ไม่พบผลการค้นหา
‘เพื่อไทย’ ร่วมกับจังหวัดแพร่-เชฟชุมพล ชู ‘แพร่โมเดล’ เดินหน้าโครงการ ‘นวัตภัตรา” พัฒนาอาหารไทย สู่ครัวโลก-สร้างรายได้ชุมชน ก่อนต่อยอดเป็นนโยบาย กระจายสู่ทุกภาคทั่วประเทศ

วันที่ 27 พ.ย. 2564 ที่จังหวัดแพร่ วิเชียร อนุสาสนนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ พร้อมด้วยวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมือง พรรคเพื่อไทย (พท.) และ สุสังข์ ชุ่มมะโน พัฒนาการจังหวัดแพร่ ร่วมเปิดตัวโครงการยกระดับผลิตภัณฑ์โอท็อป (OTOP) ประเภทอาหารให้เป็นสินค้าระดับสากล ภายใต้คอนเซ็ปต์ นวัตภัตรา ซึ่งหมายถึงการพัฒนาอาหารด้วยนวัตกรรม โดยมีเชฟชุมพล แจ้งไพร เชฟชื่อดังดีกรีระดับมิชลินสตาร์ 2 ดาว และทูตอาหารยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ เป็นผู้ดำเนินการยกระดับผลิตภัณฑ์อาหาร ตลอดจนให้การสนับสนุนในการดำเนินการทำการตลาดครบวงจร โดยการพัฒนาจะคงคุณภาพผลิตภัณฑ์ของพืชผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ ให้มีความสดเหมือนผลิตใหม่ จะมีการใช้ไนโตรเจนเหลวทำให้อาหารเยือกแข็ง ที่อุณหภูมิต่ำกว่า - 60 องศาเซลเซียส โดยโครงการนี้ เชฟชุมพล ได้ใช้แบรนด์ Heaven cuisine เป็นแบรนด์หลักร่วมกับแบรนด์ของผลิตภัณฑ์ชุมชน กว่า 252 ผลิตภัณฑ์ เพื่อนำเสนอสู่ตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ

วิเชียร กล่าวว่า นี่คือปรากฏการณ์ความยิ่งใหญ่ของจังหวัดแพร่ ที่จะมีแบรนด์อาหารใหม่ที่ชื่อว่า Heaven Cuisine จากฝีมือเชฟชื่อดังระดับโลก มีการนำนวัตกรรมใหม่มาต่อยอด ทำให้อาหารมีรสชาติคงเดิม สดเหมือนเพิ่งผลิตใหม่ และเก็บได้ยาวนาน ซึ่งในอนาคตจะเป็นการส่งเสริม และกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดแพร่อย่างสำคัญ

ขณะที่ เชฟชุมพล กล่าวว่า นับเป็นอีกหนึ่งโครงการที่รู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก ที่มีโอกาสเข้ามายกระดับผลิตภัณฑ์อาหารให้เป็นสินค้าพรีเมี่ยม โดยใช้วัตถุดิบหลักจากจังหวัด และมั่นใจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารไทยเข้าสู่การเป็นครัวของโลก

เชฟชุมพล -5877-4929-8964-34856B2BBEC0.jpegเชฟชุมพล แกงส้ม C25EDF88-CE07-46A5-84D2-48B61B9DCD24.jpeg


วรวัจน์ แพร่ 8878749E-CA30-4D91-9E30-E89C9C2FC91F.jpegวรวัจน์ แพร่ BE12285D-06A1-47A1-A3CB-04B09D516C13.jpeg

ด้าน วรวัจน์ ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้พรรคพท. มีเป้าหมายที่ให้คำแนะนำกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนให้รู้จักเทคโนโลยีใหม่ๆ และการนำมาใช้ โดยโครงการนี้ต่อเนื่องมากจากโครงการครัวไทยสู่ครัวโลกที่เคยมีในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ผ่านมาเราคิดเพื่อพัฒนาว่า เมื่อเรามีการพัฒนาสูตรอาหารของแต่ละภูมิภาคแล้วเราจะนำเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมได้อย่างไร พอเราเห็นช่องทางว่าไปได้โดยใช้เทคโนโลยีเราก็ดำเนินการ วันนี้เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มต่างๆ โดยมีเชฟชุมพล และกลุ่มอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ดำเนินการร่วมกันมาช่วยกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ขึ้นมา โดยการจับมือกับจังหวัดแพร่ ให้เกิดเป็น “แพร่โมเดล” ในการพัฒนาโรงงานระดับชุมชน ซึ่งจะเป็นโรงงานระดับชุมชนแห่งแรกที่ชุมชนสามารถเข้าไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเองได้โดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายสูง นอกจากนี้ เรายังจะผลักดันให้ได้อย. และให้ได้มาตรฐานอุตสาหกรรมส่งออก รวมถึงเรายังได้หาตลาดให้ชุมชน โดยการติดต่อกับร้านอาหารที่อยู่ในต่างประเทศ เช่น จีน ไว้ โดยประสานงานผ่านเชฟซึ่งเชฟจะเป็นผู้ดีไซน์อาหารจากความต้องการของผู้บริโภค เพื่อให้ชุมชนผลิตตามความต้องการ เป็นการเปิดช่องให้ผู้ผลิต กับผู้ซื้อได้เจอกัน โครงการนี้จะทำให้ผลิตผลทางการเกษตรที่ล้นในแต่ละฤดูกาล เข้ามาสู่ระบบเยือกแข็ง ซึ่งกระบวนการนี้จะทำให้ผลผลิตมีคุณสมบัติทั้งรสชาติ และรสสัมผัสเหมือนเดิม ไม่เสื่อมไป นอกจากนี้ความพิเศษของโครงการนี้คือการพัฒนาสูตรอาหารที่ไม่มีผงชูรส ไม่มีสารปรุงแต่ง แต่ใช้อูมามิจากธรรมชาติมาสกัด เพื่อเป็นอาหารสำหรับผู้รักสุขภาพด้วย 

เมื่อถามว่า พรรคเพื่อไทย จะต่อยอดเรื่องนี้ให้เป็นนโยบายของพรรคเลย หรือจะกระจายลงไปในพื้นที่จังหวัดต่างๆเพื่อต่อยอดแล้วชูเป็นนโยบายในการหาเสียงรอบหน้าหรือไม่ วรวัจน์ กล่าวอีกว่า หลังที่จังหวัดแพร่ทำสำเร็จแล้ว เราจะแนะนำให้จังหวัดอื่นๆต่อไป ซึ่งโครงการนี้หากจังหวัดใดอยากดำเนินการเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน อาจจะตั้งงบประมาณของจังหวัด หรือกลุ่มจังหวัดขึ้นมาดำเนินการได้ ในขณะที่ท้องถิ่นก็สามารถตั้งงบประมาณของท้องถิ่นขึ้นมาดำเนินการได้เช่นกัน ตรงนี้จะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร ทำตลาดใหม่ และเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ เราทำให้เกิดช่องทางระหว่างตลาดกับผู้ขาย นี่คือสิ่งที่พรรคพท.คิด และพยายามผลักดันให้เกิด เราต้องการกระจายการพัฒนาไปในทุกภาคไม่ว่าจะประมงในภาคใต้ ผลไม้ในภาคตะวันออก พืชผักในภาคกลาง หรือเนื้อสัตว์ในภาคอีสาน เราจึงร่วมมือกับจังหวัดแพร่ และดำเนินโครงการนี้ที่จังหวัดแพร่ก่อน

วรวัจน์ ระบุว่า หากที่ใดสนใจก็สามารถมาเรียนรู้ และเข้ามาลองปฏิบัติจริงในโรงงานก่อนจะขยายออกไป เราเปิดโอกาสให้กับคนไทยทุกคน เราเชื่อว่าในอนาคตจะมีโรงงานที่สามารถแปรรูป และเก็บรักษาผลผลิตของเกษตรกรไว้ได้ในทุกภาคในประเทศ วันนี้ ถ้าเราจะขายกุ้งสู้กับต่างประเทศ เราคงสู้ไม่ได้ แต่ถ้าเราทำเป็นต้มย้ำกุ้งที่สามารถนำส่งออกได้ เราสู้ได้แน่นอน เช่นเดียวกัน ถ้าเราขายข้าวไม่ได้ราคา เก็บไว้นานก็เสีย เราเอามาพัฒนาเป็นข้าวผัดเยือกแข็งพร้อมทาน หรือข้าวสวย ฯลฯ ที่สามารถเก็บรักษาข้าวไว้ทานได้ตลอดทั้งปี และผสมผสานกับอาหารไทยตนคิดว่า เราสู้ได้อย่างแน่นอน