กระดูกคอไปกดทับเส้นประสาท หาก 2 สัปดาห์ยังไม่ดีขึ้น อาจต้องเข้ารับการผ่าตัด
ทั้งนี้ ทีมแพทย์ เผยสาเหตุอาการเกิดจากกิจกรรมชีวิตประจำวัน ที่มีการใช้งานกระดูกต้นคอ มีอาการกระแทก ซึ่ง ตูน บอดี้สแลม ป่วยมานานกว่า 4- 5 ปีแล้ว และครั้งนี้มีอาการปวด จนแขนด้านซ้ายอ่อนแรง
หลังจากการรักษา ตูน บอดี้สแลม สามารถหายกลับมาเป็นปกติ แต่มีข้อห้าม คือ การโยกคอเยอะๆ หรือการบิดคอ รวมทั้งการก้มมากๆ เงยมากๆ บ่อยๆ
ขณะที่ ตูน บอดี้สแลม เผยกับทีมแพทย์ว่า สภาพจิตใจและกำลังใจดีมาก แต่เป็นห่วงแฟนเพลงที่สัญญาจะเล่นคอนเสิร์ตก่อนปีใหม่ พร้อมกังวลกลัวจะไม่สามารถกลับมาเป็นเหมือนเดิม และเสียงร้องเปลี่ยนไป ซึ่งแพทย์ได้ยืนยันว่าโรคดังกล่าวไม่กระทบน้ำเสียง แต่ต้องเปลี่ยนท่าทางในการร้องเพลง
โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนที่เริ่มมีอายุตั้ง 40 ปีขึ้นไป หรือในบางรายอาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ 35 ปี เนื่องจากการทำงานที่ต้องยกของหนักมากบ่อยๆ โดยการเกิดโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทส่วนใหญ่แล้วจะเป็นอยู่ 2 จุดหลักๆ คือ บริเวณคอ และบริเวณหลัง ซึ่งอาการและสาเหตุของทั้ง 2 จุดนั้นก็จะแตกต่างกันไป
โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทบริเวณคอ เกิดจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น หมอนรองกระดูกเสื่อมมาทับบริเวณเส้นประสาท หรือเมื่ออายุมากขึ้นมีการงอกของกระดูกคอ และอาจมากดทับบริเวณรากประสาทได้ ทำให้มีอาการปวดคอ คอแข็ง และปวดร้าวลงมาที่มือ หรือปวดบ่า ปวดไหล่ และปวดร้าวลงมาที่แขน ในบางรายอาจมีความผิดปกติอื่นร่วมด้วย เช่น หมอนรองกระดูกยื่นออกมากดทับประสาทไขสันหลังจนทำให้รู้สึกว่ากล้ามเนื้อแขนอ่อนแรง ชาตามแขนขาได้
การรักษาในเบื้องต้น จะรักษาตามอาการปวด หากเป็นอาการปวดที่เกิดจากการกดทับของเส้นประสาทและเกิดจากการอักเสบ จะใช้วิธีการรักษาโดยให้ยาแก้ปวด NSAID เท่านั้น หากยังไม่ดีขึ้นและมีอาการปวดเพิ่มขึ้น อาจใช้การรักษาวิธีอื่นร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็น การทำกายภาพบำบัด เช่น การประคบร้อนหรือเย็น, การใช้อัลตร้าซาวด์จะช่วยในการลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ, การดึงคอเพื่อช่วยลดการกดทับของเส้นประสาท, ใส่ปลอกคอเพื่อให้มีการพักของกระดูกต้นคอ, การจัดกระดูก Chiropractic manipulation ซึ่งต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ถึงจะสามารถช่วยลดอาการปวด และหากมีอาการปวดมากอาจใช้ยาสเตียรอยด์เพื่อช่วยระงับอาการปวด และการฉีดยาเข้าบริเวณที่ปวด เป็นต้น
ส่วนการผ่าตัดนั้นจะทำเมื่อการรักษาในแบบไม่ผ่าตัดทำแล้วไม่ได้ผล โดยการผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทบริเวณคอในปัจจุบัน สามารถรักษาได้ 2 วิธีด้วยกัน
วิธีแรกเรียกว่า Anterior cervical discectomy and fusion เป็นการผ่าตัดเพื่อนำเอาหมอนรองกระดูกออก ปัจจุบันได้มีการรักษาโดยการใช้กล้องผ่าตัด (Microscope) เพื่อผ่าตัดเอาหมอนรองกระดูกออกทั้งหมด แล้วใส่กระดูกเทียม, ใส่หมอนรองกระดูกเทียม หรือใส่กระดูกของผู้ป่วยในบริเวณอื่นแทน
วิธีที่สองเรียกว่า Posterior cervical discectomy เป็นการผ่าตัดนำหมอนกระดูกออกโดยผ่าทางด้านหลัง แต่วิธีการผ่าตัดจะยากกว่าการผ่าตัดทางด้านหน้า เป็นการผ่าตัดเอาหมอนรองกระดูกออกเพียงบางส่วน เช่น การตัดหมอนรองกระดูกทางด้านหลัง หรือ การผ่าตัดขยายโพรงเส้นประสาททางด้านหน้านั่นเอง ซึ่งการผ่าตัดทั้ง 2 วิธี คนไข้ต้องใช้เวลาในการนอนพักฟื้นอยู่โรงพยาบาล 3-4 วัน จึงสามารถกลับบ้านได้ และควรปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
ผู้ป่วยโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทคอ จะต้องดูแลตัวเองด้วยวิธีปรับการใช้ชีวิตประจำวันใหม่ อาทิ หากต้องนั่งนานๆ ควรปรับท่านั่งให้หลังตรงหรือเดินตัวตรง อย่านั่งนานเกินไป ควรลุกขึ้นยืน หรือปรับเปลี่ยนอากัปกิริยา ทุกๆ ชั่วโมงเพื่อลดอาการปวดคอ คอแข็ง หลีกเลี่ยงการบิดหมุนคอหรือสะบัดคอบ่อยๆ , การนอนควรใช้หมอนหนุนศีรษะโดยมีส่วนรองรับใต้คอให้กระดูกคออยู่ในลักษณะปกติ , บริหารกล้ามเนื้อคอให้แข็งแรงสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงการทำงานโดยแหงนคอเป็นเวลานานๆ บ่อยๆ เป็นต้น