ไม่พบผลการค้นหา
สปสช.พัฒนาแอปพลิเคชั่นให้ประชาชนลงทะเบียนเปลี่ยนหน่วยบริการได้ทางโทรศัพท์มือถือ เพิ่มความสะดวกสบายไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปโรงพยาบาล

พ.อ.หญิง พนมวัลย์ บุณยมานพ รองประธานกลุ่มภารกิจบริหารกองทุน และรักษาการผู้อำนวยการสำนักบริหารงานทะเบียน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า สปสช.ได้พัฒนาระบบการลงทะเบียนเปลี่ยนหน่วยบริการประจำผ่านแอปพลิเคชัน สปสช. โดยผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สิทธิบัตรทอง 30 บาท สามารถลงทะเบียนเปลี่ยนหน่วยบริการทางโทรศัพท์มือถือได้แล้วนับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนได้มากกว่าเดิม 

พ.อ.หญิง พนมวัลย์ กล่าวว่า แต่เดิมการลงทะเบียนเปลี่ยนหน่วยบริการ ผู้รับบริการจะต้องเดินทางไปที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน ต้องเขียนคำร้องแล้วลงนาม จากนั้นเจ้าหน้าที่จะบันทึกข้อมูลเข้าไประบบอิเล็กทรอนิกส์ของ สปสช. ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 20 นาที แล้วแต่จำนวนคิวของผู้มาลงทะเบียนในช่วงนั้นๆ ยังไม่นับรวมเวลาที่ต้องเดินทางมาจากบ้านอีก ต่อมาก็ได้พัฒนาให้ใช้อ่านข้อมูลจากบัตรประชาชนผ่าน Smart Card Reader แล้วพิมพ์คำร้องออกมาเซ็นชื่อได้เลย รวมถึงอาจสแกนนิ้วหรือใส่ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ ทำให้ลดเวลากรอกแบบคำร้องอีก 5-10 นาที แต่ระบบนี้ก็ยังต้องไปที่หน่วยบริการอยู่ดี และในกรณีที่ที่อยู่ปัจจุบันไม่ตรงกับที่อยู่ตามบัตรประชาชนก็จำเป็นจะต้องมีเอกสารต่างๆ เช่น บิลค่าน้ำค่าไฟ สัญญาเช่าที่อยู่หรือคำรับรองของเจ้าบ้านมาประกอบ ซึ่งหากเตรียมเอกสารไม่เรียบร้อยก็ทำให้ไปลงทะเบียนเสียเวลาเปล่า ต้องกลับย้อนกลับมาเอาเอกสารอีก จึงยังมีความไม่สะดวกกับประชาชนพอสมควร 

ด้วยเหตุนี้ นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช.จึงมีนโยบายให้ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง นำนวัตกรรมใหม่ๆ มาอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนมากขึ้น ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2559 พบว่าประมาณ 50% ของคนไทยที่อายุมากกว่า 6 ปีขึ้นไปในจำนวน 62.8 ล้านคนซึ่งมีจำนวน 31.7 ล้านคนใช้โทรศัพท์มือถือสมาร์ตโฟน สปสช.จึงพัฒนาการให้บริการเปลี่ยนหน่วยบริการที่ประชาชนไปใช้เป็นประจำผ่านมือถือขึ้น เพื่อที่หากผู้รับบริการต้องการอยากจะเปลี่ยนหน่วยบริการเมื่อไหร่ อยู่ที่ไหนก็สามารถทำได้ 

สำหรับวิธีใช้งานแอปฯ สปสช.นั้น ก่อนอื่นผู้รับบริการต้องโหลดแอปฯ สปสช จากใน App Store หรือ Google Play Store มาติดตั้งในมือถือก่อน ค้นหาโดยพิมพ์คำว่า 'สปสช' เมื่อเข้าไปใช้ ระบบจะให้ยืนยันพิสูจน์ตัวตนด้วยการลงทะเบียนก่อน โดยบันทึกหมายเลข 13 หลักจากบัตรประจำตัวประชาชน/ ชื่อ สกุล /วันเดือนปีเกิด /และตัวอักษร 2 ตัวพิมพ์ใหญ่ภาษาอังกฤษกับเลขหลังบัตรประจำตัวประชาชน 10 หลัก (laser code) พร้อมกับใส่หมายเลขโทรศัพท์ เพื่อรับ one time password (OTP) จากระบบมาลงทะเบียน จากนั้นก็สามารถเข้าไปใช้ปุ่มฟังก์ชันเปลี่ยนหน่วยบริการได้เลย

