POLITICS
ECONOMICS
WORLD
ENTERTAINMENT
WELL-BEING
LOCAL
NEWS
BLOG
VOICE PLAZA
TV PROGRAMS
LIVE
POLITICS
ECONOMICS
WORLD
ENTERTAINMENT
WELL-BEING
LOCAL
NEWS
BLOG
VOICE PLAZA
TV PROGRAMS
ABOUT
FAQ
CONTACT
TERM OF USE
SCHEDULE
ไม่พบผลการค้นหา
คุณกำลังอ่าน :
รวมอภิปรายครั้งสุดท้าย 6 : ความไม่คืบหน้า ‘จ่าคลั่ง’ กราดยิงโคราช-เค้กเรือหลวงสุโขทัย
Share
Tweet
Share
การเมือง
รวมอภิปรายครั้งสุดท้าย 6 : ความไม่คืบหน้า ‘จ่าคลั่ง’ กราดยิงโคราช-เค้กเรือหลวงสุโขทัย
Feb 16, 2023
( Last update Feb 16, 2023 12:29 )
16 ก.พ.2566 ที่อาคารรัฐสภา มีการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามมาตรา 152 วันสุดท้าย มีการอภิปรายถึงบทเรียนความสูญเสียของกองทัพไทย
ปิดคดีกราดยิงโคราช ทำนาบนหลังกำลังพล : ปดิพัทธ์ สันติภาดา พรรคก้าวไกล
ผ่านมาแล้ว 3 ปี กับกรณีกราดยิงโคราช เหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิต 30 คน บาดเจ็บ 58 คน และบาดเจ็บสาหัส 5 คน แรงจูงใจของผู้ก่อเหตุ เกิดจากความโกรธแค้นของทหารชั้นผู้น้อย ที่ถูกโกงเงินในโครงการซื้อบ้านของกองทัพบก
โครงการบ้านทหาร เป็นของกรมสวัสดิการทหารบก โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้ประกอบขายบ้านรายใดต้องการเข้าร่วมโครงการนี้ ต้องได้รับการรับรองจากกรมสวัสดิการทหารบกก่อน โดยกรมฯ จะออกใบอนุญาตว่า ผู้ประกอบการรายใด สามารถขายบ้านได้ที่ไหน จังหวัดใดบ้าง
หากทหารคนใดต้องการกู้เงินซื้อบ้านในโครงการนี้ ต้องเริ่มจากขออนุมัติจากผู้บังคับบัญชาในสังกัด เพื่อตรวจสอบสถานะการเงินและหนี้สินให้เรียบร้อย จากนั้นจึงเอารายละเอียดโครงการไปยื่นต่อกรมสวัสดิการทหารบก เพื่อขออนุมัติการกู้เงิน จากนั้นจะมีคณะกรรมการตรวจสอบหลักทรัพย์มาพิจารณาว่า บ้านที่จะซื้อนั้นมีมูลค่าเทียบเท่ากับเงินที่จะกู้หรือไม่
โดยปกติแล้ว เมื่อมีการอนุมัติเงินกู้ กำลังพลที่กู้เงินต้องไปรับเช็คเงินสดที่กรมสวัสดิการทหารบก แล้วเอาเช็คไปขึ้นเงิน เพื่อนำเงินไปจ่ายให้ผู้ประกอบการขายบ้านด้วยตนเอง
ความผิดปกติของเรื่องนี้คือ มีมือมืดที่คอยหักหัวคิว ดังนี้ 1. เจ้ากรมสวัสดิการทหารบก (ยศพลตรี) 2. ผอ. กองการออมทรัพย์ (พลเอกพิเศษ) 3. เสธ.หัวหน้าเงินกู้ (ยศพันโท) โดยมีกระบวนการดังนี้
หักค่าหัวคิว
5% หมายถึงบ้านทุกหลังของโครงการนี้ ผู้ประกอบการต้องจ่าย 5% เช่น บ้านราคา 1.5 ล้าน จะต้องจ่ายขั้นต่ำ 75,000 บาท
เก็บเงินส่วนต่างค่าบ้าน
คือการประเมินราคาบ้านสูงกว่าความเป็นจริง เพื่อให้ผู้กู้ได้เงินส่วนต่างจำนวนมาก โดยเงินทอนส่วนนี้จะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับข้อตกลงของผู้ซื้อและผู้ขายบ้าน
เมื่อเรื่องถูกแฉจนเข้าสู่ที่ประชุมของ กมธ. พัฒนาการเมือง วันที่ 10 พ.ย. 65 เจ้ากรมสวัสดิการทหารบกยืนยันในที่ประชุมว่า “กำลังพลต้องไปรับเช็คด้วยตัวเองที่กรมสวัสดิการทหารบกทุกใบ”
เมื่อเจ้ากรมสวัสดิการทหารบกยืนยันเช่นนี้ แปลว่า ต้องมีหลักฐานบันทึกการเซ็นรับเช็ค กมธ.พัฒนาการเมืองฯ จึงขอเอกสารดังกล่าว ทว่าผ่านไปแล้ว 4 เดือน ก็ยังไม่ได้รับเอกสารใดๆ โดยอ้างว่า ‘เป็นเอกสารลับทางความมั่นคง’
ผู้ประกอบการขายบ้านในโครงการนี้ 2 ราย ได้ออกมาให้ข้อมูลว่า มี จ่า ส. (อักษรย่อ) เจ้าหน้าที่กรมสวัสดิการทหารบก ทำหน้าที่ปลอมลายเซ็นและรับเช็คแทนผู้กู้ทั้งหมด โดยทำงานนี้ตั้งแต่ปี 2554-2563 รวมแล้ว 620 รายการ มูลค่า 812 บาท
จากนั้น จ่า ส. จะเอาเงินเข้าบัญชีตนเองก่อน แล้วค่อยโอนเงินทั้งหมดให้ผู้ประกอบการขายบ้าน เพื่อไม่ให้กำลังพล (ผู้ซื้อบ้าน) ได้รับเงินกู้ด้วยตัวเอง จากนั้น ผู้ประกอบการขายบ้าน ต้องโอนเงิน 5% เป็นค่าหัวคิวไปให้มือมืดรายที่ 2 คือ จ่า ธ.
จากนั้น จ่า ธ. (อักษรย่อ) ก็จะโอนเงินให้กับ ‘เจ้านาย’ ขบวนการนี้ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2554-2563 มี เสธ. ผลัดขึ้นมาในตำแหน่งนี้ 3 คน แบ่งเป็ฯ ช่วงปี 2554-2559 คือ พันเอก ภ. ช่วงปี 2559-2562 คือ พันเอก ส. ช่วงปี 2562-2563 คือ พันเอก ช.
หลักฐานที่ชี้ว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริง คือเงินไหลเวียนในบัญชีของจ่า ส. เจ้าหน้าที่กรมสวัสดิการทหารบก ผู้ทำหน้าที่ปลอมลายเซ็นและรับเช็คแทนผู้กู้ไปจแจกจ่ายต่อ พบว่า ในวันที่ 15/08/59 - 23/09/59 หรือแค่ 38 วัน จ่าคนนี้มีเงินเดินบัญชีถึง 181 ล้านบาท ได้แก่ เงินฝาก 90.60 ล้านบาท และเงินถอน 90.46 ล้านบาท ชัดเจนว่า จ่า ส. คือเด็กเดินบัญชีให้กับผู้ใหญ่ในกองทัพ
นอกจากนี้ยังมีหลักฐานอีกชิ้น คือภาพการส่งสลิปในแชทไลน์ ระหว่าง จ่า ส. กับผู้ประกอบการขายบ้าน โดยรายละเอียดเขียนว่า ‘ยอดบ้าน 1.5 ล้านบาท / 5% คือ 75,000 / จ่าย เสธ. 50,000 บาท และเขียนว่า ดอกเบี้ยเสธ. อีก 100,000 บาท รวม 225,000’
สรุปคือ จ่า ส. รับเช็คแทนทหารกำลังพลที่กู้บ้าน แล้วเอาเงินเข้าบัญชีตัวเอง จากนั้นโอนเงินให้ผู้ประกอบการขายบ้าน สุดท้ายคือ ผู้ประกอบการขายบ้านโอนค่าหัวคิวให้ จ่า ธ. เมื่อจ่า ธ. ตรวจยอดเงินแล้ว ก็จะโอนไปให้ เสธ.หัวหน้าเงินกู้ นั่นก็คือ พ.ท.สฤษดิ์ อย่างไรก็ตาม แม้ตำแหน่ง เสธ.หัวหน้าเงินกู้ จะถูกเปลี่ยนคน แต่กระบวนการหักหัวคิวยังคงดำเนินต่อไป
ผู้ประกอบการขายบ้านทุกบริษัทในโครงการนี้ ต้องจ่ายดังรายละเอียดข้างต้น รวมแล้ว 28 บริษัท ทำเช่นนี้มายาวนานถึง 9 ปี ทุกจริตบ้านของนายทหารทั้งสิ้น 620 ราย
กลับมาสู่กราดยิงโคราช ผู้ก่อเหตุ หรือ จ่าคลั่ง ได้ยิงผู้ประกอบการขายบ้านตาย 1 คน ชื่อ ‘ป้าอนงค์’ ซึ่งมีฐานะเป็นแม่ยายของนายทหารซึ่งมีอำนาจอนุมัติให้เงินกู้ และยังสนิทกับทหารชั้นผู้ใหญ่หลายคนอีกด้วย
ป้าอนงค์ ถือว่าใหญ่โตมาก และได้ใช้เส้นสายเคลียร์ปัญหาให้ ‘คุณก้อย’ ผู้ประกอบการขายบ้านคนหนึ่ง จนสามารถดำเนินโครงการขายบ้านต่อไป ต่อมา ‘ป้าอนงค์’ ได้ถือวิสาสะ เอาบ้านในโครงการของ ‘คุณก้อย’ ไปเสนอขายให้กำลังพล และอมเงินส่วนต่างไว้กับตัวเอง
ที่สุดแล้ว กำลังพล 2 นายได้ร้องเรียนว่า ‘คุณก้อย’ อมเงิน ทำให้ความผิดของป้าอนงค์ถูกเปิดเผย จนต้องเปิดโต๊ะเคลียร์กันที่กรมสวัสดิการทหารบก โดยมีกำลังพลคนหนึ่งแอบอัดคลิปสนทนาไว้ ยืนยันได้ว่า มีการอมเงินส่วนต่างไว้จริงๆ
กำลังพลคนนั้นได้คุยกับ เสธ. หัวหน้าเงินกู้ (ช.) วันที่ 14 ม.ค.63 เพื่อเจรจาให้ป้าอนงค์จ่ายเงินคืน 450,000 บาท ช่วงเวลานี้ เกิดขึ้นก่อนเหตุการณ์การกราดยิงโควิด 25 วัน โดยกำลังพลที่ถูกโกง หนึ่งในนั้นคือ จ่าสิบเอก จักรพันธ์ ถมมา หรือ จ่าคลั่งผู้ก่อเหตุ แปลว่า หากวันนั้น มีการตรวจสอบและคืนความยุติธรรมให้จ่าสิบเอกจักรพันธ์ โดยเร็ว เหตุการณ์กราดยิงโคราช ก็อาจจะไม่เกิดขึ้น
ผู้ประกอบการขายบ้านได้ยื่นเรื่องถึงกระทรวงกลาโหม เรียกร้องให้มีการเอาผิดผู้ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์กราดยิงโคราช ผู้ที่ใช้ตำแหน่งหน้าที่เรียกรับผลประโยชน์ และขอให้ ผบ.ทบ. ตรวจสอบ แต่กลายเป็นว่า กลาโหมฯ ได้ส่งนายพันคนหนึ่งไปเจรจากับผู้ประกอบการ เพื่อไม่ให้กองทัพเสื่อมเสีย
ด้วยความหวาดกลัวอำนาจกองทัพ สุดท้าย ผู้ประกอบการต้องเซ็นยอมความ โดยผู้ที่อยู่เบื้องหลังการเจรจาครั้งนี้ ได้แก่ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก. / พลตรี เฟื่องวิทย์ เลาหสุรโยธิน เจ้ากรมสวัสดิการทหารบก. / พลตรี รชต วงษ์อารีย์ เจ้ากรมการสารวัตรทหารบก / พลเอก นพพร เรือนจันทร์ ในฐานะเลขาคณะกรรมการสอบสวน
คำถามคือ พลเอกประยุทธ์ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะลุกขึ้นมาตอบว่า นี่คือการทุริตของทหารไม่กี่คนหรือไม่? ทั้งที่มันคือวัฒนธรรมองค์กรของท่าน ที่สืบสานระบบทุจริตจากรุ่นสู่รุ่น
เค้กเรือหลวง ผู้ใหญ่อิ่ม ผู้น้อยสูญเสีย : พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ พรรคก้าวไกล
กรณีเรือหลวงสุโขทัยอัปปาง คร่าชีวิตทหารเรือไป 24 นาย สูญหายอีก 5 นาย มีความเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างปฏิเสธไม่ได้ และผู้ที่อยู่ในกระบวนการทุจริตเองก็คาดไม่ถึงว่าจะมาสู่ความสูญเสียมากขนาดนี้ สาเหตุที่เรืออัปปางถูกสังคมตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน้อย 3 ประเด็น 1.ความผิดพลาดของผู้ปฏิบัติงาน 2.สภาพอากาศ และ 3.สภาพความพร้อมรบของเรือ
ประเด็นแรก
คือ ความผิดพลาดของผู้ปฏิบัติงาน เมื่อดูภารกิจของเรือหลวงสุโขทัยในวันนั้น เริ่มต้นออกเดินทางจากฐานทัพเรือสัตหีบ ไปร่วมพิธีเทิดพระเกียรติกรมหลวงชุมพรที่จ.ชุมพร แต่ปรากฏว่า มีคลื่นลมแรงไม่สามารถทอดสมอได้ จึงต้องเข้าเทียบท่าใกล้ที่สุด และเป็นท่าเรือน้ำลึกของเอกชนแห่งเดียวตลอดแนวชายฝั่งประจวบฯ - นราธิวาส คือ ท่าเรือน้ำลึกบางสะพาน ซึ่งเรือหลวงสามารถจอดเทียบท่าได้พร้อมกันถึง 3 ลำ
ในวันนั้นเรือหลวงกระบุรี ซึ่งเดินทางไปถึงหาดทรายรีก่อน ก็ทอดสมอไม่ได้ จึงเดินทางเข้าเทียบท่าที่ท่าเรือบางสะพาน แต่เพราะอะไรเรือหลวงสุโขทัยจึงไม่เข้าเทียบท่าที่ท่าเรือบางสะพาน ใครเป็นคนสั่งให้เดินทางกลับสัตหีบ เป็นไปไม่ได้ที่ผู้การเรือจะตัดสินใจเดินทางฝ่าคลื่นลมกลับไปสัตหีบ ขณะที่เรือหลวงกระบุรีซึ่งใหญ่กว่า 2 เท่าก็ยังเลือกที่จะจอดเทียบท่า ฉะนั้นเรื่องนี้ รมว.กลาโหมต้องมีคำตอบว่า
ใครเป็นผู้สั่งการ
ประเด็นที่สอง
หลังจากเกิดเหตุกองทัพเรือได้ออกมามาชี้แจงว่า เหตุเป็นเพราะวันนั้นเกิดคลื่นลมแรงโดยมีคลื่นสูงถึง 6 เมตร แต่การพยากรณ์อากาศของกรมอุทกศาสตร์กองทัพเรือในวันนั้น พยากรณ์ว่า มีคลื่นสูงเพียง 2.5 เมตร ขณะที่กรมอุตุนิยิมวิทยาระบุว่า มีคลื่นสูง 4 เมตร ส่วนการพยากรณ์ของเอกชนระบุว่ามีคลื่นสูง 6 เมตร นี่แสดงให้เห็นว่าการพยากรณ์ของกองทัพเรือมีความคลาดเคลื่อน แต่แม้คลื่นจะสูงถึง 6 เมตร ก็ไม่มีทางที่เรือหลวงสุโขทัยจะล่มได้ เพราะเป็นเรือระดับคอร์เวตซึ่งทนต่อคลื่นสูงได้ 6 เมตร และเมื่อลึกเจาะลงไปที่แบบแปลนเรือหลวงสุโขทัย พบว่ามีการแบ่งย่อยเป็นชั้น แต่ละชั้นมีการแบ่งย่อยเป็นห้อง ฉะนั้นหากมีจุดไหนรั่ว ก็จะมีการผนึกปิดกั้นน้ำไม่ให้ไหลเข้าไปท่วมให้ห้องอื่นๆ ได้
หมายความว่า เรือหลวงสุโขทัย ไม่มีทางล่มได้ง่ายๆ แน่นอน นอกจากจะมีเพียงเหตุผลเดียวคือ
เรือไม่ได้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้
จึงนำมาสู่ความเป็นไปได้ในประเด็นที่สาม คือ เรือหลวงสุโขทัยอยู่ในสภาพพร้อมรบหรือไม่ และเรื่องนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างในการซ่อมเรือหลวงสุโขทัย
หลังจากเกิดเหตุ คณะกรรมการธิการการทหาร ได้เชิญกองทัพเรือเข้ามาชี้แจงข้อมูล 4 ครั้ง ครั้งแรก 4 วันหลังจากเกิดเหตุ ในครั้งนั้นได้ขอเอกสารมากมายจากกองทัพเรือ เช่น ประวัติการซ่อมเรือสุโขทัย งบประมาณที่ใช้ในการซ่อมบำรุง บันทึกการปฏิบัติภารกิจ บันทึกการติดต่อสื่อสารระหว่างเรือกับหน่วยงานต่างๆ และรายงานตรวจสอบความพร้อมของเรือก่อนที่ออกเรือจากสัตหีบ ทั้งหมดนี้ยังไม่มีการส่งเอกสารเข้ามาให้คณะกรรมาธิการ เอกสารที่ได้มีเพียง 2 อย่างคือ อัตรากำลังพล และประวัติการบรรจุกำลังพลของเรือ กับเอกสารประเมินสถาพอากาศ ส่วนเอกสารอื่นๆ ผ่านมา 2 เดือนแล้ว กองทัพเรือตอบเพียงยังรวบรวมเอกสารอยู่
ยังมีเจ้าหน้าที่ทหารที่มีความห่วงใยในกรณีนี้ ได้ เข้าถึงเอกสารการซ่อมเรือหลวงสุโขทัย และนำมาส่งให้ โดยปรากฎรายละเอียดเกี่ยวกับการซ่อมเรือในปี 2561 จนถึงเดือน ม.ค. 2564 ซึ่งมีการใช้งบประมาณ 60 กว่าล้านบาท แสดงให้เห็นว่ากองทัพเรือพยายามปกปิดความผิดของตนเอง
จากเอกสารนี้พบว่า เรือหลวงสุโขทัยมีปัญหาหลายจุด ซ่อมแล้วซ่อมอีกหลายครั้ง ซึ่งไม่ใช่ความบกพร่องโดยสุจริต แต่เป็นความจงใจบกพร่อง เป็นการทุจริต เป็นการแบ่งกันทำ แบ่งกันกิน ทีละคำ คนละส่วน จนทำให้เรือรบ กลายเป็นขนมเค้ก
สมอเรือ - เอกสารระบุว่า เมื่อทดสอบการใช้งานจริงหลังการซ่อม พบว่า มอเตอร์ฝั่งขวาขัดข้อง หยุดทำงานในบางจังหวะ ต่อมามาตรวัดต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในเรือ ไม่สามารถใช้การได้ ทั้งมาตรวัดแรงดันเครื่องสูบน้ำจืด 2 เครื่อง และมาตรวัดเครื่องสูบน้ำโฟร์แมน 4 เครื่อง สำหรับมอเตอร์สูบน้ำจืดหมายเลข 1 มีน้ำรั่วตรงแกนพัดหนักมาก ส่วนมอเตอร์สูบน้ำจืดสองมีอาการสั่นแรงมากเพราะไม่สมดุล นี่คือสิ่งที่ปรากฏหลังจากออกจากการซ่อมแล้ว
นอกจากนี้ยังพบว่าเครื่องจักรหลายตัวมีอาการสั่นผิดปกติเกินค่ามาตรฐาน ส่วนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าซ่อมเสร็จแล้วแต่ก็ยังพังอีก โดยใช้การได้เพียง 3 เครื่องจาก 4 เครื่อง แต่กองทัพเรือเห็นว่าไม่เป็นไร เพราะเครื่องที่เสียเป็นเครื่องสำรอง ในการเดินเรือใช้จริงเพียงแค่ 2 เครื่อง หมายความว่า ยังมีเครื่องสำรองที่ใช้การได้อีก 1 เครื่องอยู่ แต่เวลาเข้ามาของบในสภา มีการระบุว่า จำเป็นต้องใช้งบประมาณเพื่อเตรียมสภาพความพร้อมในการรบ กรณีนี้กลับไม่ได้ทำตามมาตรฐานความพร้อมรบ
