ประชาชน ในนามเครือข่ายกลุ่ม "ขอคืนไม่ขอทาน" ร่วมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ โดยจัดกิจกรรมรณรงค์เรียกร้องสิทธิเพื่อให้ประชาชนในสังคมรับรู้ รับทราบรวมถึงผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมอีกกว่า 16 ล้านคน ได้ให้ความสำคัญ และหันมาร่วมกันเรียกร้องสิทธิเพื่อขอเบิกเงินออมของผู้ประกันตน ที่สะสมไว้กับสำนักงานประกันสังคม สามารถนำออกมาใช้ได้ก่อน โดยเฉพาะในสถานการณ์วิกฤติ จากการระบาดของไวรัสโควิด-19
เป็นที่มาของภาพของผู้เข้าร่วมกิจกรรมร่วมกันสวมกางเกงยีนส์เก่า กางเกงยีนส์ขาดๆ ไม่สวมเสื้อ หรือบางคนเลือกสวมใส่โสร่ง ขณะที่บางคนสวมใส่ผ้าถุง หรือกระโปรงยีนส์หรือกางเกงยีนส์เก่าๆ สวมเสื้อสีพื้นขาวดำ ที่เหมาะกับการทำกิจกรรม ในลักษณะอารยะขัดขืน ทั้งการเดิน ยืน นั่งหรือนอน
น.สพ.บูรณ์ อารยพล ผู้นำกิจกรรมย้ำว่าการแสดงออกทั้งการชูป้ายเชิงสัญลักษณ์ การหยุดนิ่งประกาศเจตนารมณ์ หรือการเดินเท้า บริเวณสถานีรถไฟฟ้าจุดต่างๆ นั้น เพื่อส่งสัญญาณ ด้วยความสงบ ไปกดดันรัฐบาล ให้ดำเนินการตามข้อเรียกร้อง โดยเฉพาะการเรียกร้องให้คืนเงินสมทบชราภาพร้อยละ 30 ถึงร้อยละ 50 ให้กับผู้ประกันตนในช่วงที่เกิดสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิค-19 ซึ่งมีผู้ประกันตนได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก
ขณะเดียวกัน ตัวแทนผู้ประกันตน ต้องการเห็นพระราชบัญญัติประกันสังคมได้รับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้เกิดความเหมาะสมทันต่อยุคสมัย เช่น สามารถเบิกจ่ายเงินสมทบชราภาพออกมาใช้ได้ก่อนอายุ 55 ปี หรือสามารถเลือกได้ว่าจะรับเงินบำเหน็จหรือบำนาญชราภาพ ตามที่ผู้ประกันตนเรียกร้อง
กิจกรรมดังกล่าว ยังต้องการสื่อสารให้ผู้ประกันตน ในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 ได้ทราบถึงข้อเรียกร้องโดยเฉพาะการเรียกร้องเงินสมทบชราภาพมาประทังชีพในช่วงวิกฤตของไวรัสโควิค-19 และยังเป็นช่องทางให้ผู้ประกันตนได้รู้จักกับกลุ่มคนที่ทำหน้าที่เคลื่อนไหว เรียกร้องสิทธิ ที่พึงมีพึงได้มากขึ้น
น.สพ.บูรณ์ ระบุด้วยว่าก่อนหน้านี้ ทางเครือข่ายกลุ่มขอคืนไม่ได้ขอทานได้จัดกิจกรรมรณรงค์เรียกร้องสิทธิมาแล้วถึง 3 ครั้ง 3 วัน 3 สถานที่ เริ่มจากวันที่ 1 พ.ค.ที่สำนักงานประกันสังคม วันที่ 15 พ.ค.ที่กระทรวงแรงงาน และวันที่ 29 พ.ค.ที่สำนักนายกรัฐมนตรี ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาล แต่ข้อเรียกร้องต่างๆ ยังไม่ได้รับการขับเคลื่อน ยังไม่ได้รับการตอบรับใดๆ จากผู้มีอำนาจ จึงเป็นที่มาที่ต้องจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :