วานนี้ (10 พ.ย.)รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมบรรยายในหัวข้อ “การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติภายใต้แนวคิดเมืองหยุ่นตัว” ในงานวันตระหนักรู้ภัยสึนามิโลก ณ ห้องรอพิเศษ 207 ชั้น 2 อาคารรัฐสภา เขตดุสิต
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการบริหารจัดการน้ำที่ผ่านมาว่า สิ่งหนึ่งที่เราหนักใจ ไม่ใช่น้ำเหนือและน้ำทะเลหนุน แต่เป็นน้ำฝน ตั้งแต่เราเข้ารับหน้าที่ในเดือน มิ.ย. 65 เป็นต้นมา เราได้มีการพยายามจัดการระบบระบายน้ำระยะทางกว่า 3,000 กิโลเมตร ให้กลับมาระบายน้ำได้อย่างเต็มขีดความสามารถอีกครั้ง หลังจากที่มีการอุดตันก่อนหน้านี้ โดยท่อระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ สามารถรองรับปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาในพื้นที่สูงสุดไม่เกิน 60 มิลลิเมตร/ชั่วโมง
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครได้มีการประสานงานกับหลายหน่วยงาน อาทิ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมชลประทาน ทหาร รวมทั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในเรื่องของข้อมูลและการบริหารจัดการระดับน้ำ ซึ่งการบูรณาการความร่วมมือกันทำให้สามารถบริหารจัดการได้ แต่ในช่วงเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา มีฝนตกหนักมาก เป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (climate change) อันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน (global warming) จะเห็นได้ว่าเดือน ก.ย. 65 มีฝนตกไปแล้ว 28 วัน จาก 30 วัน ค่าเฉลี่ยของน้ำฝนจนถึงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน ก.ย. 65 มีปริมาณมากกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี มากกว่านั้น ในวันที่ 3 ต.ค. 65 ตั้งแต่เวลาประมาณ 15.00 น. เฉพาะเขตหลักสี่เขตเดียวมีปริมาณน้ำฝน 162 มิลลิเมตร/ชั่วโมง และต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ชั่วโมง มากกว่าขีดความสามารถของท่อระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งนี้ แนวทางในการบริหารจัดการจะสนใจเพียงแค่พื้นที่กรุงเทพมหานครไม่ได้ แต่ต้องคำนึงถึงจังหวัดใกล้เคียงด้วย
รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวต่อไปว่า หากพูดถึงเรื่องความปลอดภัย จะครอบคลุมไปถึงเรื่องของอาชญากรรม ยาเสพติด อุบัติเหตุ ความปลอดภัยจากโครงสร้าง ธรณีพิบัติภัย ภัยพิบัติที่เป็นสาธารณภัยทั้งหมด และโรคต่าง ๆ โดยต้องบูรณาการระหว่าง 7 ยุทธศาสตร์ ภายใต้แผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) กับนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 216 ข้อ (9 ดี) เพื่อเป้าหมายใหญ่คือ “เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน” ซึ่งในยุทธศาสตร์ที่ 1 การสร้างเมืองปลอดภัยและหยุ่นตัวต่อวิกฤตการณ์ เราได้ตั้งเป้าหมายปี 2566 - 2570 ให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน โดยมุ่งเน้นการแก้-การเพิ่ม-การสร้าง คือ ทบทวนและแก้ไขข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานคร เพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการของหน่วยงานให้พร้อมรับกับวิกฤตการณ์ในทุกรูปแบบ และสร้างกลไกการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ความปลอดภัยและบริหารจัดการด้วยชุดข้อมูลความเสี่ยง เพื่อให้กรุงเทพฯ ปลอดอาชญากรรม ปลอดอุบัติเหตุ ปลอดภัยพิบัติ ปลอดจากอุบัติภัยจากสิ่งก่อสร้าง และเป็นเมืองสุขภาพดี
จากนั้น รองผู้ว่าฯ กทม. ได้ยกตัวอย่างนโยบายที่หนุนเสริมเมืองหยุ่นตัวที่กำลังดำเนินการ เช่น การพัฒนาฐานข้อมูลดิจิทัลพื้นที่จุดเสี่ยงความปลอดภัย (Bangkok Risk Map) ซึ่งจะเปิดให้ประชาชนได้เข้าถึงภายในเดือน ธ.ค. 65 โดยประชาชนจะสามารถดูแผนที่แสดงน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ แบบเรียลไทม์ ติดตามค่าฝุ่นละอองได้แม่นยำขึ้น เนื่องจากมีการเพิ่มเซ็นเซอร์ตรวจวัดฝุ่นให้มีจำนวนมากขึ้น ดูแผนที่แสดงศักยภาพดับเพลิงของกรุงเทพมหานคร เป็นต้น
อนึ่ง กรุงเทพมหานครมีภาพรวมเป้าหมายร่วมของนโยบาย ได้แก่ ระบุความเสี่ยงและควบคุมแหล่งกำเนิดความเสี่ยง/มลพิษ พัฒนามาตรฐาน ลดขั้นตอน และเร่งกระบวนการให้บริการ เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับการให้บริการสาธารณะ ปรับปรุง/ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานให้หยุ่นตัวมากยิ่งขึ้น เพื่อนำไปสู่เป้าหมายสูงสุด ให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน
สำหรับกิจกรรมเสวนาในหัวข้อ “บทบาทสมาชิกรัฐสภาในด้านการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในประเทศไทย” ในวันนี้ จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลอง “วันตระหนักรู้ภัยสึนามิโลก” หรือ World Tsunami Awareness Day เพื่อส่งเสริมความสำคัญด้านการเตรียมความพร้อมและการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในภารกิจของรัฐสภาเพื่อบรรลุความสำเร็จของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน สนับสนุนการดำเนินงานของสมาชิกรัฐสภาในการออกแบบการดำเนินงานด้านการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ตามหลักการ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ตลอดจนเพื่อสร้างพื้นที่ในการระดมความเห็นและเสวนาที่เกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมและการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติร่วมกับหน่วยงานที่ข้องกับภารกิจงานของรัฐสภา โดยมีกลุ่มเป้าหมายได้แก่ คณะกรรมาธิการการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย สภาผู้แทนราษฎร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทำงานด้านภัยพิบัติ บุคคลทั่วไปที่สนใจ โดยสามารถรับชม LIVE (ย้อนหลัง) ได้ที่ www.facebook.com/UNDPThailand/videos/667508791545746