1.jpg

นอกจากนี้หากเข้าไปกดที่ปุ่มฟังก์ชันตรวจสอบสิทธิผู้ใช้บริการสามารถดูได้ว่า ณ ปัจจุบันตัวเองมีหน่วยบริการประจำที่ไหน ถ้าไม่พอใจก็เปลี่ยนโดยคลิกที่ปุ่มฟังก์ชันเปลี่ยนหน่วยบริการ ระบบจะแสดงให้เห็นเฉพาะหน่วยบริการที่อยู่ใกล้บ้านที่รับขึ้นทะเบียนให้ผู้ใช้บริการได้เลือกลงทะเบียน และในกรณีที่อยู่ปัจจุบันไม่ตรงกับทะเบียนบ้าน สามารถถ่ายภาพบิลค่าน้ำค่าไฟหรือหนังสือรับรองของเจ้าบ้านแนบมาระบบได้ จะทำให้สะดวกมากยิ่งขึ้นไม่ต้องไปที่หน่วยบริการ ซึ่งการเปลี่ยนหน่วยบริการสามารถทำได้ 4 ครั้งต่อปี ไม่จำกัดเรื่องความถี่ห่าง ขึ้นกับความสะดวกของประชาชนเป็นสำคัญ  

ทั้งนี้ นอกจากฟังก์ชันเปลี่ยนหน่วยบริการประจำแล้ว แอปฯ สปสช.ยังมีฟังก์ชันการตรวจสอบสิทธิของผู้รับบริการ การตรวจสอบสิทธิของคนในครอบครัว มีโปรแกรมสร้างสุข ซึ่งเป็นโปรแกรมส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคของ สปสช.เขต 13 กทม. สำหรับนัดหมายฉีดวัคซีน ตรวจคัดกรองต่างๆ และมีกล่องข้อความสำหรับรับข้อมูลข่าวสารจาก สปสช.อีกด้วย  

"ตอนนี้เปิดตัวมาได้ประมาณ 20 กว่าวัน เริ่มเมื่อ 1 ส.ค. 2563 ที่ผ่านมามีข้อมูลเข้ามาในระบบ 1,000 กว่าราย และมีประมาณ 10% ที่ลองเข้ามาลงทะเบียนแต่ก็กดยกเลิกไป หลังจากนี้ สปสช.จะทำการประชาสัมพันธ์ผ่างช่องทางต่างๆ ทั้งวิทยุ LINE หรือ Facebook มากขึ้น อย่างในเพจของ สปสช. ก็จะมีคลิปวีดีโอที่สอนวิธีในการใช้งานง่ายๆ ไม่เกิน 10-15 นาทีก็ใช้เป็นแล้ว เชื่อว่าแอปฯ นี้จะอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ไม่ต้องไปที่หน่วยบริการ ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง ลดภาระกับโรงพยาบาล ยิ่งสถานการณ์โควิดตอนนี้ ไปโรงพยาบาลอาจจะเสี่ยงต่อการติดเชื้ออื่นๆ ดังนั้นการทำงานอยู่ที่บ้านก็จะทำให้เราเข้าถึงการตรวจสอบสิทธิ์หรือว่าเปลี่ยนหน่วยบริการได้ ดังนั้นอยากเชิญชวนให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันนี้แล้วลองเข้าไปดู แม้ไม่เปลี่ยนหน่วยบริการก็ยังสามารถดูสิทธิประโยชน์และความรู้ต่างๆเกี่ยวกับระบบหลักประกันสุขภาพได้อีกด้วย" พ.อ.หญิง พนมวัลย์ กล่าว 

ทั้งนี้ หากประชาชนยังไม่สะดวกใช้งานทางโทรศัพท์มือถือก็ยังสามารถไปติดต่อที่หน่วยบริการได้เช่นเดิม รวมทั้งกรณีคนที่หมดสิทธิจากสิทธิอื่นๆ เช่น สวัสดิการข้าราชการหรือประกันสังคม ที่มีการลงทะเบียนแทนชั่วคราวโดย สปสช.แล้วต้องการกดปุ่มยอมรับหน่วยบริการนั้นๆ หรือกรณีต้องการเปลี่ยนสิทธิย่อยต่างๆ เช่น สิทธิย่อยพระภิกษุสงฆ์ สิทธิย่อยผู้ต้องขัง สิทธิย่อยคนพิการ อันนี้ก็ยังจำเป็นต้องไปติดต่อหน่วยบริการอยู่ แต่ในอนาคต สปสช.จะพัฒนาระบบให้รองรับด้วยเช่นกัน