นอกจากนี้ยังมีปัญหาสำคัญคือการซ่อมตัวเรือ เนื่องจากแผ่นเหล็กของตัวเรือที่มีการใช้งานไปนานๆ ก็อาจเกิดการสึกกร่อน การซ่อมบำรุงก็จำเป็นต้องตัดแผ่นเหล็กเดิมออกและเชื่อมแผ่นใหม่ให้มีขนาดเท่าเดิม ความหนาเท่าเดิม ตามมาตรฐาน
ก่อนที่จะเริ่มซ่อมได้มีการตรวจสอบตัวเรือ เอกสารในวันที่ 12 ก.ย. 2561 พบว่า มีทั้งหมด 13 จุดที่จะต้องเปลี่ยนแผ่นเหล็กให้หนาขึ้น เรื่องนี้ทางเพจ CSI LA ได้ออกมาตั้งคำถามว่า มีการซ่อมเรือโดยใช้แผ่นเหล็ก AH-36 หรือไม่ ลวดเชื่อมเหล็กได้มาตรฐานหรือไม่ และช่างเชื่อมมีใบรับรองในการซ่อมเรือรบหรือไม่
แทนที่กองทัพเรือจะออกมาตอบด้วยเอกสารหลักฐาน กลับชี้แจงว่า CSI LA เข้าใจผิด เพราะเอกสารนั้นเป็นเอกสารก่อนที่จะส่งซ่อมและทั้งหมดซ่อมหมดแล้ว แต่เกมพลิกเพราะวันต่อมา CSI LA ออกมาเปิดหลักฐานใหม่อีก ระบุว่าแท้จริงแล้วจาก 13 จุดมีการซ่อมไปเพียง 5 จุด เหลือ 8 จุดที่ยังมีปัญหาอยู่ มากไปกว่านั้นพบว่ามีการซ่อมรวมทั้งหมด 15 จุด แต่เป็นการซ่อมในจุดที่ไม่ต้องซ่อมไป 10 จุด ซึ่งเป็นจุดที่ไม่ได้บางลงเลย
ส่วนจุดที่สมควรจะซ่อมแต่ไม่ได้ซ่อมนั้นพบว่าบางลง 12-15% และอยู่ในจุดสำคัญของเรือคือ บริเวณกระดูกงู กาบซ้าย กาบขวาของเรือ หากเกิดรอยร้าว เกิดรูรั่ว น้ำจะเข้าไปยังห้องเครื่องยนต์ดีเซล และเครื่องกำเนิดไฟฟ้าทันที คำถามคือ กองทัพเรือตรวจรับงานกันอย่างไร
ส่วนผู้รับงานซ่อมเรือรบครั้งนี้ คือ บริษัทที่เป็นห้องแถว จดทะเบียนด้วยทุน 1 ล้านบาท มีพนักงาน 20 คน ฟังดูไม่น่ามีศักยภาพในการซ่อมเรือรบได้ แต่กลับได้รับงานเพราะสายสัมพันธ์ที่ดีกับ นายพล ว. อดีตเจ้ากรม และกินงบประมาณกันมหาศาล ซ่อมจริงมากเท่าไหนไม่มีใครรู้ เพราะแค่เห็นเรือลอยน้ำได้ก็หลับตาเซ็นรับเรือไป
นอกจากนี้ยังพบความปิดปกติของครีบกันโคลง ซึ่งปกติมีไว้ใช้รักษาสมดุลเรือ หากเจอคลื่นลมครีบจะช่วยให้เรือไม่เอียงไปเอียงมา แต่เรือสุโขทัยไม่มี กองทัพเรือตอบแค่ว่า เรือเก่าแล้วไม่มีอะไหล่เปลี่ยนจึงถอดออกเสีย และไม่มีผลที่ทำให้เรือล่ม
คำชี้แจงฟังไม่ขึ้น เพราะไม่ว่าเรือจะเก่าแค่ไหน อะไหล่สำคัญอย่างครีบกันโคลงสามารถหามาเปลี่ยนได้ แต่ที่หาไม่ได้น่าจะเป็นเพราะบริษัทห้องแถว โดนถอนเงินจนไม่เหลือซื้ออะไหล่หรือไม่ และกรณีที่บอกว่าการไม่มีครีบกันโคลงนั้นไม่ทำให้เรือล่ม แต่การไม่มีกลับทำให้เรือโคลงมากขึ้น
