ไม่พบผลการค้นหา
ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาโอนทรัพย์สินฯ มีมติโอนทรัพย์สิน งบประมาณ หนี้ ภาระผูกพัน ข้าราชการ พนักงานข้าราชการ ลูกจ้าง และอัตรากำลัง ของ สนข. ไปเป็นของกรมการขนส่งทางราง พร้อมเร่งรวบรวมสรุปภารกิจเพื่อถ่ายโอนต่อไป

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการพิจารณาโอนทรัพย์สินฯ ของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ไปเป็นของกรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาการโอนทรัพย์สิน จำนวน 121 รายการ รวมถึงงบประมาณ หนี้ ภาระผูกพัน ข้าราชการ พนักงานข้าราชการ ลูกจ้าง และอัตรากำลัง ของ สนข. ไปเป็นของกรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม

เนื่องจากมีกฎหมายจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง โดยยกฐานะสำนักงานโครงการพัฒนาระบบราง ในสังกัด สนข. ขึ้นเป็นกรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม เพื่อทำหน้าที่ให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย กำหนดยุทธศาสตร์ แนวทางการพัฒนารูปแบบการลงทุนและการบริหารจัดการโครงข่ายการขนส่งทางรางของประเทศ

ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการให้เร่งรวบรวมสรุปภารกิจของ สนข. ที่เกี่ยวข้องในด้านการขนส่งระบบรางเพื่อถ่ายโอนภารกิจให้กับกรมการขนส่งทางรางต่อไป

การประชุมมีขึ้นเมื่อวันที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยมี นายสราวุธ ทรงวิไล อธิบดีกรมการขนส่งทางราง ผู้แทน สนข. คณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ สำนักงบประมาณ และกรมบัญชีกลาง เข้าร่วมประชุม 

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวว่า พื้นที่จัดตั้งสำนักงานของกรมการขนส่งทางรางในอนาคตจะต้องย้ายไปอยู่บริเวณศูนย์คมนาคมพหลโยธิน โดยระหว่างนี้จะต้องเร่งหาอาคารสำนักงานเพื่อเช่าชั่วคราว สำหรับการทำงานของกรมฯ ขณะนี้ กำลังเร่งร่างกฎหมายลูกเพื่อบังคับใช้ภายหลัง พ.ร.บ. กรมการขนส่งทางรางประกาศใช้ ซึ่งคาดว่าจะไม่เกินภายในปีนี้

โดยกฎหมายลูกจะเป็นรายละเอียดปลีกย่อยที่มีจำนวนประมาณ 40-50 ฉบับ อาทิ รายละเอียดกฎระเบียบการสอบใบขับขี่รถไฟ กฎระเบียบของการเก็บค่าใช้บริการรางรถไฟ ส่วนบทบาทของกรมการขนส่งทางราง จะเป็นหน่วยงานกำกับดูแล (เรกูเลเตอร์) มีกฎหมายเอาผิดผู้ประกอบการ (โอเปอเรเตอร์) ทั้งการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งแห่งประเทศไทย (รฟม.) และเอกชนที่อยู่ในอุตสาหกรรมระบบรางทั้งหมด เพื่อให้บริการระบบรางของไทยมีมาตรฐานเดียวกัน

รวมทั้งมีแนวคิดจะนำเส้นทางรถไฟที่รัฐเป็นเจ้าของมาเปิดให้เอกชนเดินรถมากขึ้น อาทิ รถไฟทางคู่ของ รฟท. ในบางเส้นทาง ซึ่งเมื่อพัฒนาเป็นรถไฟทางคู่แล้วจะเพิ่มขีดความสามารถรองรองการเดินรถได้ถึง 4 ทาง จากปัจจุบันมีอยู่ 2 ทาง ดังนั้น หากในอนาคต รฟท. ไม่สามารถหาหัวรถจักรมาให้บริการได้ทัน หรือ มองว่า รถไฟทางคู่เส้นทางใดมีความต้องการของประชาชนน้อย แต่มีประโยชน์ต่อการขนส่งสินค้า ก็อาจจะเปิดให้เอกชนเข้ามาเดินรถด้วยตนเอง เพื่อใช้ระบบรถไฟทางคู่อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :