เวลา 13.30 น. วันที่ 5 เม.ย. 2564 ที่ห้อง 103 คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ศูนย์วิจัยดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ร่วมกับ โครงการบัณฑิตศึกษา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ และ สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันจัดงานเสวนา เรื่อง "เสรีภาพทางวิชาการ ในสภาวะเสื่อมถอย" ในโอกาสตีพิมพ์วารสาร “80 ปี นิธิ เอียวศรีวงศ์ ปัญญาชนสยามยุคเปลี่ยนผัน
ในช่วงก่อนเริ่มการเสวนา ผศ. ดร. ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้ดำเนินรายการกล่าวก่อนเริ่มงานว่า วันนี้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลนอกเครื่องแบบมาเก็บภาพใบหน้าผู้เข้าร่วมงานเสวนา นับว่าเป็นการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการตั้งแต่งานยังไม่ทันเริ่ม
โดย ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า เสรีภาพทางวิชาการนั้นสัมพันธ์กับความรู้และระบบความรู้ของแต่ละสังคม และความรู้นั้นก็สัมพันธ์อยู่กับอำนาจของคนแต่ละกลุ่มในสังคมอีกทีหนึ่ง ความรู้ไม่ได้ดำรงอยู่ได้ด้วยตัวเองโดดๆ แต่จะมีกลไกอื่นๆที่คอยช่วยดำรงความรู้นั้นเอาไว้ ดังวลีที่ว่า “ความรู้คืออำนาจ” ความรู้ไม่ใช่สิ่งที่เสรี แต่จะถูกควบคุมอยู่เสมอในทุกๆสังคม
ศ.ดร.นิธิ ให้ความเห็นว่า ในสังคมไทยนั้น ความรู้ที่คอยผดุงโครงสร้างอำนาจและผลประโยชน์กำลังพังลง เห็นได้ชัดจากการที่อะไรที่เคยเชื่อว่าเป็นความจริง ก็จะถูกตั้งคำถามและถูกให้คำตอบอย่างมีเหตุมีผล มีหลักฐานอ้างอิงที่น่าเชื่อถือมาหักล้างความรู้เดิมที่เคยปรากฏไว้ โดยสรุปแล้วสุดท้ายก็จะไม่เหลือใครที่จะสามารถควบคุมระบบความรู้ที่มีอยู่ในสังคมได้อีก เป็นตรรกะที่หลีกหนีไม่พ้น พอความรู้เดิมดำรงอยู่ไม่ได้ ทางรอดเดียวคือการต้องอาศัยอำนาจรัฐเข้าคุกคามเสรีภาพทางวิชาการอย่างที่กระทำอยู่ทุกวันนี้ เพราะไม่มีความสามารถในการสร้างความรู้ใหม่มารองรับการเปลี่ยนแปลงเอาไว้ได้
แนะเปิดให้เข้าถึงข้อมูลภาครัฐได้เสรี ติงผู้มีอำนาจใช้อำนาจกระทบเสรีภาพวิชาการ
ด้าน รศ. ฉลอง สุนทราวาณิชย์ นักวิชาการอิสระ มองว่า ประเทศไทยไม่เคยมีเสรีภาพทางวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพในการตั้งคำถาม หรือเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลอย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะในกรณีของ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ซึ่งโดยหลักควรจะเปิดโอกาสให้พลเมืองไทยเข้าถึงข้อมูลภาครัฐได้อย่างเสรี ไม่ถูกปิดกั้น แต่กลับกลายว่าเป็นเรื่องยากเย็น ต้องผ่านขั้นตอนการขออนุญาตที่ซับซ้อน เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงข้อมูลมากยิ่งขึ้น
รศ.ฉลอง เห็นว่า การใช้ดุลยพินิจตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจนั้น ไม่สร้างสรรค์และส่งผลกระทบให้เสรีภาพทางวิชาการเสื่อมถ่อยมากยิ่งขึ้น อาจพอพูดได้ว่าโลกทางวิชาการของไทยกำลังหมุนกลับไปสู่ช่วงสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่รัฐสามารถใช้ความรุนแรงกับงานค้นคว้าทางวิชาการที่มุ่งแสวงหาความจริง ไม่ว่าจะถูกหรือผิดก็ตาม ถือเป็นความรุนแรงที่รุนแรงไม่แพ้ความรุนแรงรูปแบบอื่นๆ
'วรเจตน์' ชี้สร้างหวาดกลัวผ่านกฎหมายคุกคามเสรีภาพ
ศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เสรีภาพทางวิชาการนั้นใครๆ ก็มีได้ เพียงแต่จะต้องมีกระบวนการค้นหาความรู้ที่เป็นระบบทั้งในแง่ของเนื้อหาและรูปแบบ ซึ่งรัฐมีหน้าที่ที่จะต้องคุ้มครองเสรีภาพทางวิชาการเสมอ แม้ว่าผลของการค้นคว้านั้นอาจจะมีข้อผิดพลาดก็ตาม ไม่งั้นจะไม่มีใครกล้าแสวงหาและนำเสนอความรู้ใหม่ๆ การสร้างบรรยากาศของความหวาดกลัวผ่านกลไกการใช้กฎหมายกำกับ ถือเป็นการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการในรูปแบบหนึ่ง
ศ.ดร.วรเจตน์ ยืนยันว่า เสรีภาพทางวิชาการเป็นสิ่งที่ต้องมีในสังคมระบอบประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นความรู้ที่เป็นความจริงหรือใกล้เคียงความจริงจะตั้งมั่นได้มากที่สุด พร้อมชี้ให้เห็นว่า รัฐไทยมีความอ่อนไหวมากในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง แม้จะเป็นการทำงานวิชาการ หากล้ำเส้นไปก็จะมีปัญหาตามมาได้