หากน้ำไม่ได้รั่วเข้ามาทางกาบเรือหรือบริเวณกระดูกงู บริเวณที่น้ำจะเข้าได้อีกคือ ท้ายเรือ บริเวณแบริ่งรับรองเพลาจักร อุปกรณ์ที่เป็นเหล็กทรงกลมที่ด้านในมีท่อยางอยู่ เพื่อใช้โอบอุ้มแกนเพลา และอุดช่องใต้ท้องเรือไม่ให้น้ำไหลย้อนไปสู่ตัวเรือได้ จากรายงานผลการซ่อมเรือพบว่าอุปกรณ์นี้ยังปกติ แต่ไม่อาจมั่นใจได้ เพราะมีหลักฐานว่าเรือรบของกองทัพอย่างน้อย 2 ลำคือ เรือหลวงรัตนโกสินทร์ มีการซื้ออะไหล่เพลาแบริ่ง เมื่อปี 2560 แต่ตอนนี้ยังไม่มีการซ่อม ส่วนเรือหลวงสีชัง มีการซื้ออะไหล่มาในมูลค่า 2.4 ล้านบาท แต่ตอนตรวจรับพบว่าเป็นอะไหล่เก่ามาย้อมแมวขาย และกองทัพเรือก็เซ็นรับไว้
ในปีงบประมาณ 2566 เรือหลวงสุโขทัยยังมีรายการรอซ่อมอยู่ทั้งหมด 19 รายการ งบ 16.25 ล้านบาท โดยจุดที่ใหญ่ที่สุดคือการซ่อมเกียร์ฝั่งซ้าย 7.5 ล้านบาท แต่ยังมีการให้เอาเรือออกไปปฏิบัติการอยู่ และไม่ได้อยู่ในสภาพพร้อมรบอย่างที่ควรจะเป็น
นอกจากตัวเรือไม่พร้อมรบ ตัวกำลังพลบนเรือก็ไม่พร้อมเช่นกัน พบว่า ขาดกำลังคนไป 22 อัตรา โดยตำแหน่งที่สำคัญที่สุดที่ว่างลงคือ ต้นกล หรือคนที่รับผิดชอบงานวิศวกรรมบนเรือ ทั้งใช้งานและการบำรุงรักษาเครื่องยนต์ใต้แนวน้ำ ตลอดจนอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับงานวิศวกรรม และจะเป็นผู้ร่วมตัดสินใจในยามเกิดเหตุฉุกเฉิน
ความน่ากังวลมากไปกว่านี้ คือ ไม่ใช่เพียงเฉพาะเรือหลวงสุโขทัย ที่ไม่มีความพร้อมรบ แต่ยังมีเรือหลวงอีกหลายลำที่อยู่ในสภาพไม่พร้อมรบเหมือนกัน แต่ยังคงออกปฏิบัติการอยู่เป็นปกติ
Topic
การเมือง
,
รวมอภิปรายครั้งสุดท้าย
,
อภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ
,
เรือหลวงสุโขทัย
,
เหตุกราดยิง
,
กราดยิงโคราช
People
ปดิพัทธ์ สันติภาดา
พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์
Related
‘ปดิพัทธ์’ โชว์หมัดเด็ด แฉกองทัพ ต้นเหตุจ่ากราดยิงโคราช
คุยกับ ‘อรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี’ ผู้สยบ ‘น้ำรอระบาย’ กทม. การันตีปีหน้าดีกว่าเดิม
'สุรเชษฐ์' ลงพื้นที่เกาะเต่าสอบปากคำมือแชร์ข้อมูลเท็จ ก่อนให้ประกันตัว
'ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท' มีอะไรต้องคิดต่อ คุยกับ 'คนกำหนดค่าจ้าง'
คสช.แจ้งความเพจ 'CSI LA' อ้างทหารเกณฑ์ถูกขอให้เลือกบางพรรคการเมือง
รวมอภิปรายครั้งสุดท้าย 2 : 'ฮั้ว' เฟื่องฟู หลานนายกฯ ถึงปลัดมหาดไทย-ขบวนการ E-Bidding
'ก้าวไกล' แฉทุจริตบ้านพัก ทบ. มีนายทหารเอี่ยว 35 นาย ยศสูงระดับ ‘นายพล’
เยียวยา สืบสวน แก้ไข นอร์เวย์ทำอะไรบ้าง หลังเหตุกราดยิง 77 ศพ
Author
กองบรรณาธิการวอยซ์ออนไลน์
63364
Article
1241
Video
11
Blog
MOST VIEWED
READ
WATCH