การเลือกตั้ง ส.ส.กรุงเทพมหานคร (กทม.) เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2544 มีทั้งหมด 37 เขตเลือกตั้ง มี ส.ส.ได้ เขตละ 1 คน ครั้งนั้นใช้กติกาการเลือกตั้ง ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 โดยมี บัตร ส.ส.แบบแบ่งเขต และ บัตร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ
ครั้งนั้นเป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกภายใต้กติการัฐธรรมนูญ ปี 2540 ที่ถูกเรียกขานว่า รัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชน
พรรคไทยรักไทย ภายใต้การนำ ดร.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรค เป็นพรรคการเมืองน้องใหม่ กวาด ส.ส.กทม.ได้มากที่สุด 29 คน ได้คะแนนรวม 1,026,153 คะแนน (43.72%)
พรรคประชาธิปัตย์ ที่มี ชวน หลีกภัย เป็นหัวหน้าพรรค ได้ ส.ส.กทม. 8 คน เป็นการได้ ส.ส.ในเฉพาะกรุงเทพฯ ชั้นในเท่านั้น ได้ คะแนนรวม 758,879 คะแนน (32.33%)
โดยครั้งนั้น มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส.กทม. 66.73%
การเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไป กทม. เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2548 โดยครั้งนั้นมี ส.ส. ได้ 37 เขตเลือกตั้ง แต่ละเขตมี ส.ส.ได้เพียง 1 คน
พรรคไทยรักไทย ดร.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรค ได้ ส.ส.กทม. 32 คน มากที่สุด คะแนนรวม 1,541,829 คะแนน (55.35%)
พรรคประชาธิปัตย์ มี บัญญัติ บรรทัดฐาน หัวหน้าพรรค ได้ ส.ส.กทม. 4 คน ได้เพียง กทม.ชั้นในเท่านั้น มีคะแนนรวม 1,047,496 คะแนน ( 37.61%)
พรรคชาติไทย มี บรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรค ส่งผู้สมัคร 35 เขต ได้ ส.ส. 1 คน คือ จณิสตา ลิ่วเฉลิมวงศ์ ในเขตดอนเมือง ได้คะแนนรวม 133,395 คะแนน (4.79%) ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนั้น การุณ โหสกุล ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ถูกตัดสิทธิ
เลือกตั้ง ส.ส.กทม. ปี 2548 มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 72.37%
การเลือกตั้ง ส.ส.กทม. เป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2550 เป็นการเลือกตั้งภายหลังการรัฐประหารปี 2549 การเลือกตั้งครั้งนี้ใช้กติกาตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ส.ส.กทม. มีเขตเลือกตั้งทั้งหมด 12 เขต มี ส.ส.ได้เขตละ 3 คน รวม 36 คน
พรรคประชาธิปัตย์ มี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค กวาด ส.ส.ได้มากที่สุด 27 คน
พรรคพลังประชาชน มี สมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรค ได้ ส.ส.กทม. 9 คน
เลือกตั้งครั้งนี้ มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 69.46%
การเลือกตั้ง ส.ส.กทม. เป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2554 เป็นการเลือกตั้ง ส.ส.ภายใต้กติกาตามรัฐธรรมนูญปี2550 มีการแก้ไขกติการเลือกตั้ง ให้มี ส.ส.แบบแบ่งเขต 375 คน แบบบัญชีรายชื่อ 125 คน เป็นการเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียว โดยเบอร์ผู้สมัคร ส.ส.เขต และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ของพรรคการเมืองจะใช้หมายเลขเดียวกัน
การเลือกตั้ง ส.ส.กทม. ปี 2554 มี 33 เขต
พรรคประชาธิปัตย์ มีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคยังสามารถรักษาแชมป์ได้อีกสมัย ได้ ส.ส. 23 เขต คะแนนรวม 1,356,672 คะแนนน (50.06%)
พรรคเพื่อไทย มี ยงยุทธ วิชัยดิษฐ เป็นหัวหน้าพรรค ชู ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ได้ ส.ส.กทม. 10 เขต คะแนนรวม 1,246,057คะแนน (45.98%) มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 71.8%
การเลือกตั้ง ส.ส.กทม. เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบเกือบ 8 ปี ที่ประเทศไทยไม่มีการเลือกตั้ง เพราะมีการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557
กติกาการเลือกตั้ง ส.ส.กทม.ครั้งนี้ใช้บัตรเลือกตั้งเพียง 1 ใบเท่านั้น ภายใต้กติกา ส.ส.แบบจัดสรรปันส่วนผสม โดยบัตรเลือกตั้ง 1 ใบจะเลือกทั้งผู้สมัคร ส.ส.เขต และผู้สมัคร ส.ส.แบบบบัญชีรายชื่อ ครั้งนี้ มี ส.ส.ทั่วประเทศ 500 คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต 350 คน และมาจาก บัญชีรายชื่อ 150 คน
การเลือกตั้ง ส.ส.กทม.ในปีดังกล่าว มี 30 เขต มี ส.ส.ได้เขตละ 1 คน
พรรคพลังประชารัฐ มี อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค ชู พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกฯ ส่งผู้สมัคร 30 เขต ได้ ส.ส. มากที่สุด 12 คน คะแนนนรวม 791,893 คะแนน (25.53%)
พรรคอนาคตใหม่ มี ธนาธร จึงรุ่งเรือง หัวหน้าพรรคเป็นแคนดิเดตนายกฯ ส่งผู้สมัคร ส.ส. 30 เขต ได้ ส.ส. 9 คน คะแนนรวม 804,272 คะแนน (25.93%)
พรรคเพื่อไทย มี พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ หัวหน้าพรรค เสนอชื่อ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และชัยเกษม นิติสิริ เป็นแคนดิเดตนายกฯ 3 คน โดยส่งผู้สมัคร ส.ส.กทม. 22 เขต ได้ ส.ส. 9 เขต คะแนนรวม 604,699 คะแนน (19.49%)
พรรคประชาธิปัตย์ มี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรรคเป็นแคนดิเดตนายกฯ ส่งผู้สมัคร ส.ส.กทม. 30 เขต สอบตกยกจังหวัด เป็นครั้งแรกนับแต่ปี 2544 โดยมีคะแนนรวม 474,820 คะแนน (15.31%) ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 72.51%
เลือกตั้ง ส.ส.กทม. 14 พ.ค. 2566 ส.ส.กทม.มี 33 เขต เขตละ 1 คน ใช้กติการัฐธรรมนูญปี 2560 หลังมีการแก้ไขผ่านรัฐสภา จนสามารถกลับมาใช้สูตรเลือกตั้ง บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คือแบบบัญรายชื่อและแบบแบ่งเขต
ทั้งนี้ จะต้องรอลุ้นอีกครั้งว่ากระแสคนกรุงเทพฯ จะเทใจให้กับพรรคการเมืองใดอย่างท่วมท้น
ซึ่งคาดหมายว่าจะมีเพียง 4-5 พรรคเท่านั้นที่พอมีลุ้นได้ ส.ส.กทม. ประกอบด้วย
พรรคก้าวไกล ที่มี พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคเป็นแคนดิเดตนายกฯ
พรรคเพื่อไทย มี แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย เศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย เป็นแคนดิเดตนายกฯ
พรรคพลังประชารัฐ มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคเป็นแคนดิเดตนายกฯ พรรครวมไทยสร้างชาติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกฯ
และที่ท้าทายอย่างมาก คือ พรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้การนำของ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกฯ จะสามารถกลับมาฟื้นศรัทธาคนกรุงที่เคยมีให้กับ 'ประชาธิปัตย์' ได้หรือไม่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง