ไม่พบผลการค้นหา
'เจืองสวีเหญิต' นักข่าวเวียดนามที่ลี้ภัยหลังเขียนบทความเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงในรัฐบาล หายตัวไปจากไทยเมื่อปีที่แล้ว ทั้งยังถูกส่งกลับประเทศ ล่าสุด ศาลเวียดนามตัดสินลงโทษจำคุก 10 ปีข้อหาใช้อำนาจในทางมิชอบ แต่องค์กรสื่อชี้ ใช้คดีปิดปากผู้วิจารณ์รัฐ

องค์กรระหว่างประเทศด้านการปกป้องสื่อ Committee to Protect Journalists (CPJ) ออกแถลงการณ์เรียกร้องเวียดนามให้ประกันตัว 'เจืองสวีเหญิต' ผู้สื่อข่าวและบล็อกเกอร์ชาวเวียดนาม วัย 56 ปี ออกจาก 'เรือนจำ T-16' ในกรุงฮานอย หลังศาลตัดสินว่าเขามีความผิดในข้อหาใช้อำนาจในทางมิชอบ เมื่อวันที่ 9 มี.ค.ที่ผ่านมา และ CPJ ระบุด้วยว่า เจ้าหน้าที่เวียดนามต้องไม่ขัดขวางการยื่นอุทธรณ์และปล่อยตัวเจืองสวีเหญิตทันที

CPJ ระบุว่า เจืองสวีเหญิตเดินทางมายังไทยช่วงต้นปี 2562 เพื่อยื่นเรื่องขอสถานะผู้ลี้ภัยกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ในประเทศไทย จนะกระทั่งวันที่ 26 ม.ค.2562 เจืองสวีเหญิตหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยขณะอยู่ที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ และลูกสาวของเขาเชื่อว่าเป็นการถูกบังคับให้หายตัว ไม่ได้เกิดจากความสมัครใจ และคนในครอบครัวไม่สามารถติดต่อเขาได้เลย ขณะที่ที่ UNHCR ระบุว่า ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลของผู้ที่ยื่นเรื่องขอลี้ภัยได้ จึงงดให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว


หลังจากนั้นในเดือน มี.ค.2562 สำนักข่าว VOA สื่อของสหรัฐอเมริกา รายงานอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์เพื่อนคนหนึ่งของเจืองสวีเหญิต ระบุว่า เขาได้รับแจ้งว่าเจ้าหน้าที่เวียดนามนำตัวเจืองสวีเหญิตไปคุมขังที่เรือนจำ T-16 โดยมีการตั้งข้อหา 'ใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบ' เมื่อไปเยี่ยมจึงได้เห็นข้อมูลในสมุดบันทึกผู้เข้าเยี่ยมเรือนจำ ระบุว่า เจืองสวีเหญิตถูกนำตัวเข้าฝากขังตั้งแต่วันที่ 28 ม.ค.2562 หรือเพียง 2 วันหลังจากที่เขาหายตัวในไทย


ส่วนเว็บไซต์ Vietnam Net รายงานว่า ข้อกล่าวหาเรื่องการใช้อำนาจในทางมิชอบของเจืองสวีเหญิต เกิดขึ้นในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งหัวหน้าผู้แทนฝ่ายสื่อประจำเมืองดานังของหนังสือพิมพ์ด๋ายดวนเก๊ต สื่อในการควบคุมดูแลของรัฐบาลเวียดนาม ซึ่งพนักงานสอบสวนระบุว่า เขาลงนามดำเนินการจัดซื้อจัดหาอสังหาริมทรัพย์ในนามหนังสือพิมพ์ ซึ่งเป็นการซื้อในราคาต่ำกว่าท้องตลาด โดยไม่ได้แจ้งต่อคณะกรรมการบริหารหนังสือพิมพ์คนอื่นๆ ทำให้ภาครัฐเสียหาย เพราะเขานำอสังหาริมทรัพย์ไปขายต่อให้แก่นักธุรกิจเอกชน จนเกิดความเสียหายต่อรัฐ

AFP-สื่อมวลชน-สัมภาษณ์-กล้อง-บันทึกเทปโทรทัศน์.jpg

นอกจากนี้ อดีตบรรณาธิการและรองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ด๋ายดวนเก๊ต ถูกตั้งข้อหา 'ปล่อยปละละเลย ทำให้รัฐได้รับความเสียหายร้ายแรง' เพราะไม่ยับยั้งการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ในนามหนังสือพิมพ์ที่รัฐบาลกล่าวหาว่าเจืองสวีเหญิตเป็นผู้กระทำ แต่ทั้งคู่ได้รับการปล่อยตัวในภายหลัง โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่า 'คดีหมดอายุความ' ขณะที่คดีของเจืองสวีเหญิตยังดำเนินต่อมา จนกระทั่งศาลตัดสินลงโทษจำคุก 10 ปีไปเมื่อวันที่ 9 มี.ค.2563


ทางด้านสำนักข่าว CNA รายงานว่า เจืองสวีเหญิตลาออกจากด๋ายดวนเก๊ตเมื่อปี 2554 และไปทำงานให้กับ Radio Free Asia (RFA) ซึ่งเป็นสื่อระหว่างประเทศที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เปิดช่องให้เขาสามารถเขียนบทความและรายงานข่าววิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเวียดนามได้มากขึ้น รวมถึงเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงนโยบายบางด้านของรัฐ ทำให้เขาถูกตัดสินลงโทษจำคุกเมื่อปี 2557 ในข้อหา 'ใช้เสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยมากเกินขอบเขต' โดยถูกขังในเรือนจำนาน 2 ปีจึงได้รับการปล่อยตัว


CNA อ้างอิงรายงานขององค์กรระหว่างประเทศ 'ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน' (RSF) ซึ่งประเมินสถานการณ์ด้านสื่อมวลชนทั่วโลก ระบุว่า สื่อมวลชนทุกประเภทที่ดำเนินการในเวียดนาม เป็นของหน่วยงานรัฐบาล หรืออยู่ในการควบคุมของรัฐบาล จึงไม่มีการรายงานเชิงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลมากนัก ทำให้ชาวเวียดนามที่เป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคมหรือนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนหันไปรณรงค์หรือเผยแพร่ข้อมูลทางสื่อออนไลน์ และบล็อกเกอร์จำนวนมากในเวียดนามได้รับความนิยมในหมู่ประชาชนนอกเหนือจากการรับฟังสื่อของรัฐบาลเพียงอย่างเดียว


องค์กรด้านสื่อระหว่างประเทศ ทั้ง CPJ และ RSF ระบุว่า การจับกุมและดำเนินคดี รวมถึงการบังคับลักพาตัวเจืองสวีเหญิต เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลเวียดนามยุติการใช้ข้อหาทางกฎหมายเอาผิดเพื่อปิดปากประชาชนที่เห็นต่างจากรัฐบาล เพราะเจืองสวีเหญิตไม่ใช่รายแรกที่เจอเหตุการณ์ทำนองนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: