ไม่พบผลการค้นหา
ครม.อนุมัติกรอบงบดำเนินการ-งบลงทุนปีงบ 2564 รัฐวิสาหกิจ 52 แห่ง 1.98 ล้านล้านบาท ดันเบิกจ่ายตามเป้าหมาย 95% ปลุกเศรษฐกิจ พร้อมปรับปรุง พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ย้ำ 'นัดหยุดงาน' ต้องมีบริการสาธารณะขั้นต่ำไม่กระทบ ปชช.

รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2563 ครม.เห็นชอบกรอบและงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2564 จำนวน 44 แห่ง วงเงินดำเนินการ จำนวน 1.51 ล้านล้านบาท และวงเงินลงทุน จำนวน 2.91 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นวงเงินเพื่อใช้ในการดำเนินโครงการ 16 โครงการ อาทิ โครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก นิคมอุตสาหกรรม Smart Park ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) , โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ช่วงท่าอากาศยานนานชาติภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) , โครงการเพิ่มความสามารถในการจ่ายไฟด้วยสายเคเบิลใต้น้ำให้เกาะต่างๆ ที่มีไฟฟ้าใช้แล้ว ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เป็นต้น โดยกำหนดเป้าหมายให้รัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายลงทุนไม่น้อยกว่า 95% ของกรอบวงเงินอนุมัติให้เบิกจ่ายลงทุน

สำหรับการประมาณการงบทำการประจำปี 2564 ของรัฐวิสาหกิจ 44 แห่ง คาดว่าจะมีกำไรสุทธิ ประมาณ 73,500 ล้านบาท ส่วนระยะยาว ประมาณการแนวโน้มการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ ในช่วง 3 ปี ตั้งแต่ปี 2565 - 2567 คาดว่าจะมีการลงทุนเฉลี่ยประมาณปีละ 3.83 แสนล้านบาท และผลประกอบการจะมีกำไรสุทธิเฉลี่ยประมาณปีละ 1.06 แสนล้านบาท

อีกทั้งเมื่อรวมการลงทุนของรัฐวิสาหกิจทั้ง 52 แห่ง จะมีวงเงินดำเนินการ รวม 1.55 ล้านล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน รวม 4.32 แสนล้านบาท ซึ่งจะเป็นเม็ดเงินจำนวนมากเข้าสู่ระบบเศรฐกิจ เพิ่มเติมจากงบฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ (4 แสนล้านบาท) 

ทั้งนี้ เงินจากรัฐวิสาหกิจแบ่งเป็น 1) จากรัฐวิสาหกิจประเภทบริษัทมหาชนจำกัดและบริษัทในเครือ จำนวน 8 แห่ง วงเงินดำเนินการ 3.49 แสนล้านบาท วงเงินเบิกจ่ายลงทุน 1.91. แสนล้านบาท 2)รัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัด 15 กระทรวง จำนวน 44 แห่ง วงเงินดำเนินการ 1.21 ล้านล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน รวม 2.41 แสนล้านบาท (ยังไม่รวมงบที่อาจมีเพิ่มเติมระหว่างปีจำนวน 3.5แสนล้านบาท)

ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ สอดคล้องสากล

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยด้วยว่า ครม.อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ซึ่งเป็นการปรับปรุงพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 ที่บังคับใช้มาเป็นเวลานานและมีบทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป โดยปรับปรุงเกี่ยวกับวิธีระงับข้อพิพาทแรงงาน การห้ามปิดงานหรือการนัดหยุดงาน หลักเกณฑ์การจัดตั้งและการดำเนินงานของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจและสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ รวมถึงปรับปรุงอัตราโทษให้เหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการด้านแรงงานสัมพันธ์ และสอดคล้องกับมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ 

โดยมีสาระสำคัญดังนี้

1.ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างงาน เช่น 1)กำหนดระยะเวลาการยื่นข้อเรียกร้องให้มีการกำหนดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือการแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ต้องยื่นภายใน 60 วันก่อนวันที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิมจะสิ้นสุดลง 2)กำหนดให้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ที่ทำโดยนายจ้างกับสหภาพแรงงาน ซึ่งมีลูกจ้างเป็นสมาชิกเกินกว่า 2 ใน 3 ของลูกจ้างทั้งหมด มีผลผูกพันนายจ้างและลูกจ้างทุกคน

2.วิธีระงับข้อพิพาทแรงงาน กรณีที่มีข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ กำหนดให้ทั้งสองฝ่ายตกลงกันให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน ดำเนินการประนอมข้อพิพาทนั้นต่อไป หรือไปเจรจาตกลงกันเอง หรือส่งให้คณะกรรมการวินิจฉัยการกระทำอันไม่เป็นธรรมและข้อพิพาทแรงงานเป็นผู้ตัดสิน

3.การปิดงานและการนัดหยุดงาน เช่น 1) กำหนดให้นายจ้างอาจปิดงานหรือลูกจ้างอาจนัดหยุดงานได้ แต่ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานและอีกฝ่ายทราบล่วงหน้าก่อน เป็นเวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง 2) กำหนดให้การปิดงานหรือการนัดหยุดงานในงานที่เป็นบริการสาธารณะ ได้แก่ โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์หรือโทรคมนาคมบรรเทาสาธารณภัย ควบคุมการจราจรทางอากาศ และกิจการอื่นตามที่ประกาศกำหนด โดยฝ่ายที่ปิดงานหรือนัดหยุดงาน จะต้องจัดให้มีบริการสาธารณะขั้นต่ำเท่าที่จำเป็น เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน

4.กำหนดให้มีคณะกรรมการวินิจฉัยการกระทำอันไม่เป็นธรรมและข้อพิพาทแรงงาน ประกอบด้วย อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นประธานกรรมการและให้ผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นกรรมการและเลขานุการ โดยมีอำนาจหน้าที่ในการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้

5.ปรับอัตราโทษให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น เช่น มาตรา 87 ผู้ใดฝ่าฝืนตามมาตรา 18 หรือ มาตรา 19 (การปิดงานหรือนัดหยุดงาน) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 90 ผู้ใดเป็นผู้ดำเนินการสหภาพแรงงานที่ยังไม่ได้รับใบรับรองการจัดตั้ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นต้น

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงาน ได้ดำเนินการจัดสัมมนาไตรภาคี เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับพระราชบัญญัตินี้ จาก 15 กระทรวงที่กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ 47 แห่ง และจัดรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

"ในลำดับต่อไป จะส่งร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยรับความเห็นของกระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป" รัชดา กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: